“เด็กถูกทำร้าย” ปัญหาที่ใหญ่กว่า “เรื่องในครอบครัว”

“เด็กถูกทำร้าย” ปัญหาที่ใหญ่กว่า “เรื่องในครอบครัว”

“เด็กถูกทำร้าย” ปัญหาที่ใหญ่กว่า “เรื่องในครอบครัว”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ทัศนคติ “ลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่” และการขาดความเข้าใจเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก ส่งผลต่อการละเมิดสิทธิในร่างกายของเด็ก ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย 
  • ครอบครัวไทยยังไม่ได้มีการเตรียมการหรือปูพื้นฐานให้กับเด็กในกรณีที่มีครอบครัวใหม่ ทำให้เด็กที่อาจไม่มีความเข้าใจเรื่องนี้เกิดพฤติกรรมต่อต้าน ซึ่งนำไปสู่การถูกทำร้ายจากคนในครอบครัว 
  • คนไทยเพิกเฉยต่อความรุนแรงในครอบครัวของคนอื่น เนื่องจากทัศนคติ “เป็นเรื่องในครอบครัว” ซึ่งนี่คือเมล็ดพันธุ์ความรุนแรงที่ทุกคนในสังคมมีส่วนเพาะให้เมล็ดพันธุ์นี้เติบโต 
  • กลไกป้องกันและดูแลเด็กที่ถูกทำร้ายยังไม่สามารถป้องกันและรับมือกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการไม่ลงทุนต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กยังไม่หายไปจากสังคม 
  • การให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กจะช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กได้

“เด็ก” คือกลุ่มเปราะบางและเสียงเบาที่สุดในสังคม ทั้งยังถูกละเมิดสิทธิมากที่สุดอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากข่าวเด็กถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่ปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่อง และผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็กส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็น “ผู้ปกครอง” หรือคนในครอบครัวที่เด็กรักและไว้วางใจ นอกจากนี้ คนในสังคมที่พร่ำบอกว่าสงสารเด็กและมักจะเรียกร้องให้มีการลงโทษผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็ก ก็กลับกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยรดน้ำพรวนดินให้ “เมล็ดพันธุ์ความรุนแรงต่อเด็ก” งอกเงยขึ้นในสังคมของเรา แต่ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น Sanook ร่วมกระเทาะเปลือกปัญหาความรุนแรงต่อเด็กที่อยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และหาทางแก้ไขเพื่อสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับเด็กทุกคนอย่างแท้จริง 

สังคมไทยที่ขาดความเข้าใจเรื่อง “สิทธิเด็ก” 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทัศนคติ “ลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่” ยังมีอยู่อย่างเข้มข้นในวิธีการเลี้ยงดูเด็กของสังคมไทย ซึ่งทัศนคติดังกล่าวทำให้ครอบครัวไทยจำนวนมากเลือกใช้ความรุนแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเพื่อควบคุมเด็กในบ้าน อีกทั้งความมีอำนาจเหนือกว่าของผู้ปกครองก็ทำให้พวกเขาไม่เข้าใจแนวคิดเรื่อง “สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก” จึงกลายเป็นปัญหาความรุนแรงเรื้อรังที่ซ่อนตัวอยู่หลังประตูบ้านของคนไทย 

“เราต้องยอมรับว่า สังคมไทยยังอ่อนหรือขาดความเข้าใจในประเด็นเรื่องการเคารพสิทธิเด็ก หรือสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก” ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เริ่มต้นสะท้อนปัญหา 

“ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของที่มองว่าเด็กเป็นสมบัตินี่แหละ ที่ทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่ใช้มาตรการว่า ถ้าจะให้เด็กหลาบจำก็ต้องตี หรือถ้าเด็กทำผิดจะดุด่าอย่างเดียวไม่ได้ เด็กต้องหลาบจำและกลัว ทำให้การทำร้ายร่างกายเด็กรูปแบบต่าง ๆ เกิดขึ้นในสังคมไทยอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล อธิบาย 

นอกเหนือจากความเชื่อที่ว่าลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่แล้ว ณัฐวุฒิชี้ว่า การที่พ่อแม่ผู้ปกครองขาดทักษะในการจัดการปัญหากับเด็กก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรง โดยเด็กแต่ละคนล้วนแล้วแต่มีปัญหาของตัวเอง เมื่อพ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่รู้วิธีรับมือกับปัญหาเหล่านั้น ก็ทำให้มีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อจัดการกับเด็กมากขึ้น สอดคล้องกับอังคณาที่ระบุว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีเรื่องของภาวะเศรษฐกิจปากท้องเข้ามาบีบคั้นพ่อแม่ผู้ปกครองมากขึ้น ก็ส่งผลให้ความรุนแรงกลายเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ผู้ปกครองใช้จัดการกับเด็กในบ้าน

เรื่อง “พ่อเลี้ยง-แม่เลี้ยง” ที่อาจจะเป็นปัญหา

ไม่ใช่ทุกกรณีของการใช้ความรุนแรงต่อเด็กจะเป็นฝีมือของ “พ่อเลี้ยง-แม่เลี้ยง” แต่จากสถิติของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลที่เก็บข้อมูลจากข่าวหนังสือพิมพ์เป็นประจำทุกปี พบว่าหนังสือพิมพ์ 9 หัวในช่วงปี 2561 มีกรณีที่พ่อเลี้ยงกระทำความรุนแรงต่อลูกเลี้ยงมากถึง 12 ข่าวต่อปี และสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่พ่อกระทำต่อลูก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแท้ ๆ หรือพ่อเลี้ยง ล้วนแล้วแต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 

“ลักษณะของครอบครัวไทยมีความหลากหลายมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา ในอดีตเรามีลักษณะของครอบครัวขยาย ฉะนั้นเงื่อนไขหรือปัจจัยที่จะนำไปสู่การลงโทษด้วยความรุนแรงหรือการทำร้ายเด็กอาจจะไม่ได้มากเท่ากับปัจจุบัน แต่เมื่อรูปแบบของครอบครัวเปลี่ยนไป ทั้งการเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือการเป็นครอบครัวในลักษณะแบบใหม่ ทำให้มีเงื่อนไขปัจจัยที่ใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างที่พบประจำคือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากพ่อเลี้ยงหรือคนที่ไม่ได้เลี้ยงดูเด็กมาตั้งแต่ต้น แต่เขาต้องกลายมาเป็นผู้ดูแลเด็ก” ณัฐวุฒิชี้ 

ทางด้านอังคณาก็แสดงความคิดเห็นว่า ครอบครัวไทยยังไม่ได้มีการเตรียมการหรือปูพื้นฐานให้กับเด็กในกรณีที่มีครอบครัวใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็ก ที่อาจรู้สึกว่าตัวเองถูกแย่งความรัก หรือไม่เข้าใจว่าทำไมจึงมีคนอื่นเข้ามาอยู่ในบ้านร่วมกับตัวเอง การขาดการสื่อสารและการเตรียมพร้อมในเรื่องนี้ ส่งผลให้เด็กที่ไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว เกิดพฤติกรรมต่อต้าน งอเเง หรือพูดไม่ฟัง 

“เด็กมีพฤติกรรมต่อต้าน และผู้ปกครองเองก็มีภาวะเครียด มันเลยนำไปสู่การลงไม้ลงมือกับเด็ก ขณะที่กับพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงที่เข้ามาในครอบครัว เราก็เจอว่าเขาไม่ได้มีความผูกพัน หรือไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก ดังนั้นการที่พ่อหรือแม่เลี้ยงเข้ามา และมีความรู้สึกว่าเด็กสร้างปัญหา ประกอบกับพ่อแม่แท้ ๆ ก็มีภาวะเครียด รู้สึกว่าเด็กงอแง เด็กดื้อ และเงื่อนไขครอบครัวก็ไม่รู้สึกว่าต้องเข้าใจภาวะที่เด็กเป็น ก็เลยทำให้ทั้งสองคิดตรงกันว่าเด็กมีปัญหาและใช้ความรุนแรงทางร่างกายกับเด็ก” อังคณาอธิบาย 

“เรื่องในครอบครัวเขา เราไม่ยุ่ง”

อีกหนึ่งปัจจัยที่หล่อเลี้ยงให้ความรุนแรงต่อเด็กยังมีอยู่ในสังคมไทย คือทัศนคติของคนในสังคมที่มองว่าการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก “เป็นเรื่องในครอบครัว” หรือเรื่องส่วนตัวที่คนนอกไม่ควรเข้าไปยุ่ง จึงทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเมินเฉยต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น จนกระทั่งเกิดเป็นความสูญเสีย ดังที่เห็นได้จากหลายข่าวที่เกิดขึ้น 

“สังคมไทยยังมองเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว อย่าเข้าไปยุ่ง เดี๋ยวเขาดีกันเราจะเป็นหมา และจากที่เราเก็บข้อมูลมา เปอร์เซ็นต์ของคนรอบข้างที่จะเข้าไปช่วย หรือเห็นแล้วแจ้งมีค่อนข้างน้อย ดังนั้น ด้วยทัศนคติที่ตอกย้ำเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ห้ามคนอื่นเข้าไปยุ่งนี่แหละ มันเลยทำให้ผู้หญิงหรือเด็กหลายคนที่ถูกทำร้าย ได้รับการช่วยเหลือหรือมีการดำเนินการแจ้งภาครัฐในตอนที่ทำอะไรไม่ได้แล้ว” อังคณากล่าว 

ขณะที่ณัฐวุฒิก็มองว่า หากคนรอบข้างยังเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กในวันนี้ ก็มีแนวโน้มจะส่งผลต่อทุกคนในสังคมในระยะยาวได้ 

“เราอาจจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ถ้าเราปล่อยให้เกิดความรุนแรงต่อเด็กในวันนี้ และเด็กคนนั้นรอดอยู่ วันหนึ่งเขาอาจจะกลายมาเป็นอาชญากรที่กลับมาทำร้ายเราได้ เพราะเราพบว่าในปัจจุบัน อาชญากรหลายคนที่ใช้ความรุนแรงในสังคม เขาเองก็เคยตกเป็นเหยื่อของการถูกใช้ความรุนแรงมาก่อน” ณัฐวุฒิชี้ 

“เราต้องยอมรับว่าเมล็ดพันธุ์ความรุนแรงต่อเด็ก มันมาจากทุกคนในสังคมที่เป็นส่วนเพาะให้เมล็ดพันธุ์นี้เติบโต ว่าเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ดังนั้น มันจำเป็นต้องทำให้เห็นว่า เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนรวมที่ทุกคนเข้าไปจัดการเรื่องนี้ร่วมกันได้” อังคณาเสริม 

กลไกลภาครัฐที่ไม่แข็งแรง 

แม้ทัศนคติว่า “เรื่องในครอบครัวไม่ควรเข้าไปยุ่ง” จะยังมีอยู่ แต่ณัฐวุฒิก็เชื่อว่า สังคมในตอนนี้มีความตื่นรู้และช่วยกันจัดการดูแลปัญหาเรื่องความรุนแรงต่อเด็กมากขึ้น ทั้งการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและใช้ช่องทางออนไลน์ในการช่วยเหลือ แต่ปัญหาสำคัญคือการตอบสนองต่อปัญหาความรุนแรงของกลไกภาครัฐ ที่ยังมีความเชื่องช้าและไม่ทันต่อความต้องการได้รับความช่วยเหลือของผู้ถูกกระทำ 

“เกือบทั้งหมดเคยได้ร้องขอความช่วยเหลือแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการไปแจ้งความ ไปโรงพยาบาล ถ้าเป็นเด็กก็อาจจะบอกครู บอกผู้ปกครองที่ไม่ใช่คนทำร้าย แต่มันไม่เกิดระบบการช่วยเหลือตั้งแต่ต้น แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เป็นเรื่องในครอบครัว แต่คนที่รับเรื่องต่อไม่ได้ตระหนักถึงบทบาทที่ตัวเองควรทำต่างหาก” ณัฐวุฒิกล่าว 

ด้านอังคณาก็กล่าวว่า จากข้อมูลของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สิ่งที่พบเมื่อเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ หนึ่ง ผู้ถูกใช้ความรุนแรงไม่รู้จักเบอร์ 1300 ซึ่งเป็นสายด่วนของศูนย์ช่วยเหลือสังคม ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่จะสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ และสอง เมื่อผู้ถูกใช้ความรุนแรงโทรไปที่เบอร์ 1300 เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่ต้องให้การช่วยเหลือลงพื้นที่ช้า ทำให้หลายครั้งปรากฏกรณีเด็กหรือผู้หญิงที่ถูกทำร้ายเสียชีวิตไปแล้ว 

แน่นอนว่าการทำงานของกลไกของรัฐที่รวดเร็วจะช่วยลดปัญหาความรุนแรงต่อเด็กได้ แต่กลไกลภาครัฐก็มีปัญหาในตัวเองเช่นกัน โดยภาครัฐก็ไม่ได้ลงทุนในการแก้ไขปัญหาเรื่องการคุ้มครองเด็ก ทั้งจำนวนของเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพที่จะเข้ามาทำงานช่วยเหลือมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะเดียวกัน ระบบการทำงานของรัฐก็ไม่สามารถพัฒนาคนให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีโอกาสการเติบโตในสายงาน ดังนั้น ปัญหาเรื่องกลไกของภาครัฐที่ไม่แข็งแรงก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงอาจจะถึงเวลาที่ภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ของแต่ละจังหวัดต้องทบทวนและวิเคราะห์ปัญหา เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

ทางออกเพื่อช่วยเหลือเด็กไม่ให้ถูกทำร้าย 

“สิ่งที่ทำได้แน่ ๆ คือการให้ความรู้พ่อแม่ผู้ปกครองและสังคม ให้เข้าใจเรื่องการคุ้มครองเด็ก เรื่องสิทธิเด็ก และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลงโทษหรือจากการใช้ความรุนแรงต่อตัวเด็ก เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่” ณัฐวุฒิกล่าว 

“เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมีหน่วยงานมารองรับ” อังคณาเสริม “เวลาที่จะออกจากความสัมพันธ์หรือมีคนรักใหม่ ในต่างประเทศจะมีมิติของการเข้าไปพบนักจิตวิทยา เพื่อขอความรู้หรือวิธีคุยกับลูกในเรื่องนี้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในครอบครัวเกิดขึ้นต้องทำยังไง หรือถ้าจะเอาพ่อใหม่แม่ใหม่เข้ามา กระบวนการในเรื่องของการให้ความรู้ในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเราปูพื้นฐานเรื่องครอบครัวแบบนี้ได้ ปัญหาพ่อเลี้ยง-แม่เลี้ยง-ลูกเลี้ยงก็จะมีน้อยลง” 

ยิ่งไปกว่านั้น ทุกองคาพยพที่เป็นหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนต้องทำงานร่วมกันและรู้หน้าที่ของตัวเอง ภาครัฐอาจจะต้องประชาสัมพันธ์ช่องทางการช่วยเหลือผู้ถูกใช้ความรุนแรงมากขึ้น ทั้งสายด่วน 1300 หรือช่องทางการช่วยเหลืออื่น ๆ ให้ประชาชนได้รับทราบ เช่นเดียวกับระบบดำเนินการทางกฎหมายที่ต้องใช้กฎหมายแบบบูรณาการ เนื่องจากกระบวนการบังคับใช้กฎหมายไม่ควรถูกนำมาใช้เพื่อความสะใจหรือเอาตัวผู้กระทำความผิดไปลงโทษเพียงเท่านั้น แต่ต้องวิเคราะห์สาเหตุของความรุนแรงเพื่อไม่ให้เด็กกลับมาเป็นผู้ใช้ความรุนแรง ขณะเดียวกันก็เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ถูกทำร้ายเองด้วย 

“มันมีปัจจัยสลับซับซ้อนมาก เป็นความสัมพันธ์ที่ทั้งรักทั้งชัง คือแม่อาจจะใช้ความรุนแรงต่อหนู แต่ทั้งชีวิตของหนูไม่มีใคร นอกจากแม่ ฉะนั้นเราจะเอาแค่สะใจไม่ได้ คือกฎหมายก็ต้องเอาให้ลึก เอาให้ชัดว่าจริง ๆ แล้วปัญหาของแต่ละเคสคืออะไรกันแน่ ถ้าแม่เป็นจิตเวชก็ต้องแก้แบบหนึ่ง ถ้าพ่อแม่ติดเหล้าก็ต้องแก้แบบหนึ่ง เราไม่สามารถใช้ไม้บรรทัดเดียวกันในการแก้ปัญหาได้ และด้วยหลายครั้งที่เด็กไม่รู้สิทธิของตัวเอง เด็กไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองคือการถูกทำร้าย จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันปกป้องและให้ความรู้ ช่วยกันจัดการปัญหาตั้งแต่ต้น” ณัฐวุฒิกล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook