ขบวนการลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าว ซุกสถานีรถไฟร้าง เผยส่งเข้า กทม.ไปเยอะแล้ว
วันที่ 8 ม.ค.65 เวลา 09.30 น. นายเชี่ยวชาญ เทพประดิษฐ์ ปลัดอาวุโส รักษาราชการแทนนายอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา พร้อมกำนันผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสืบสวนภูธร จ.ฉะเชิงเทรา จนท.ตม. ได้นำกำลังเข้าตรวจสอบที่บริเวณอาคารร้าง ซึ่งเป็นบ้านพักพนักงานภายในสถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น พื้นที่ ม.7 ต.บางเตย อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา หลังรับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า
ได้มีขบวนการขนแรงงานเถื่อน แอบลักลอบนำแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองมาซุกซ่อนไว้เป็นจำนวนมาก หลังชาวบ้านผ่านมาพบเห็น ขณะกำลังเดินทางไปตลาดนัดเมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา
โดยนายเชี่ยวชาญ กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีชาวบ้านในพื้นที่ผ่านเข้ามาพบเห็นความผิดปกติ ที่มีคนจำนวนมากเข้ามาพักอาศัยอยู่ภายในบริเวณสถานีรถไฟร้างแห่งนี้ ทั้งที่ปกติจะเป็นสถานีร้างและไม่มีเจ้าหน้าที่หรือคนงานเข้ามาพักอยู่อาศัย จึงได้เข้ามาดูและพบเห็นว่าเป็นคนต่างด้าว จึงได้แจ้งให้แก่ทางผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ทราบ จากนั้นทางผู้ใหญ่บ้านได้นำกำลังฝ่ายปกครองเข้ามาทำการควบคุมพื้นที่เอาไว้
และแจ้งให้ทางกำนัน รวมถึงทางอำเภอเมืองฉะเชิงเทราทราบ ก่อนที่จะประสานไปยังทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยสามารถควบคุมแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาเอาไว้ได้จำนวน 20 คน เป็นชาย 15 คนหญิง 5 คน และคนขับรถแท็กซี่ ซึ่งเป็นคนไทย 1 คน ที่กำลังเดินทางเข้ามารับช่วงส่งต่อกลุ่มแรงงานเถื่อนเหล่านี้ เพื่อนำไปส่งยังในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อไป
จากการสอบถาม ทราบว่าเมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา ได้มีรถแท็กซี่ทยอยเข้ามารับ ขนแรงงานต่างด้าวเข้ากรุงเทพฯ ไปก่อนหน้าแล้วเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นจึงเชื่อว่า น่าจะมีการทำกันอย่างเป็นขบวนการ จึงสามารถขนแรงงานต่างด้าวเข้ามาได้มากถึงกว่า 100 คน
หลังทำการควบคุมตัวไว้ได้ จึงได้ให้ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุข อสม. เข้ามาทำการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยชุดตรวจ ATK ทั้งหมดทุกคนแล้ว ซึ่งผลการตรวจออกมาในเบื้องต้นนั้นยังไม่พบเชื้อ โดยหลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน ภ.จว.ฉะเชิงเทรา จะได้นำตัวแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองทั้งหมดไปดำเนินคดีและส่งไปยัง ตม. ตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป นายเชี่ยวชาญ กล่าว
ขณะที่ หนึ่งในแรงงาน อายุ 42 ปี ชาว อ.กะแรง จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า เมื่อหลายปีก่อนตนเคยเข้ามาทำงานก่อสร้างอยู่ในกรุงเทพฯ มาก่อนแล้ว และได้เดินทางกลับบ้านไปเมื่อช่วงโควิด 19 ระบาดครั้งแรกเมื่อปี 2563 หลังจากพาสปอร์ตหมดอายุ ส่วนการเดินทางมาในครั้งนี้ ที่ต้องมาอย่างผิดกฎหมายนั้น เนื่องจากไม่สามารถติดต่อกับคนเดินเรื่องในการทำพาสปอร์ตใหม่ให้ได้
เพื่อจะเข้ามาทำเอกสารให้ถูกต้องยังภายในประเทศไทย ที่กำลังเปิดให้นายจ้างดำเนินการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง โดยได้ยอมจ่ายเงินให้แก่ทางขบวนการผู้นำพาที่ฝั่งด้านประเทศกัมพูชาไปแล้วคนละ 6,500 บาท โดยคาดหวังว่าจะได้กลับไปทำงานกับทางนายจ้างที่เดิม จึงได้ตัดสินใจเดินทางเข้ามาในลักษณะนี้ ซึ่งหากสามารถทำเอกสารเดินทางอย่างถูกต้องได้พวกตนก็คงจะไม่เสี่ยงเดินทางมาอย่างผิดกฎหมายของไทยแบบนี้ นายจิม กล่าว
ขณะที่ นายชัย (นามสมมติ) อายุ 40 ปี ชาว จ.สกลนคร คนขับรถแท็กซี่ กล่าวว่า ตนเป็นเพียงคนขับรถแท็กซี่รับจ้างทั่วไป หลังได้รับการติดต่อว่าจ้างให้มารับคนผ่านทางโทรศัพท์ จึงได้เดินทางมาตามที่เขาบอกเส้นทางจากในกรุงเทพฯ เพื่อเข้ามารับคนตามเส้นทางที่เขาบอกมา โดยที่ตนไม่ทราบมาก่อนว่าจะมารับคนงานต่างด้าวยังที่นี่ นายชัยพัฒน์ กล่าว
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ