เด็กไร้สัญชาติ เรื่องนี้ขาดแค่... ตอนจบ

เด็กไร้สัญชาติ เรื่องนี้ขาดแค่... ตอนจบ

เด็กไร้สัญชาติ เรื่องนี้ขาดแค่... ตอนจบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี

ถ้าเปรียบกับ ละคร ตอนนี้น้องหม่องอาจจะมีความสุขดีตามอัตภาพ แต่ก็ยังจบไม่ลงอยู่ดี เพราะจนถึงวันนี้หนุ่มน้อยยังไร้สัญชาติ...เหมือนเดิม

และแล้วก็เหมือนกับข่าวชิ้นผ่านๆ มา ที่โด่งดังสักพักแล้วก็เงียบหายไป

ไม่ต่างอะไรกับเครื่องบินกระดาษลำน้อยของ "น้องหม่อง" ที่ทะยานไปสูงสุดฟ้าด้วยดีกรีรองแชมป์นานาชาติ แล้วสุดท้ายก็ค่อยๆ ร่อนลงสู่พื้นดินอย่างนุ่มนวล ไม่สร้างรอยหรือแรงกระเพื่อมอะไรให้แก่สังคม

เช่นเดียวกับนิยายชีวิตของเด็กน้อยและเพื่อนๆ ลูกหลานคนต่างด้าวอีกหลายชีวิต ที่ไปไม่เคยถึง "จุดไคลแม็กซ์" เสียที

ทำท่าว่าจะดีหลายเรื่อง เช่น ทุนการศึกษา หรือตำแหน่งยุวทูตกระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯลฯ แต่สุดท้ายมือที่ยื่นออกมา ก็ได้แต่เงื้อค้าง เพราะความช่วยเหลือต่างๆ ถูกผูกอยู่ภายใต้เงื่อนไข "สัญชาติไทย"

เราอาจจะเห็นน้องหม่องได้รับความสนใจ ไปเป็นแขกรับเชิญงานโน้นที งานนี้ที ชีวิตดีขึ้นตามลำดับ แต่ไม่มีใครพูดถึงเรื่องสัญชาติอีก

จึงกลายเป็นภาวะสุญญากาศ และนั่นเท่ากับว่า ปัญหาเด็กไร้สัญชาติ ยังไม่คืบคลานไปถึงไหน
จนกว่าจะเกิด "เรื่องใหญ่" ขึ้นอีกรอบ...

"ภาคต่อ" ไม่สิ้นสุด

ถ้ายังจำกันได้...


ภาพของสาวน้อยชาวปกาเกอะญอ ที่ยืนร้องไห้อยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้บรรดา "ผู้ใหญ่ใจดี" หันมาชายตามองปัญหาสัญชาติของพวกเธอบ้าง ดูจะเป็นการเขย่าความรู้สึก และก่อให้เกิดประเด็นแตกหน่อเกี่ยวกับเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติออกไปอย่างกว้างขวางเมื่อหลายปีก่อน จนมาถึงคราวของน้องหม่อง ปัญหานี้ก็หวนกลับมาปรากฏให้สังคมได้เห็นอีกครั้ง

อย่างที่ใครหลายคนบอก เรื่องนี้ไม่ใช่สถานการณ์สดใหม่ แต่ก็ไม่เก่าเกินจะด่วนสรุปว่าไม่มีอะไรให้ต้องใส่ใจ เพราะรูปแบบของการ "ไร้สัญชาติ" ในปัจจุบัน เริ่มขยายวง และทวีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นด้วยเหมือนกัน

แม้วันนี้ เราได้เห็นรอยยิ้มของ มึดา นาวานาถ อดีตเด็กไร้สัญชาติ ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ได้บัตรประชาชนใบแรกของครอบครัวมากว่า 10 ปี จนตอนนี้เธอกลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหนึ่งของ "กลุ่มหัวรถไฟ" เครือข่ายนักศึกษาที่ทำงานด้านสัญชาติในจังหวัดแถบภาคเหนือของไทย และความสำเร็จของ ณัฐกานต์ สิริมาลัย ที่ใช้หลักฐานทางดีเอ็นเอ มาเป็นข้อพิสูจน์สายเลือดไทยทางพ่อ ที่อยู่ในตัวเธอจนได้สัญชาติมาเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

แต่ก็ยังมีกรณี "กึ่งไร้รากเหง้า" จาก อาเจมส์ แพทย์ชายแดน ซึ่งอาศัยอยู่กับพี่ชายต่างมารดา เพราะพ่อที่เป็นหมอชาวบ้าน และแม่ถูกทหารพม่าจับตัวไปตั้งแต่เขาอายุเพียง 3 ปี ทำให้อาเจมส์ยังไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้จนถึงทุกวันนี้

ส่วน มอญ จันต๊ะ สาวรุ่นเชื้อสายไทยลื้อที่เกิดในประเทศไทยนั้น เธอก็ยังต้องถือบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ชุมชนบนพื้นที่สูง (ไม่ใช่ชาวเขา) อยู่ หรือ มานา ชูพร ที่อยู่ในข่าย "ไร้รากเหง้าโดยสิ้นเชิง" เพราะถูกเก็บมาอุปการะตั้งแต่เด็ก ไม่สามารถสืบหาพ่อแม่ได้

ความงอกเงยของปัญหาเหล่านี้แสดงให้เห็นถึง สิ่งที่เรื้อรัง และผูกโยงอยู่กับคนกลุ่มนี้มานาน เพียงแต่ยังไม่มีใครแกะออกมาดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

"เหมือนยิ่งขุดเรายิ่งเจอ" สันติพงษ์ มูลฟอง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน จ.แม่ฮ่องสอน หนึ่งในกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนเรื่องคนไร้สัญชาติ มาอย่างต่อเนื่องให้คำนิยามกับภาพรวมของปัญหา

ตัวอย่างที่เขาหยิบขึ้นมาอธิบายประกอบก็คือ กรณีปัญหาหมู่บ้านนอกแผนที่ 4 หมู่บ้านในเขตรอยต่อระหว่าง จ.ตากกับ จ.แม่ฮ่องสอนเมื่อ พ.ศ.2549 มาถึงตอนนี้ ข้อมูลที่อยู่ในมือของเขา และคณะทำงานมีการสำรวจพบเพิ่มขึ้นมาอีกกว่า 20 หมู่บ้านในละแวกใกล้เคียงที่ข้อมูลตัวบุคคล รวมทั้งประวัติศาสตร์ชุมชนยังไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมา

"ชื่อของบางหมู่บ้านเรายังไม่รู้คำแปลเลยด้วยซ้ำ" สันติพงษ์ยืนยัน

หนังชีวิตสองเรื่อง


"...พวกหนูไม่เข้าใจเหมือนกัน ว่าทำไมพวกหนูต้องเป็นแบบนี้ แต่ชีวิตคนเราเลือกเกิดไม่ได้นี่คะ..." เสียงสะท้อนความรู้สึกของบรรดานักแสดงรุ่นจิ๋วกลายเป็นสีสันหนึ่งบนเวที สัมมนาเชิงปฏิบัติการ "แนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ" ดูจะเป็นคำถามเดียวกันที่อยู่ในใจของ มอญ และ มานา มาโดยตลอด

"ไม่เคยคิดว่าตัวเองไม่ใช่คนไทยเลยค่ะ เวลาอยู่กับเพื่อนเราก็ทำทุกอย่างเราก็พูดไทย ก็ไม่ได้พูดภาษาอื่น" มอญบอก

"เหมือนว่าเราเป็นส่วนเกินของคนไทย เพราะเราไม่มีบัตร เลยเป็นส่วนเกินของประเทศ" มานาออกความเห็น
ความ เหลื่อมล้ำทางสังคมเกิดขึ้นเพียงเพราะถูกตัวอักษรบนบัตรประจำตัวจำแนกสถานะ ออกไปกลายเป็นกลุ่มคนอีกชนชั้น และมักทำให้พวกเธอเสียน้ำตาอยู่เสมอ ไม่ถึงขนาดเป็นนิยาย แต่ทางเดินของทั้งคู่ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากหนังชีวิต(รันทด) เรื่องหนึ่ง

"เกิดที่แม่ขุนราง หมู่ 9 เวียงป่าเป้า เชียงรายแล้วก็ย้ายมาอยู่เชียงใหม่เลย" มอญย้อนอดีตตัวเอง ครอบครัวของเธออพยพมาจากสิบสองปันนาซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนานตั้งแต่ รุ่นอาก๋ง (ปู่) ล้มลุกคลุกคลานกันมาพอสมควรก่อนพ่อและแม่จะมาจับอาชีพแรงงานก่อสร้างที่หมู่ บ้านช่างเคี่ยน จนกระทั่งเธอ และน้องๆ เกิดมา

หลังจากมอญเรียนจบ กศน.ชั้น ป.6 พ่อจึงทำเรื่องขอทะเบียนบ้านสีเหลืองเพื่อใช้เป็นหลักฐานส่งเธอเข้าเรียน มัธยม ซึ่งต่อมาก็ถูกเจ้าหน้าที่เปลี่ยนเป็นบัตรเขียวขอบแดง ก่อนจะกลายมาเป็นบัตรสีชมพู ทำให้ถูกตัดสิทธิในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ได้มาพร้อมทะเบียนบ้านไปโดยปริยาย

ถึงผลการเรียนจะอยู่ในระดับดีพอที่จะได้รับทุนการศึกษาของโรงเรียน แต่เพราะไม่มีหลักฐานอย่างสูจิบัตร ทำให้บ่อยครั้งที่สาวน้อยต้องมองดูโอกาสผ่านไปอย่างน่าเสียดาย จนถึงระดับอนุปริญญา ความรู้สึก "แตกต่าง" ระหว่างเธอ กับเพื่อนๆ ก็ยิ่งชัดเจน

"จะมีปัญหาเรื่องการเดินทาง ต้องทำเรื่องขออนุญาตทุกครั้ง เวลาเพื่อนชวนออกไปต่างจังหวัดก็ไปไม่ได้ เพราะถ้าเจอตำรวจตรวจเขาก็จะให้เราลงรถ ต้องเอาตัวรอดมาตลอด"

เรื่องทำงานก็เหมือนกัน มอญไม่ผ่านการบรรจุเพราะไม่มีบัตรประชาชน หรือหากเธอได้ทำงานเป็นโฟร์แมน ก็จะได้ค่าจ้างเพียงระดับช่างปูน เหมือนกับพ่อของเธอที่กลายเป็นผู้รับเหมารายย่อยรับงานจากผู้รับเหมาอีกทอด ก็มักประสบปัญหาโดนกดค่าแรง และเบี้ยวค่าเหนื่อยอยู่บ่อยครั้ง โดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้

ขณะที่ มานา ตั้งแต่จำความได้ ใบหน้าที่คุ้นชินที่สุดก็คือ "คุณยาย" อดีตพยาบาลเกษียณ ผู้รับเธอมาอุปการะจากตรอกอันมืดมิดในตลาดสดแห่งหนึ่งของ จ.เชียงราย เป็นความรัก ความอบอุ่นเดียวในชีวิตที่เธอเคยได้รับ ก่อนโชคชะตาจะสาดเอาเรื่องเศร้าโถมเข้าใส่ชนิดไม่ทันได้ตั้งหลัก

วัณโรค เป็นพิษร้ายที่ติดตัวมานาจากตลาดสด หลังจากใช้เวลารักษาตัวจนหายกว่าค่อนปีถึงได้เริ่มใช้ชีวิตแบบคนปกติ จนถึงชั้น ม.3 เธอก็ถูกโรคไตชนิดเฉียบพลันเข้าจู่โจมอีกครั้ง ทำให้ต้องหยุดเรียนเพื่อรักษาตัว หลังจากกินยาครั้งละฝ่ามือ (12 เม็ด / มื้อ) อยู่ 2 เดือน ผลข้างเคียงจากการใช้ยาก็เริ่มส่งผลถึงกระดูกต้นขาทั้ง 2 ข้าง ทำให้เธอต้องดามเหล็กเอาไว้ในที่สุด

"ยาที่หมอสั่งให้เป็นสเตียรอยด์ มันมีผลต่อขา เริ่มเจ็บขาข้างหนึ่งก่อน คิดว่าไม่เป็นอะไร ก็กินยาต่อ จนในที่สุดเริ่มยืนไม่ได้ เดินก็ไม่ได้ เจ็บมาก ต้องใช้ไม้พยุง ไปหาหมอตรวจพบว่า กระดูกผุ เป็นผลข้างเคียงจากยา ต้องผ่าตัด แต่ก็ไม่ได้ผล เลยต้องเปลี่ยนเป็นดามเหล็กไป ใช้เวลารักษาตัวอยู่ 2 ปี จนปีที่แล้วถึงได้กลับมาเรียน ปวช."

ถึงจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติอีกครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเรื่องจะจบอยู่แค่นี้ เพราะเหล็กในขาทั้งคู่นั้นมีอายุการใช้งานอยู่เพียง 5-6 ปีก็ต้องเปลี่ยนเอาคู่ใหม่ใส่แทน เป็นอย่างนี้ไปตลอดชีวิต ทำให้เธอไม่สามารถทำงานหนัก หรือเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวกนัก มิหนำซ้ำ คุณยายที่พึ่งหนึ่งเดียวของเธอก็เพิ่งมาจากไปด้วยโรคชราเมื่อปีที่แล้ว พรุ่งนี้สำหรับเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งจึงสาหัสพอสมควร ยิ่งเมื่อเธอถูกตีกรอบอยู่ในกลุ่ม "ต่างด้าว" สิทธิทางการรักษาต่างๆ จึงลืมไปได้เลย

"นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงวางไว้ให้ แต่บางครั้ง เหตุการณ์นี้ ก็... หนูเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ทำไมถึงให้บทเรียนที่มันหนักมาก อย่างเรื่องขา เราไม่มีพ่อไม่มีแม่ มันก็เลวร้ายอยู่แล้ว ยิ่งมาเจออย่างนี้แถมมันก็มีอายุการใช้งาน หนูก็เลยไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อีกนานแค่ไหน" เธอสะท้อนมุมมองในฐานะคริสเตียนคนหนึ่ง

ถกปัญหา ผ่าทางตัน


เรื่องของ มานา และมอญ ถึงจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มาจากฐานปัญหาเดียวกัน คือ ความไร้สัญชาติ ทำให้พวกเธอ และเด็กๆ อีกหลายคนขาดโอกาส และสิทธิในการที่จะใช้เป็นต้นทุนนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปลายอุโมงค์ที่มืดมิดจะไร้แสงสว่างให้ก้าวเดิน จากการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ปัญหาก็นำไปสู่การคลี่คลายในหลายๆ เรื่อง

อย่างน้อยก็ในสายตาของนักวิชาการอย่าง ชูพินิจ เกษมณี อาจารย์ภาควิชาพื้นฐานการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ซึ่งทำงานคลุกคลีกับชนเผ่าและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมายาวนาน

"หลายคนเริ่มได้รับการพิสูจน์สถานะ ได้รับการออกบัตรรับรอง หากเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ต้องถือว่าดีขึ้นเยอะ"


สิ่ง ที่เขาคิดว่าน่าจะเป็นคำถามต่อไป คือ ปัญหาเรื่องการออกนอกพื้นที่ของกลุ่มคนไร้สัญชาติ ที่ยังติดอยู่ในกับดักของรัฐอยู่ ซึ่งถ้ามีการแก้ไขตรงจุดนี้นั่นก็หมายถึงสัญญาณที่ดีในการนำไปสู่ทางออกที่ ยั่งยืนของปัญหาคนไร้สัญชาติ

"ปัญหาอย่างชาวบ้านที่แม่สามแลบ (ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน) ส่วนใหญ่ยังไม่มีที่ทำกิน รายได้มาจากการรับจ้าง ซึ่งก็ต้องไปรับจ้างนอกพื้นที่ แต่ออกไปไม่ได้ นี่คือการสร้างเงื่อนไขที่เป็นกับดักไว้หมดเลย แล้วคนจะอยู่รอดยังไง โชคดีเท่าไหร่ที่เขาไม่ไปค้ายาเสพติด ค้ายาบ้า ดังนั้น รัฐต้องคิดถึงระยะยาวของประชาชนด้วย พูดกันถึงที่สุดแล้ว การสร้างระเบียบข้อบังคับห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ ถามว่ามันมีกฎหมายตัวไหนที่รองรับเรื่องนี้อยู่ ก็ไม่มี เป็นระเบียบที่ออกมาลอยๆ ด้วยซ้ำ อันนี้ต้องแยกเป็นคนละกรณีกับพวกที่อพยพหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งกรณีนั้นจะมีกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองรองรับอยู่ แต่กลุ่มนี้ไม่ใช่ เวลาแก้จึงต้องแก้ให้ทะลุทั้งหมด" ชูพินิจบอก

นั่นยังหมายถึงการแก้ไขทั้งทัศนคติ และวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อันถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญของการ คลี่คลายปัญหา ทั้งเรื่องของขั้นตอนการทำบัตรประจำตัวที่ "เยิ่นเย้อ" ทำให้ชาวบ้านต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น หรือกระทั่งวิธีการพิสูจน์สัญชาติด้วยดีเอ็นเอที่กลายเป็นไฟลต์บังคับซึ่ง เขามองว่าเป็นเรื่องค่อนข้าง "เกินจำเป็น"

"เราคิดถึงชุมชนในระบบชนบท ทั้งหมู่บ้าน รู้จักกันหมดอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเขาช่วยกันรับรอง ผมว่าก็น่าจะใช้ได้แล้ว ตัวเจ้าหน้าที่เองก็จะรู้ว่าตัวผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้อาวุโสคนนี้น่าเชื่อถือแค่ไหน ไม่เห็นด้วยเลยที่จะต้องไปใช้ดีเอ็นเอในเงื่อนไขแบบนี้ ทั้งๆ ที่ระเบียบได้มีการเปิดเอาไว้แล้วว่าให้ใช้หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อ พิสูจน์ก็ได้"

ชนวนความหวังที่ดูจะเป็นปากทางออกที่จะนำไปสู่ "ตอนจบ" ของปัญหาได้ภายในเวลา 3 ปี หากได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกฝ่ายในความคิดของชูพินิจนั้น ในทางกลับกันเรื่องนี้ยังคงเป็นคำถาม "คาใจ" ของทุกฝ่ายถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริง เพราะแค่การต่อสู้ของมึดากว่าจะสำเร็จก็กินเวลาไปกว่า 10 ปีแล้ว อาเจมส์ มอญ และมานา ที่เป็นกรณีซับซ้อนยิ่งกว่ายังไม่กล้าคิดถึงความฝันอันสวยงามตรงหน้า

แต่ถ้าเป็นไปได้จริง...

"เรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ/ค่ะ" คำตอบในตาของทั้ง 3 คนทอประกาย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook