แท็กไลน์นี้มีพลัง! จับตาเลือกตั้งซ่อม หลักสี่-จตุจักร ตั้งแต่ป้ายหาเสียงยันขุมกำลัง
แท็กไลน์นี้มีพลัง! จับตาเลือกตั้งซ่อม หลักสี่-จตุจักร ตั้งแต่ป้ายหาเสียงยันขุมกำลัง
การเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กทม. เขตจตุจักร-หลักสี่ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 มกราคมนี้ แม้จะเป็นช่วงปีสุดท้ายก่อนครบเทอมของ ส.ส. ชุดที่ 25 หรือกล่าวคือผู้ชนะจะได้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. อย่างมากประมาณ 1 ปีก่อนมีการเลือกตั้งใหม่ภายในเดือนมีนาคม 2566 หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง แต่บรรยากาศการหาเสียงกลับคึกคัก เพราะเป็นเหมือนสนามประลองกำลังของเหล่าพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. และการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งหน้า
หากดูตามเบอร์ผู้สมัคร 8 หมายเลข ได้แก่ 1. นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ พรรคไทยภักดี, 2. เอ๋ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคกล้า, 3. ออป นายสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย, 4. น.ส.กุลรัตน์ กลิ่นดี พรรคยุทธศาตร์ชาติ, 5. นายรุ่งโรจน์ อิบรอฮีม พรรคไทยศรีวิไลย์, 6. เพชร นายกรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล, 7. มาดามหลี นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ, และ 8. นายเจริญ ชัยสิทธิ์ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน
"ขอโอกาส สานงานต่อ" ของ นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยานายสิระ เจนจาคะ เจ้าของพื้นที่ ใช้แท็กไลน์เพื่อสานงานต่อจากสามีที่เพิ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมีลักษณะต้องห้ามให้การลงสมัครรับเลือกตั้งและพ้นสมาชิกภาพ ส.ส. แม้ที่ผ่านมาจะทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์นายกฯ อย่างแข็งขันก็ตาม แต่ช่วงเวลานี้อาจมองได้ว่ากระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งภายนอกและภายในพรรคอาจลดลง คงไว้แต่บารมีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พปชร. เท่านั้น ขณะเดียวกันกระแสการแตกขั้วภายในพรรคอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพ ส.ส. ในพรรคมาช่วยหาเสียงน้อย ทั้งๆ ที่มี ส.ส. กทม. ทั่วประเทศ และรัฐมนตรีในโควต้าของพรรคหลายคน ยกเว้นแต่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะ ผอ. เลือกตั้งซ่อม กทม. เขต 9 ที่ยังมีบทบาทต่อการหาเสียงเพื่อพิสูจน์บารมีการนำทีม กทม. ของพรรคพลังประชารัฐต่อไป อย่างไรก็ตามแม้ภาพข้างนอกจะดูเหมือนว่า พล.อ.ประวิตร ให้ความสำคัญกับสนามนี้น้อยกว่าเลือกตั้งซ่อมชุมพร-สงขลา, ฐานกำลัง กปปส. ที่อ่อนลง, และผลงานของสิระเองก็อาจจะไม่ได้รับกระแสบวกในโลกออนไลน์เท่าไรนัก แต่ถ้ามองในระดับท้องถิ่นแล้ว สิระอาจจะถูกใจคนในพื้นที่ก็ไม่มีใครรู้ได้ แต่ที่แน่ๆ คือหัวคะแนนที่ย้ายมาจากพรรคประชาธิปัตย์ตอนเลือกตั้งปี 2562 ก็ยังอยู่ แถมการมีแม่ทัพเป็นรัฐมนตรีจากพรรครัฐบาลก็ประมาทไม่ได้
"เลือกคนทำงาน เพื่อศักดิ์ศรีคนหลักสี่/จตุจักร" และ "จะรับใช้ด้วยหัวใจไม่เปลี่ยนแปลง" สองแท็กไลน์หาเสียงของนายสุรชาติ เทียนทอง อดีต ส.ส. เจ้าของพื้นที่เขตหลักสี่และแขวงสนามบิน เขตดอนเมือง เมื่อการเลือกตั้งปี 2554 เขาลงพื้นที่ไม่เคยขาด จนเรียกว่าเขตหลักสี่ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชน เป็นจุดแข็งของสุรชาติเลยก็ว่าได้ แต่จุดอ่อนก็คือการทำกระแสในโลกออนไลน์ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 สุรชาติได้คะแนนเป็นที่สองแพ้สิระไปเพียงแค่ 2,700 กว่าคะแนน ซึ่งการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยในยุคดิสรัปต์ช่วยกลบจุดอ่อน สร้างกระแสบนโซเชียลมีเดียให้สุรชาติ แถมยังมีเหล่า ส.ส. ดาวสภาจากพรรคเพื่อไทยที่แวะเวียนกันมาช่วยหาเสียงทั้งการลงพื้นที่และออนไลน์อย่างไม่ขาดสาย เรียกว่าคึกคักกว่าทุกพรรค แต่ความท้าทายคือประเด็นการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ไม่ได้มีแค่เขตหลักสี่ แต่ยังมีเขตจตุจักร ตามการแบ่งพื้นที่ของการเลือกตั้ง 2562
"สร้างสรรค์ การเมืองคุณภาพ" แท็กไลน์ของนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส. เจ้าของพื้นที่เขตจตุจักร สองสมัย ปี 2550 และ 2554 ที่มาลงสมัครเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ในฐานะเลขาธิการพรรคกล้า พรรคทางเลือกใหม่ที่ดูเหมือนจะเป็นข้อได้เปรียบสำหรับกลุ่ม Swing Vote อย่าง กทม. ขณะเดียวกันท่าทีของอรรถวิชช์ที่ตอบโต้มาดามหลี ผู้สมัครจาก พปชร. แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของพรรคที่แตกต่างจาก พปชร. ก็อาจจะเป็นการดึงคะแนนของ พปชร. เก่าที่เริ่มเสื่อมศรัทธาจากการบริหารงานของรัฐบาล, คะแนนจากกลุ่ม กปปส. เก่า, และคะแนนจากพรรคประชาธิปัตย์ เดิมที่ผู้การแต้ม พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 แต่ปีนี้กลับไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม นอกจากนี้ยังมีกระแสทีมสนับสนุนอย่าง นายสกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส. เขตบางซื่อ-หลักสี่-จตุจักร-พญาไท ปี 2550 พรรคประชาธิปัตย์ และรองผู้ว่า กทม. ที่คาดว่าจะมีเครือข่ายฐานเสียงในพื้นที่ไม่น้อย ดังนั้นการที่พรรคกล้าส่งเบอร์ใหญ่อย่างเลขาธิการพรรคมาลงเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ก็คงมองข้ามไม่ได้
"ไม่เป็นกลาง ยืนข้างประชาชน" แท็กไลน์ของ เพชร กรุณพล นักแสดงที่เป็นกระแสในโลกออนไลน์หลังแสดงจุดยืนทางการเมืองต่อต้านรัฐประหาร ลงสมัครเป็นตัวแทนของพรรคก้าวไกล ที่เดิมพรรคอนาคตใหม่ทำคะแนนจากการเลือกตั้งปี 2562 เป็นลำดับ 3 รองจากสิระ และสุรชาติ จะเห็นว่าพรรคก้าวไกลยังใช้กระแสเป็นยุทธศาสตร์หลักในการหาเสียง ซึ่งแน่นอนว่าความชัดเจนในจุดยืนทางการเมืองและกระแสออนไลน์ย่อมตรงใจคนรุ่นใหม่ แต่สถานการณ์ครั้งนี้ต่างออกไป ตรงที่แม้ ส.ส. ในพรรคหลายคนจะมาช่วยเดินหาเสียง แต่ครั้งนี้ไม่มีแม่เหล็กอย่าง ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์ อีกทั้งลักษณะมีความใกล้เคียงการเลือกตั้งซ่อมเขต 5 สมุทรปราการ ที่พรรคก้าวไกลเปลี่ยนตัวผู้สมัครจากการเลือกตั้ง 2562 เป็นคนใหม่ แต่สุดท้ายกลับได้คะแนนลดลงและถ้ามองภาพรวมกลับกลายเป็นการที่ฝ่ายค้านตัดคะแนนกันเอง เพราะในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนั้น หากเอาคะแนนของพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล และเสรีรวมไทย รวมกันจะชนะนายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก จากพรรคพลังประชารัฐ เกือบ 3,700 คะแนน ดังนั้นหลัก ไม่เลือกเรา เขามาแน่ อาจจะเป็นสิ่งที่พรรคต้องใช้เพื่อดึงคะแนนหากต้องการเอาชนะฝ่ายรัฐบาล
"ไม่กุ๊ย ไม่กร่าง ไม่โกง" แม้จะเป็นสไตล์เก่าที่ใช้เนกาทีฟแคมเปญมานำการหาเสียง แต่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งพรรคที่แท็กไลน์ชัดเจน โดยพรรคไทยภักดี ที่นำโดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรค ส่งนายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ ลงสมัครรับเลือกตั้ง มีท่าทีชัดเจนว่าโจมตีพรรคคู่แข่งต่างๆ แม้จะเป็นฝ่ายสนันบสนุนรัฐบาลเหมือนกัน แต่ยืนยันว่าจุดยืนอุดมการณ์ไม่เหมือนกัน และด้วยความชัดเจนของคาแรคเตอร์พรรคและแท็กไลน์นี้ แน่นอนว่า สนามนี้เป็นการวัดความนิยมและหยั่งเชิงอนาคตของพรรคไทยภักดีได้เป็นอย่างดี
"ถ้าอยู่ตรงข้ามลุงตู่ เราคือพวกเดียวกัน" แท็กไลน์ ของนายรุ่งโรจน์ อิบรอฮีม ผู้สมัครจากพรรคไทยศรีวิไลย์ ที่มี เต้ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคนำทีมหาเสียง ซึ่งแม้จะเป็นพรรคเล็ก แต่ด้วยแท็กไลน์ที่ชัดเจน อาจจะโดนใจคนบางกลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล ชอบความชัดเจน แต่นั่นอาจไม่ได้ส่งผลต่อสัดส่วน ส.ส. ในสภา แต่เป็นการดึงคะแนนจากฝ่ายค้านด้วยกันเอง ขณะที่พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ที่ส่งนายเจริญ ชัยสิทธิ์ อดีตประธานสหภาพครูแห่งชาติ ใช้แท็กไลน์ตามนโยบาย เช่น "รักลูกห่วงหลาน ต้านภัยยาเสพติด" หรือ "ปฏิรูปการศึกษาภาค 2 ต้องมีคุณภาพ" เพื่อชี้ให้เห็นชัดในสิ่งที่จะผลักดัน แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นพรรคเล็กไม้ประดับ แต่แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่พร้อมจะสู้ต่อในการเลือกตั้งครั้งหน้าในฐานะพรรคการเมือง ไม่ยุบพรรคไปรวมกับพรรคใหญ่อย่างบางพรรคเล็กก่อนหน้านี้ เพียงแต่อาจจะลองสนามเพื่อประกอบการตัดสินใจแนวทางการต่อสู้หลังผ่านร่างแก้ไขกฎหมายลุกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าจะสู้ในแนวทางของบัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส. เขต เช่นเดียวกับพรรคยุทธศาสตร์ชาติ ส่ง น.ส.กุลรัตน์ กลิ่นดี ภายใต้แท็กไลน์การหาเสียงที่บอกนโยบายของพรรคและผู้สมัคร "สร้างงาน สร้างรายได้ แก้จน พัฒนาคน พัฒนาเมือง"
หากมองจากแท็กไลน์ หลายพรรคโจมตีนายสิระเป็นหลัก และบอกอุดมการณ์ของพรรคตามมา แม้ส่วนใหญ่จะไม่โดดเด่น หวือหวา แต่เป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ แม้จะเป็นการหยั่งเสียงก่อนการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 แต่มันต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปที่เน้นกระแส จากภายนอก แต่เป็นการเน้นการสื่อสารกับคนในพื้นที่ที่แทบจะไม่ได้มีความหวังทางการเมืองยึดโยงกับการเมืองระดับชาติ เพราะ ส.ส. แค่ 1 คนที่จะชนะการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ คงเปลี่ยนการเมืองภาพใหญ่ในช่วงเวลาดค้งสุดท้ายก่อนครบเทอมไม่ได้ แต่มันจะบอกได้ว่า แม่ทัพ กทม. ของ พปชร. พร้อมหรือไม่? เพื่อไทยยุคดิสรัปต์กับก้าวไกลใครคือผู้ครองคะแนนเสียงชาวหลักสี่-จตุจักร? พรรคใหม่ๆ อย่างพรรคกล้าและพรรคไทยภักดีจะได้รับความนิยมจากคนกรุงมากน้อยแค่ไหน? และพรรคเล็กจะปรับยุทธศาสตร์อย่างไร หากต้องการอยู่รอดในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่กฎหมายลูกเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้ง
สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 9 มี 2 เขตคือ หลักสี่ ได้แก่ แขวงทุ่งสองห้อง และแขวงตลาดบางเขน และเขตจตุจักร เฉพาะ 3 แขวง ได้แก่ แขวงลาดยาว แขวงเสนานิคม และแขวงจันทรเกษม (ยกเว้นแขวงจตุจักร และแขวงจอมพล) มีหน่วยเลือกตั้ง 438 หน่วย และมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 170,764 คน
ผู้เขียน : อรรถชัย หาดอ้าน
อัลบั้มภาพ 11 ภาพ