นักดื่มเฮ! ศบค.ขยายเวลานั่งดริงก์ในร้านถึง 5 ทุ่ม ปรับพื้นที่สีส้มเหลือ 44 จังหวัด
ศบค.มีมติขยายเวลาให้นั่งดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้ถึง 5 ทุ่มในพื้นที่ 33 จังหวัด พร้อมปรับลดพื้นที่สีส้มเหลือ 44 จังหวัด
วันนี้ (20 ม.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร โดยลดพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จาก 69 จังหวัด เหลือ 44 จังหวัด และเพิ่มพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) เป็น 25 จังหวัด ขณะเดียวกัน ให้คงพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (สีฟ้า) 8 จังหวัด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. สีแดงเข้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 0 จังหวัด
2. สีแดง พื้นที่ควบคุมสูงสุด 0 จังหวัด
3. สีส้ม พื้นที่ควบคุม จากเดิม 69 จังหวัด ให้เหลือ 44 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นครนายก นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พัทลุง เพชรบุรี มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ศรีสะเกษ สงขลา สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี และ อุบลราชธานี
4. สีเหลือง พื้นที่เฝ้าระวังสูง จากเดิม 0 จังหวัด เพิ่มเป็น 25 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ชัยภูมิ นครพนม นครสวรรค์ นราธิวาส บึงกาฬ ปัตตานี พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ยะลา ลำปาง ลำพูน เลย สกลนคร สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู อ่างทอง อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ และ อุทัยธานี
5. สีเขียว พื้นที่เฝ้าระวัง 0 จังหวัด
6. สีฟ้า จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัดคงเดิม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา ภูเก็ต และ (จังหวัดอื่นดำเนินการบางพื้นที่)
ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565
นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ยังเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 16 อีก 2 เดือน หรือตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 มีนาคม 2565
ในขณะที่ การปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 อื่นๆ มีดังต่อไปนี้
1. มาตรการควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ภายหลังที่มีการควบคุม/จำกัดเวลาการบริโภคสุราในร้านอาหาร ทำให้การระบาดลดลง ประกอบกับผู้ประกอบการแจ้งขอขยายเวลาการดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ดังนั้น จึงมีการพิจารณาให้ปรับมาตรการสำหรับการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร หรือสถานที่ที่มีลักษณะเดียวกัน ทั้งในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว และพื้นที่เฝ้าระวังสูง (รวม 33 จังหวัด) ดังนี้
- ขยายเวลาการดื่มในร้านจากเดิมให้ดื่มถึงเวลา 21.00 น. เป็น เวลา 23.00 น.
- การจำกัดประเภทร้านอาหารที่บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่าน SHA+ และ Thai Stop COVID 2 Plus เท่านั้น ตามมาตรการ COVID Free Setting หน่วยงานที่กำกับดูแลต้องมีความเข้มข้น หากพบละเมิดหย่อนยาน หน่วยงานต้องรับผิดชอบ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
2. มาตรการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ให้เป็นไปตามความเหมาะสมและการพิจารณาของหน่วยงาน ไม่ขยายระยะเวลาจากที่กำหนดให้ทำงานที่บ้านจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2565
3. มาตรการลดวันกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้เหลือกักตัว 7 วันที่บ้าน ตรวจสอบอาการป่วยของตนเองทุกวัน ตรวจ ATK ครั้งที่ 1 ในวันที่ 5 หรือวันที่ 6 หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย และสังเกตอาการอีก 3 วัน สามารถออกนอกพื้นที่ได้ ไปทำงานได้ แต่ให้เลี่ยงการเดินทางด้วยรถสาธารณะ หรือเข้าพื้นที่แออัด ป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย
4. การปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าประเทศ พิจารณาให้มีการปรับมาตรการสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติ ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยต้องมี Thailand Pass มีประกันวงเงินคุ้มครองมากกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐฯ มีประวัติรับวัคซีนโควิด-19 ครบถ้วน ตรวจ RT-PCR จากประเทศต้นทาง ผลต้องเป็นลบภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และเมื่อเดินทางมาถึงราชอาณาจักรแล้ว จะต้องปฏิบัติ ดังนี้
- ระบบไม่กักตัว (Test and Go) ให้มีหลักฐานการจ่ายค่าที่พักกับโรงแรมที่มีคู่สัญญากับโรงพยาบาล (รพ.) จำนวน 2 วัน เพื่อรอผลตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง คือวันที่ 1 และวันที่ 5 ของการเดินทาง ซึ่งผู้เดินทางจะต้องจ่ายค่าตรวจเองทั้งหมด เริ่มลงทะเบียน 1 กุมภาพันธ์ 2565 ให้เข้ามาได้ทุกประเทศ มีระบบติดตามตัว และมีระบบเตือนในการตรวจเช็กวันที่ 5 เดินทางเข้าไทยได้ทุกประเทศ จัดระบบการตรวจสอบและตรวจหาเชื้อให้ครบทั้งสองครั้ง โดยต้องอยู่รอในที่พัก/สถานที่ที่กำหนด จนได้รับผลการตรวจ กำหนดระบบประกันให้ชัดเจน กรณีประกันไม่ครอบคลุม ผู้เดินทางจะต้องรับผิดชอบการใช้จ่ายของ Hospital /Hospitel/Hotel Isolation
- การเข้าประเทศในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว หรือแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ให้มีหลักฐานการจ่ายค่าที่พักกับโรงแรมที่กำหนด เป็นเวลา 7 วัน โดยรวมค่าตรวจ RT-PCR จำนวน 2 ครั้งแล้ว และเปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์เพิ่ม ที่ จ.ชลบุรี เฉพาะที่ อ.บางละมุง เมืองพัทยา อ.ศรีราชา อ.เกาะสีชัง อ.สัตหีบ เฉพาะตำบลนาจอมเทียนและตำบลบางเสร่ ส่วนที่ จ.ตราด ที่เกาะช้าง เป็นการเตรียมรองรับระบบ Test and Go
อย่างไรก็ตาม นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขอบคุณทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนที่ร่วมมือกัน ลักษณะการทำงานของ ศบค. ต้องมีแผนล่วงหน้า หากแผนมีปัญหาต้องมีแผนเผชิญเหตุ ขอเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะบทบาทฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ฝ่ายปกครอง หากมีการกระทำผิดจะต้องมีการปิดกิจการ หรือมีบทลงโทษ ต้องให้มีความเข้มข้น เข้มแข็ง หากไม่สามารถทำได้ ต้องพิจารณาบทลงโทษคนที่ย่อหย่อน นายกฯ เน้นเรื่องนี้หลายรอบในที่ประชุม ศบค. ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนที่ต้องขอความร่วมมือ นายกฯ อยากให้บูรณาการสายด่วนรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนให้มีความพร้อม ลดการรอคอยสาย เพื่อให้การช่วยเหลือประสานงานเร็วขึ้น
สำหรับมาตรการในการติดตามแรงงานต่างด้าว ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงทำงานหนักมาก อยากให้เปลี่ยนจากภาระ เป็นพลัง เป็นแรงงานที่ใช้ประโยชน์ ด้วยการยื่นเรื่องทำให้ถูกกฎหมาย นายกฯ มอบให้กระทรวงแรงงานพิจารณาจำนวนแรงงานที่เข้ามาให้เหมาะสม มีมาตรการในการติดตาม และหากมีแอปพลิเคชันติดตามตัวเพื่อควบคุมน่าจะเป็นเรื่องที่ดี
อัลบั้มภาพ 14 ภาพ