โควิดระลอก 5 มาแล้ว! ไทยเตรียมรับมือแค่ไหน จำนวนตรวจ-เตียง-ยา พร้อมมั้ย

โควิดระลอก 5 มาแล้ว! ไทยเตรียมรับมือแค่ไหน จำนวนตรวจ-เตียง-ยา พร้อมมั้ย

โควิดระลอก 5 มาแล้ว! ไทยเตรียมรับมือแค่ไหน จำนวนตรวจ-เตียง-ยา พร้อมมั้ย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาสำรวจกันดูว่าภาครัฐเตรียมความพร้อมรองรับการถูกโควิดจู่โจมเป็นระลอกที่ 5 ไว้ขนาดไหนบ้างแล้ว

เมื่อวานนี้ (6 ม.ค.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประกาศยกระดับการแจ้งเตือนภัยโควิดเป็นระดับ 4 เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามคาดการณ์ แนะนำปิดสถานที่เสี่ยงแพร่เชื้อหรือเพิ่มมาตรการให้ปลอดภัย ชะลอการเดินทาง จำกัดการรวมกลุ่ม และทำตามมาตรการ VUCA โดยฉีดวัคซีน ป้องกันตนเองสูงสุด สถานบริการใช้มาตรการ COVID Free Setting และตรวจ ATK เป็นประจำ จะช่วยชะลอการระบาดได้

ซึ่งก่อนหน้านั้นในวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวกับสื่อมวลชนถึงมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโควิดระลอกล่าสุดว่า จากการคาดการณ์ของ ดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) พบว่า สถานการณ์ COVID-19 ขณะนี้ก้าวเข้าสู่ระลอกที่ 5 โดยมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และกราฟการติดเชื้อกำลังตั้งชัน

ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ ระบุว่า อาการของโอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่แพร่ได้เร็วกว่า จากการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในไทย 100 คน พบครึ่งหนึ่งมีอาการอีกครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ นอกจากนี้อาการของผู้ติดเชื้อโอมิครอนยังแยกได้ยากกับโรคหวัด

เพราะในจำนวน 100 คนมี 7 คน เชื้อลงปอด แต่ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และพบว่ามีอาการไอ 54% เจ็บคอ 37% มีไข้ 29% ปวดกล้ามเนื้อ 15% มีน้ำมูก 12% ปวดศีรษะ 10% หายใจลำบาก 5% ได้กลิ่นลดลง 2%

“หากมีอาการคล้ายไข้หวัด ไอ เจ็บคอ ให้กันตัวเองออกจากที่ชุมชน อย่าเพิ่งไปร่วมกิจกรรม และให้ตรวจ ATK ซึ่งหลังจากนี้การตรวจวัดไข้ก่อนเข้าสถานที่ต่างๆ นั้นจะไม่ได้ผลแล้ว” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในช่วงหนึ่ง พร้อมกับขอให้สื่อช่วยสื่อสารเพิ่มเติมว่า ทั้งในหน่วยงาน องค์กร ห้างสรรพสินค้า อาจต้องมีป้ายหรือระบบในการย้ำประชาชนที่เข้ามาใช้บริการว่าหากมีอาการคล้ายไข้หวัดให้สงสัย และรีบตรวจด้วย ATK อย่าเพิ่งเข้าแหล่งชุมชน หรือพื้นที่สาธารณะ

หากผลตรวจ ATK ออกมาเป็นบวก ให้โทรไปที่สายด่วน สปสช. 1330 ภายใน 6 ชั่วโมงจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อประเมินอาการเบื้องต้น ซึ่งแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อ คือ ถ้าอาการไม่หนักจะเน้นไปที่ระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือ ระบบรักษาตัวในชุมชน (Community Isolation) เป็นการรักษาด่านแรก หากอาการหนักให้โทร 1669 เพื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาล

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศยกระดับการแจ้งเตือนภัยโควิดเป็นระดับ 4 รวมถึงการยอมรับว่าสถานการณ์การติดเชื้อก้าวเข้าสู่ระลอกที่ 5 แล้วนั้น นั่นหมายความว่าหลังจากนี้ไทยจะมีโอกาสพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

ลองย้อนไปฉากทัศน์เพื่อรับมือสถานการณ์โอมิครอน ซึ่งอาจเกิดได้ 3 รูปแบบ ดังนี้

  1. Least favourable ฉากทัศน์ที่ไม่อยากให้เกิด คือ การแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น ฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา ขณะที่การปฏิบัติตามมาตรการ UP และ VUCA ได้น้อยหรือไม่ปฏิบัติ การติดเชื้อจะสูงถึง 3 หมื่นรายต่อวัน เสียชีวิต 170-180 รายต่อวัน ใช้เวลาควบคุม 3-4 เดือน
  2. Possible การแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น ฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา แต่มีการปฏิบัติตามมาตรการ UP และ VUCA ดี ผู้ติดเชื้ออาจอยู่ที่ 1.5-1.6 หมื่นรายต่อวัน จากนั้นค่อยทรงตัวและลดลง และ
  3. Most favourable ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด คือ ควบคุมการระบาดในประเทศได้ดี เร่งฉีดวัคซีนได้มากกว่าปกติ ร่วมกับมีการปฏิบัติตามมาตรการ UP และ VUCA เต็มที่ และลดกิจกรรมรวมกลุ่ม อาจจะมีผู้ติดเชื้อ 1 หมื่นรายต่อวัน เสียชีวิต 60-70 รายต่อวัน และควบคุมโรคได้ภายใน 1-2 เดือน

เพราะฉะนั้น เราลองไปสำรวจกันดูว่า ณ ปัจจุบันความพร้อมในการรองรับกับสถานการณ์ที่อย่างน้อยที่สุดอาจจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 1 หมื่นราย หรืออาจจะพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 3 หมื่นรายต่อวัน เป็นอย่างไรกันแล้วบ้าง

ความพร้อมของเตียง

ปัจจุบันมีการแบ่งระดับเตียงตามความรุนแรงของโรคขึ้นมาใหม่ เพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสม

เตียงระดับ 0 : Home Isolation & Community Isolation

เตียงระดับ 1 : ไม่ใช้ oxygen

เตียงระดับ 2

  • เตียงระดับ 2.1 : ใช้ oxygen low flow
  • เตียงระดับ 2.2 : ใช้ oxygen high flow

เตียงระดับ 3 : ใส่ท่อ และ เครื่องช่วยหายใจได้

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2564 จากการสำรวจเขตสุขภาพที่ 1-13 มีเตียงทั้งหมด 178,139 เตียง และเคยขยายถึง 200,000 เตียง มีอัตราการใช้เตียงไปแล้ว 13.7% หรือ 24,372 เตียง ยังเหลืออีก 153,767 เตียง

โดยจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ เตียงสีแดง อาการหนัก ระดับ 3 ซึ่งมีเตียงรองรับ 4,955 เตียง มีการใช้เตียงแล้ว 31% หรือ 1,568 เตียง เหลือเตียงว่าง 3,387 เตียง ส่วนสีเหลืองระดับ 2 มีเตียงทั้งหมด 60,928 เตียง มีการใช้เตียงแล้ว 25.6% หรือ 15,574 เตียง เหลือเตียงว่าง 45,354 เตียง ส่วนสีเขียว ระดับ 1 มีเตียงรองรับ 112,256 เตียง มีการใช้เตียงแล้ว 6.4% หรือ 7,230 เตียง เหลือเตียงว่าง 105,026 เตียง

ทั้งนี้ การรองรับเตียงในระดับสีเขียว สามารถเพิ่มได้ในระยะเวลาสั้นๆ และถ้าไม่มีอาการมากจะเน้นให้ผู้ติดเชื้อโอมิครอนอยู่ที่บ้าน สำคัญคือ ต้องป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ และเจ้าหน้าที่จะรีบให้ยาเพื่อไม่ให้เกิดอาการรุนแรง

เตียงรองรับโอมิครอนปอดอักเสบ 11,000 คนต่อวัน

อย่างไรก็ตาม หากจำแนกเป็นการเตรียมพร้อมเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโอมิครอนทั่วประเทศ จะเป็นดังนี้

- ประมาณการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อที่มีความรุนแรง หรืออาการปอดอักเสบ 11,000 เตียง แบ่งเป็น

  • เตียงระดับ 2.2 จำนวน 6,000 เตียง
  • เตียงระดับ 3 จำนวน 5,000 เตียง

ผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่มีอาการรุนแรง นอนโรงพยาบาล 14 วัน ดังนั้น เตียงรองรับผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่มีอาการรุนแรงได้ 785 คนต่อวัน ซึ่งจากการคาดการณ์ตามหลักสถิติ ผู้ติดเชื้อโอมิครอนพบอาการรุนแรง 1.5% เท่ากับว่า จะมีเตียงรองรับการระบาดของผู้ติดเชื้อโอมิครอน เป็นจำนวน 52,300 คนต่อวัน

ส่วนความพร้อมเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโอมิครอน กทม.-ปริมณฑล ดังนี้

- ประมาณการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อที่มีความรุนแรง 1,760 เตียง แบ่งเป็น

  • เตียงระดับ 2.2 จำนวน 1,264 เตียง
  • เตียงระดับ 3 จำนวน 496 เตียง

ผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่มีอาการรุนแรง นอนโรงพยาบาล 14 วัน ดังนั้น เตียงรองรับผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่มีอาการรุนแรงได้ 125 คนต่อวัน ซึ่งจากการคาดการณ์ตามหลักสถิติ ผู้ติดเชื้อโอมิครอนพบอาการรุนแรง 1.5% เท่ากับว่า จะมีเตียงรองรับการระบาดของผู้ติดเชื้อโอมิครอน เป็นจำนวน 8,300 คนต่อวัน

กทม. เตรียมพร้อม CI 40 แห่ง รองรับผู้ป่วยโควิด-19

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้มีการเตรียมความพร้อมของบุคลากร สำรองเตียงพยาบาล ยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ หากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมความพร้อมสถานที่รองรับผู้ป่วย ซึ่งในส่วนศักยภาพเตียงโรงพยาบาล มีจำนวนทั้งหมด 25,345 เตียง แบ่งออกเป็น โรงพยาบาลหลัก 2,922 เตียง โรงพยาบาลสนาม 2,898 เตียง และ Hospitel 19,525 เตียง

รวมทั้งเตรียมพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) จำนวน 40 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 5,066 เตียง ปัจจุบันเปิดให้บริการ 3 แห่ง จำนวน 772 เตียง มีผู้ครองเตียงจำนวน 50 ราย คงเหลือ 5,016 เตียง ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 37 แห่ง อยู่ในสถานะ Standby Mode ซึ่งพร้อมเปิดให้บริการภายใน 24 ชั่วโมง จำนวน 25 แห่ง 3,062 เตียง พร้อมเปิดบริการภายใน 3 วัน จำนวน 12 แห่ง 1,232 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ม.ค. 65)

ปริมาณสำรองยา

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มียาฟาวิพิราเวียร์ในระบบสำรองยา 15 ล้านเม็ด และประมาณการว่าจะเพียงพอสำหรับ 2 เดือน ซึ่งกรณีการระบาดภายใน 30 วันต้องใช้ยาเพิ่ม ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีการสำรองวัตถุดิบพร้อมผลิตยาได้ 60 ล้านเม็ด หรือ 30 ล้านเม็ดต่อเดือน ส่วนยาเรมเดซิเวียร์ คงเหลือ 44,064 vial

ศักยภาพการตรวจหาเชื้อ

ตรวจแบบ RT-PCR

แหล่งข่าวจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ข้อมูลว่า โอกาสที่ไทยจะพบเจอกับสถานการณ์ที่มีการรายงานว่าผู้ติดเชื้อโควิดวันละเป็นหลักล้านหรือหลายแสนต่อวันนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากปริมาณการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ในบ้านเราไม่สามารถรองรับการตรวจในปริมาณมากๆ ขนาดนั้นได้

ปัจจุบัน ห้องปฏิบัติการ เครือข่ายตรวจหาเชื้อ SARS-CoV2 มีทั้งสิ้น 482 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นกรุงเทพและปริมณฑล 176 แห่ง (ภาครัฐ 60 แห่ง และเอกชน 116 แห่ง) ต่างจังหวัด 306 แห่ง (ภาครัฐ 216 แห่ง และเอกชน 90 แห่ง)

ซึ่งในระบบของภาครัฐ 276 แห่งนั้น แหล่งข่าวประเมินว่า มีอัตราการตรวจหาเชื้อเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ประมาณ 58,000-60,000 รายต่อวัน ในขณะที่ข้อมูลจากฝั่งเอกชนอีก 206 แห่งนั้น แหล่งข่าวในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เนื่องจากการส่งข้อมูลเข้ามาที่กรมเป็นภาคสมัครใจ ซึ่งส่วนใหญ่เอกชนก็ไม่ได้รายงานจำนวนการตรวจรายวันเข้ามาในระบบอยู่แล้ว แต่หากประเมินจากความเป็นไปได้ก็น่าจะอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับภาครัฐ หรืออาจจะสูงกว่าในระดับ 15-20%

เพราะฉะนั้น จำนวนการตรวจหาเชื้อโควิดในห้องปฏิบัติการ หรือ RT-PCR ในบ้านเรานั้น น่าจะมีศักยภาพสูงสุดอยู่ที่ประมาณวันละไม่เกิน 200,000 ราย

ตรวจแบบ ATK

ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนชุดตรวจแบบประชาชนใช้ทั่วไป หรือ Home Use แล้ว 196 รายการ และแบบที่ใช้โดยบุคลากรการแพทย์เท่านั้น หรือ Professional Use อีก 150 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์ชุดตรวจจากต่างประเทศ อาทิ จีน สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ เป็นต้น

จากการสอบถามกับผู้บริหารบริษัทนำเข้า ATK รายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ในระยะสั้นยังไม่พบว่าจะเกิดการขาดแคลนชุดตรวจ ATK แต่หลังจากนี้เข้าใจว่าน่าจะมีปริมาณความต้องการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น จึงมีการติดต่อพูดคุยกับฝั่งผู้ผลิตในต่างประเทศอยู่เป็นระยะๆ ถึงแนวโน้มและสถานการณ์เพื่อวางแผนการทำตลาดในอนาคต

ขณะที่แหล่งข่าวใน อย. ก็กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ยังไม่พบสัญญาณการขาดแคลนชุดตรวจ ATK ในเมืองไทย แต่ยอมรับว่าหลังจากนี้ประชาชนจะมีความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งภาครัฐคงมีการวางแผนรับมือในเรื่องนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว

ทั้งหมดคือการไล่เรียงให้เห็นภาพการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิดในระลอก 5 ที่กำลังตั้งเค้าก่อตัวที่จะเข้าโจมตีประเทศไทย ก็ได้แต่หวังว่าเราจะไม่พบกับวิกฤตอันหนักหน่วงจนระบบสาธารณสุขเสี่ยงที่จะล่มไปแบบเมื่อช่วงกลางปีก่อน และภาวนาว่าในไม่ช้าไม่นานคงจะถึงจุดจบของเจ้าไวรัสตัวร้ายนี้ซะที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook