ความจนมันน่ากลัว อดีตผู้แปรพักตร์หนีมาเกาหลีใต้ ข้ามพรมแดนกลับเกาหลีเหนือ

ความจนมันน่ากลัว อดีตผู้แปรพักตร์หนีมาเกาหลีใต้ ข้ามพรมแดนกลับเกาหลีเหนือ

ความจนมันน่ากลัว อดีตผู้แปรพักตร์หนีมาเกาหลีใต้ ข้ามพรมแดนกลับเกาหลีเหนือ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เกิดการถกเถียงกันในสังคมเกาหลีใต้ในขณะนี้ ว่าผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือได้รับการปฏิบัติดีแค่ไหน และได้รับการสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ในการเริ่มต้นชีวิตใหม่

เมื่อวันปีใหม่ที่ผ่านมา กองทัพเกาหลีใต้พบว่า มีชายคนหนึ่งที่ข้ามพรมแดนที่มีป้อมปราการหนาแน่นไปยังเกาหลีเหนือ ซึ่งขณะนี้ทางการเชื่อว่า เขาคือผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือที่เคยหลบหนีมาใช้ชีวิตอยู่ในเกาหลีใต้ด้วยเส้นทางเดียวกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2020

การหนีกลับเกาหลีเหนือผ่านเขตปลอดทหาร หรือ DMZ ที่แบ่งแยกทั้งสองประเทศออกจากกัน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และยังไม่มีการยืนยันว่าเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เนื่องจากหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลเกาหลีเหนือควบคุมเขตชายแดนอย่างเข้มงวด และใช้นโยบายยิงผู้ข้ามแดนผิดกฎหมายที่อ้างว่า เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส

เจ้าหน้าที่และสื่อของเกาหลีใต้รายงานว่า อดีตผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือที่หนีกลับประเทศเมื่อวันปีใหม่ที่ผ่านมา มีชีวิตที่ยากลำบากในเกาหลีใต้ ทำให้เกิดการถกเถียงกันในสังคมเกาหลีใต้ในขณะนี้ ว่าผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือได้รับการปฏิบัติดีแค่ไหน และได้รับการสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ หลังจากที่ต้องเสี่ยงชีวิตหนีตายจากเกาหลีเหนือมาสู่ดินแดนทางใต้ที่มั่งคั่งกว่าและเป็นประชาธิปไตย

ชีวิตยากจน ไร้ปฏิสัมพันธ์

อดีตผู้แปรพักตร์จากเกาหลีเหนือคนนี้ ทางการเชื่อว่าเขาอายุ 30 ปี เมื่อปี 2020 หลังจากหนีข้ามมายังเกาหลีใต้และถูกควบคุมตัว เขาบอกเจ้าหน้าที่ว่าเขาเป็นนักกายกรรมจากเกาหลีเหนือ เขาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเกาหลีใต้ด้วยอาชีพพนักงานทำความสะอาด เจ้าหน้าที่ทหารรายหนึ่งของเกาหลีใต้รายงานว่า เขามีชีวิตที่ยากจน

สำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้รายงานว่า ตำรวจในเขตโนวอนทางตอนเหนือของกรุงโซล ซึ่งให้การคุ้มครองด้านความปลอดภัยและการดูแลอื่นๆ แก่ชายผู้นี้ ได้แจ้งข้อกังวลในเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เขาจะหนีกลับเกาหลีใต้ แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ เนื่องจากเจ้าหน้าที่อ้างว่าขาดหลักฐานที่เป็นรูปธรรม

หลังจากที่สื่อเกาหลีใต้ตั้งคำถามว่า ชายผู้นี้หนีกลับเกาหลีเหนือเพราะความยากลำบากทางเศรษฐกิจหรือไม่ ตำรวจปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่กระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้ที่ดูแลกิจการข้ามพรมแดนกล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า อดีตผู้แปรพักตร์รายนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในเรื่องความปลอดภัยส่วนบุคคล ที่พักอาศัย การรักษาพยาบาล และการจ้างงาน

สื่อเกาหลีใต้รายงานว่า ชายคนนี้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านเพียงเล็กน้อย และมีเพื่อนบ้านเห็นเขาทิ้งข้าวของก่อนจะข้ามชายแดนหนึ่งวัน

“เขาเอาที่นอนและผ้าปูที่นอนไปทิ้งขยะในเช้าวันนั้น เป็นการกระทำที่แปลกเพราะมันใหม่เกินไปที่จะทิ้ง” สำนักข่าวยอนฮับอ้างคำพูดของเพื่อนบ้าน “ฉันเคยคิดว่าจะขอให้เขาเอามาให้พวกเราแทน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ เพราะพวกเราไม่เคยคุยกันเลย”

เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้กล่าวว่า พวกเขาเห็นความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยที่ชายผู้นี้เป็นสายลับของเกาหลีเหนือ และขณะนี้ได้เริ่มการสอบสวนว่า เขาหลบเลี่ยงผู้คุมได้อย่างไรแม้จะถูกจับด้วยกล้องวงจรปิดหลายชั่วโมงก่อนจะข้ามพรมแดน

ผู้แปรพักตร์หนีกลับเกาหลีเหนือ เกิดขึ้นน้อยครั้ง

ข้อมูลจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ณ ปี 2020 มีผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือ 33,752 คน อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ โดยมีอดีตผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนืออย่างน้อย 30 คน เดินทางกลับประเทศของตนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ผู้แปรพักตร์และนักเคลื่อนไหวกล่าวว่า อาจมีอีกหลายกรณีที่ทางการไม่ทราบ โดยเฉพาะผู้ที่เผชิญกับความยากลำบากในการปรับตัวเข้ากับชีวิตในเกาหลีใต้

“การหนีกลับประเทศเกาหลีเหนือเกิดจากเหตุผลที่หลากหลายและซับซ้อน ทั้งการโหยหาครอบครัว ความยากลำบากทางด้านจิตใจและเศรษฐกิจ” เจ้าหน้าที่กล่าว “รัฐบาลได้พยายามอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงโครงการสนับสนุนของเรา เพื่อช่วยให้พวกเขาตั้งรกรากในเกาหลีใต้ได้ดีขึ้น”

ผู้แปรพักตร์ราว 56% ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ เกือบ 25% อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำที่สุดที่จะต้องได้รับเงินอุดหนุนในการดำรงชีพขั้นพื้นฐานของประเทศจากรัฐบาล ซึ่งมากกว่าอัตราส่วนของประชากรทั่วไปในเกาหลีใต้ถึง 6 เท่า

ในการสำรวจที่เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคมปี 2021 โดยศูนย์ฐานข้อมูลเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งเกาหลีเหนือ ในกรุงโซล พบว่า ประมาณ 18% ของผู้แปรพักตร์จำนวน 407 คนที่ทำแบบสำรวจ กล่าวว่า พวกเขาเต็มใจที่จะกลับไปเกาหลีเหนือ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าคิดถึงบ้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook