อธิบดีปศุสัตว์ ขอ 8-12 เดือนแก้ปัญหาหมูทั้งระบบ นายกฯ สั่งเร่งช่วยเกษตรกร

อธิบดีปศุสัตว์ ขอ 8-12 เดือนแก้ปัญหาหมูทั้งระบบ นายกฯ สั่งเร่งช่วยเกษตรกร

อธิบดีปศุสัตว์ ขอ 8-12 เดือนแก้ปัญหาหมูทั้งระบบ นายกฯ สั่งเร่งช่วยเกษตรกร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ขอเวลา 8-12 เดือน เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาหมูทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรค ASF และเรื่องราคาขายที่แพงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่นายกฯ สั่งเร่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร

วันนี้ (14 ม.ค.) นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์กิจจา อุไรรงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในประเด็นการแก้ไขปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ส่งผลทำให้ราคาเนื้อสุกรภายในประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ นายสัตวแพทย์สรวิศ เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายกรัฐมนตรีว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียกมาถามว่าขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ไปถึงไหนแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเข้าใจและต้องการให้เดินหน้าไปด้วยกัน โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ดำเนินการเรื่องของการควบคุมโรคโดยเร็วที่สุด มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และฟื้นฟูเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยว่าจะมีการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

ขณะที่การตรึงราคาสินค้าสุกร ต้องคุยกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ นายกรัฐมนตรีรับทราบมาโดยตลอดว่ากรมปศุสัตว์ทำอะไรตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนกระแสข่าวที่ว่ากรมปศุสัตว์ปกปิดการแพร่ระบาดของโรค ASF ในไทยนั้น นายกรัฐมนตรีเข้าใจ เนื่องจากได้รายงานมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2561 ที่เกิดการแพร่ระบาดในประเทศจีน และปี 2562 ทำอะไรไปบ้าง ยกระดับสู่การเป็นวาระแห่งชาติ หากเราปกปิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราคงส่งออกไปต่างประเทศทั้งเวียดนามและกัมพูชาไม่ได้ เพราะจะต้องมีการตรวจโรค จึงเป็นคำตอบที่สำคัญ

ส่วนการของบประมาณ 574 ล้านบาทนั้น เพื่อนำไปเยียวยาฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยจากการลดความเสี่ยงเกิดโรคระบาด ตามหลักระบาดวิทยาของสัตวแพทย์ ที่จะต้องมีการประกาศการแพร่ระบาดและให้รัฐบาลเป็นผู้ชดเชยเยียวยา ซึ่งการชดเชยจะครอบคลุมเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ครอบคลุมผู้ประกอบการรายใหญ่

เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีมีการขีดเส้นตายในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ตอบว่า ไม่ โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ช่วยเหลือกันกับเพื่อนบ้าน เพราะต้องเข้าใจว่าโรคนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิด 34 ประเทศทั่วโลก แต่นายกรัฐมนตรีสอบถามตนว่า ปัญหาสุกรทั้งระบบจะแล้วเสร็จเมื่อใด ซึ่งตนก็รายงานไปว่าจะใช้เวลา 8 – 12 เดือน

นายกฯ สั่งเร่งแก้ปัญหา แนะตั้งวอร์รูมสื่อสารให้ประชาชน-สื่อรับรู้ทุกวัน

ในขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เข้าพบ เพื่อติดตามการแก้ปัญหาโรคระบาดในสุกร หลังจากที่ไทยมีการประกาศพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในประเทศไทย

นายกรัฐมนตรียังได้มอบแนวทางการแก้ปัญหาหมู โดยขอให้เร่งตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเจ้าของฟาร์มผู้เสียหายให้ครอบคลุมทั้งรายย่อยและรายใหญ่ โดยให้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และให้กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพการเลี้ยงสุกร ทั้งโรงฆ่าสัตว์ และเขียงหมูโดยเร็ว รวมทั้งให้ปศุสัตว์จังหวัดและสัตวแพทย์ ติดตามพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เพื่อสอบสวนสาเหตุและเร่งรักษาตามสาเหตุอาการตั้งแต่แรก

ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้ผู้เลี้ยงหมู ในการป้องกันเบื้องต้น ระหว่างที่ยังต้องรอผลการวิจัยและพัฒนาวัคซีน รวมทั้งเปิดรับช่องทางแจ้งการเกิดโรคให้ได้โดยเร็ว เพื่อแก้ไขและลดความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเยียวยาด้วย

นอกจากนี้ นายธนกร ยังกล่าวอีกด้วยว่า นายกรัฐมนตรียังสั่งการกรมปศุสัตว์ เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการความต้องการสุกรในภาพรวม เร่งสำรวจปริมาณความต้องการประชาชนต่อการบริโภคและใช้เนื้อหมูในประเทศ รวมทั้งปริมาณการส่งออก ขณะเดียวกันก็เร่งศึกษาความจำเป็นในการนำเข้าเนื้อหมูชั่วคราว และการจัดหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ผลิตลูกหมูเพิ่มเติมในระบบ

ในการหารือ นายกรัฐมนตรีได้ให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการทุกอย่างให้ครบเพื่อลดความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู รวมทั้งปัญหาหมูราคาแพง พร้อมแนะอธิบดีกรมปศุสัตว์ จัดตั้ง Warroom สื่อสาร ชี้แจงการทำงานเพื่อแก้ปัญหาหมูแพงและโรคระบาดทุกวัน เพื่อประชาชนและสื่อมวลชนได้รับทราบ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook