จุดจบของจอมเผด็จการแห่งคาซัคสถานด้วยน้ำมือลูกน้องคนสนิท
ประเทศคาซัคสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียกลางคือมีเนื้อที่ประมาณ 2.7 ล้านตารางกิโลเมตร มีพรมแดนทิศเหนือติดกับรัสเซีย ทิศตะวันออกติดกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และทิศใต้มีพรมแดนติดกับประเทศคีร์กีซสถาน ประเทศอุซเบกิสถาน และประเทศเติร์กเมนิสถาน และมีชายฝั่งบนทะเลสาบแคสเปียนทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
คาซัคสถานมีพื้นที่กึ่งทะเลทรายอยู่มากแต่เป็นประเทศที่อุดมด้วยแร่ธาตุสำคัญ อาทิ มี ยูเรเนียม โครเมียม ตะกั่วและสังกะสีเป็นอันดับ 2 ของโลกและมีแมงกานีส ทองแดง ถ่านหินทองคำและเพชรอีกด้วย
Leon Neal - Pool/Getty Images
นอกจากนี้คาซักสถานยังมีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบมากเป็นอันดับที่ 11 ของโลก กล่าวคือ มีน้ำมันดิบสำรองอยู่ถึง 3% ของปริมาณน้ำมันสำรองของทั้งโลกทำให้คาซักสถานเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียกลางที่แยกตัวออกมาจากอดีตสหภาพโซเวียตเมื่อ 2534 แถมยังมีประชากรน้อยเพียง 19 ล้านเท่านั้น ดังนั้นชีวิตความเป็นอยู่ของชาวคาซัคสถานจึงดีกว่าทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียกลางทั้งหมด
ประเทศคาซัคสถานเป็นประเทศเผด็จการมาตั้งแต่แยกตัวออกมาเป็นเอกราช โดยมีผู้นำเพียงคนเดียวคือนายนูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีเผด็จการคนแรก ครองอำนาจปกครองประเทศมาร่วม 30 ปีแบบรัฐราชการที่ด้อยประสิทธิภาพและคอร์รัปชันตามปกติของการปกครองเผด็จการโดยทั่วไป
Ron Sachs-Pool/Getty Images
นายนูร์-ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ และลูกสาว 3 คนต่างช่วยกันกอบโกยเงินทองกันอย่างมโหฬารเป็นที่อื้อฉาวตัวอย่างเช่นลูกสาวคนที่ 2 ขอนายนูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟต้องขึ้นศาลที่อังกฤษเนื่องจากเธอซื้อคฤหาสต์หรูหราใหญ่โตถึง 3 หลังในกรุงลอนดอน จึงต้องชี้แจงต่อศาลอังกฤษว่าเอาเงินมาจากไหน ส่วนลูกสาวคนสุดท้องก็เป็นที่กล่าวขวัญถึงการที่เธอซื้อเครื่องบินเจ็ทไว้ใช้ส่วนตัวด้งยเงินของเธอเอง เป็นต้น
จนตัวประธานาธิบดีนูร์-ซุลตัน นาซาร์บาเยฟมีอายุได้ 81 ปีอาจจะหนำใจในตำแหน่งและความมั่งคั่งจึงได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2562 แต่ยังคงแต่ยังคงรั้งตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (คุมกำลังทหารทั้งหมดของประเทศ) ซึ่งยังคงมีอำนาจอยู่เบื้องหลังคณะผู้ปกครองประเทศรุ่นใหม่โดยแต่งตั้งลูกน้องคนสนิท นายคัสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ อดีตนักการทูตขึ้นดำรงตำแหน่งสืบต่อเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของประเทศ และแต่งตั้งลูกสาวคนโต คือ นางดาริกา นาซาร์บาเยวา เป็นประธานวุฒิสภาซึ่งจัดว่ามีอำนาจรองมาจากประธานาธิบดีเท่านั้น จึงมีการคาดการณ์กันว่านางดาริกา นาซาร์บาเยวาจะเป็นผู้สืบทอดตัวจริงจากบิดาของเธอ
ประธานาธิบดีคัสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ พยายามลิดรอนอำนาจของตระกูลอดีตประธานาธิบดีนูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ ด้วยการเอาใจเพื่อให้ตายใจโดยการเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจากกรุงอัสตานาเป็นกรุงนูร์-ซุลตันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายนูร์-ซุลตัน นาซาร์บาเยฟในปี 2562 แต่ในกลางปี 2563ประธานาธิบดีคัสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟก็ปลดนางดาริกา นาซาร์บาเยวา เป็นประธานวุฒิสภาสำเร็จ
แต่ทันทีที่คาซัคสถานผ่านเข้าสู่วันแรกของปีใหม่ 2565 ประชาชนชาวคาซัคต้องเจอราคาก๊าซแอลพีจีขึ้นราคาอย่างก้าวกระโดดคือขึ้นราคาเป็นสองเท่าในคืนเดียว
ก๊าซแอลพีจีเป็นก๊าซที่ใช้กับรถยนต์เหมือนกับรถแท็กซี่ของเมืองไทยสมัยก่อนและใช้ทำความอบอุ่นให้กับครัวเรือนครัวเรือนส่วนใหญ่ในช่วงฤดูหนาวถึง 70-90% ของคาซัคสถาน ในขณะที่ประเทศมีคลังสำรองของก๊าซแอลพีจีและน้ำมันปริมาณมากอยู่แล้ว จึงเป็นเหตุทำให้ประชาชนพร้อมใจกันลงถนนประท้วงรัฐบาล โดยต้นกำเนิดการประท้วงอยู่ที่เมืองฌางาเออเซนอันเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำมันที่สำคัญของประเทศคาซัคสถานในภาคตะวันตก
เมืองนี้เมื่อ 10 ปีก่อนก็เป็นเมืองที่เป็นจุดเริ่มต้นประท้วงการเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงคนงาน ก่อนที่ทางการจะปราบปรามอย่างรุนแรงจนควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ดังนั้นเมืองฌางาเออเซนนี้จึงมีความสำคัญและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในการสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐในภาคประชาชนไปโดยปริยาย
แต่ครั้งนี้การประท้วงกลายเป็นจลาจลลุกลามไปทั่วประเทศ
Abduaziz MADYAROV / AFP
การประท้วงที่เริ่มขึ้นหลังวันขึ้นปีใหม่ครั้งนี้เป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศคาซักสถานนี้ ทำให้บ้านพักประธานาธิบดีในนครอัลมาตี เมืองใหญ่สุดของประเทศ ถูกพังเสียหายยับเยิน อาคารสำนักงานต่างๆ ของภาครัฐที่ถูกจุดไฟเผา มีรายงานผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายสิบคน ทั้งฝั่งประชาชนและเจ้าหน้าที่ความมั่นคง
ผู้ชุมนุมมากกว่า 2,200 คน ถูกจับกุม นอกจากนี้เหตุประท้วงยังทำให้นครอัลมาตีต้องปิดสนามบิน เพราะถูกผู้ประท้วงบุกยึด ก่อนที่ทหารจะยึดกลับคืนมาได้สำเร็จ
การจลาจลประท้วงเกิดขึ้นทั่วประเทศคาซักสถานครั้งนี้ทำให้คณะรัฐมนตรีลาออกตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมโดยประธานาธิบดีโตกาเยฟเองยังได้ให้คำมั่นกับประชาชนว่า จะให้ตรึงราคาก๊าซแอลพีจี ไปอีก 180 วันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
เป็นที่น่าสังเกตคือ ท่าทีของประธานาธิบดีโตกาเยฟที่ในระยะแรกนั้นยังมีความประนีประนอมโดยให้คณะรัฐมนตรีลาออกยกชุด แต่ต่อมากลับเปลี่ยนท่าทีเป็นฉวยโอกาสรวบอำนาจเข้าตัวเพียงคนเดียวโดยเบื้องต้นได้กล่าวหาว่าเหตุไม่สงบทั้งปวงนั้นเกิดขึ้นจากการสมคบคิด และการบ่อนทำลายโดยแหล่งเงินทุนจากภายนอก รวมไปถึงเริ่มใช้คำว่าการก่อการร้ายกับการประท้วงหลายครั้ง และทำการปราบปรามอย่างรุนแรงและเด็ดขาด
ที่สำคัญที่สุดคือการปลดนายนูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ อดีตผู้นำประเทศคนแรกออกจากตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ถือกันว่าสถาปนาขึ้นเพื่อรองรับนายนาซาร์บาเยฟที่ก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศมาเป็นผู้ทรงอิทธิพลเบื้องหลังของผู้นำประเทศรุ่นต่อมา โดยที่นายนาซาร์บาเยฟดำรงตำแหน่งนี้มาร่วม 30 ปีคู่กับตำแหน่งประธานาธิบดี แม้จะลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ยังคงดำรงตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงเรื่อยมา จนกระทั่งโดนปลดเมื่อ 5 ม.ค. ปีนี้เอง
Stanislav FILIPPOV / AFP
ไม้เด็ดในการรวบอำนาจเข้าตัวเองของประธานาธิบดีโตกาเยฟคือการร้องขอกำลังทหารจากองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organization, CSTO) เป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างรัฐบาลของบรรดาประเทศที่ในอดีตคือสหภาพโซเวียต ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2535 ปัจจุบันมีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย อาร์เมเนีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน
Alexey NIKOLSKY / SPUTNIK / AFP
ทั้ง 6 ชาติลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมคือสนธิสัญญาทาชเคนต์ โดยมีอีกสามประเทศคือ อาเซอร์ไบจาน เบลารุส และจอร์เจีย เข้าร่วมภายหลัง แต่หลังจากปี 2545 อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย และอารร์เมเนียไม่ต่ออายุสนธิสัญญาจึงเหลืออีก 6 ประเทศดังกล่าวข้างต้นที่ยังคงรวมกันอยู่เป็นองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม เป็นพันธมิตรทางทหาร แต่ก็มิได้เคลื่อนไหวอะไรมากนักตลอดเวลาร่วม 30 ปีของการก่อตั้ง
ดังนั้นการนำทหารจากภายนอกประเทศมาช่วยค้ำจุนอำนาจของผู้เผด็จการคนใหม่ของประเทศคาซัคสถานดูจะสมประโยชน์กับประเทศรัสเซียซึ่งต้องการที่จะสร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นเป็นบูรณาการสำหรับดินแดนของสหภาพโซเวียตเดิมจากการคุกคามขององค์การนาโตและสหรัฐ ซึ่งรัสเซียกำลังต่อต้านอย่างแข็งขันอยู่ทุกวันนี้