โอมิครอนระบาดในไทยครบทุกจังหวัดแล้ว แต่เดลตาทำป่วยหนัก-เสียชีวิต มากกว่า
ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนแล้วกว่าหมื่นราย ผู้ป่วยอาการหนัก-เสียชีวิต ยังคงเป็นเดลตา คาดปลายเดือน ม.ค. การระบาดจะเป็นโอมิครอนทั้งหมด
วันนี้ (21 ม.ค. 65) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า การติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ตรวจพบสายพันธุ์โอมิครอนในไทยครบทั้ง 77 จังหวัด เป็นจำนวน 10,721 ราย โดยจังหวัดที่พบมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร พบทั้งหมด 4,178 ราย รองลงมา คือ จังหวัดชลบุรี ภูเก็ต ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี กาฬสินธุ์ อุดรธานี เชียงใหม่ และขอนแก่น ตามลำดับ
ทั้งนี้ จากการสุ่มตรวจระหว่างวันที่ 11-17 ม.ค. 2565 ในกลุ่มผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศตรวจพบผู้ติดเชื้อเป็นสายพันธุ์โอมิครอนแล้วกว่า 90% ในขณะที่กลุ่มคนทั่วไป พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 80% เป็นสายพันธุ์เดลตาอีก 20%
สำหรับการสุ่มตรวจตัวอย่างจะคัดเลือกจากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มตัวอย่างจากในประเทศ กลุ่มตัวอย่างจากต่างประเทศ กลุ่มที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต กลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ กลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มติดเชื้อซ้ำ กลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ (50 รายขึ้นไป) กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มอื่นๆ ที่สงสัยว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยการสุ่มตรวจจะสุ่มจำนวนตัวอย่างทั้งหมด 140 รายต่อสัปดาห์ ต่อเขตสุขภาพ
แต่ที่น่าสังเกต คือ ในกลุ่มของผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต ยังพบสัดส่วนของสายพันธุ์เดลตากว่า 30% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มทั่วไปถึง 2 เท่า จึงเป็นการพิสูจน์ว่าสายพันธุ์เดลตาทำให้เกิดอาการที่รุนแรงและชีวิตมากกว่าสายพันธุ์โอมิครอน
นอกจากนี้ ในกลุ่มของผู้ที่ติดเชื้อซ้ำจากการตรวจทั้ง 8 ราย พบว่า เป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า ภูมิคุ้มกันจากสายพันธุ์อื่นๆ ไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนได้ ต่างจากสายพันธุ์เดลตาที่มักจะไม่ติดเชื้อซ้ำ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าปลายเดือนมกราคมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะเป็นสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมด
นพ. ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ยังคงเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 แบบถอดรหัสพันธุกรรมต่อไป ซึ่งอาจจะตรวจลดลงใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า แต่ก็ยังจำเป็นต้องทำเพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ รวมทั้งขอเน้นย้ำให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่า ชุดตรวจ ATK ที่ตรวจแล้วพบสายพันธุ์ได้นั้นไม่มีอยู่จริง เนื่องจากทุกยี่ห้อสามารถตรวจได้เช่นกัน
“จำนวนการตรวจจะลดลงเนื่องจากรู้ข้อเท็จจริงแล้วว่าเป็นโอมิครอนเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังคงต้องถอดรหัสพันธุกรรมแบบเต็มตัว เพื่อเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์ อย่างไทยก็พบเดลตาที่เป็นปัญหามากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเรายังคงต้องอยู่กับโอมิครอน ถ้าไม่มีความรุนแรงมาก สุดท้ายทุกอย่างอาจจะง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม โอมิครอนแสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถหลบวัคซีนได้ ดังนั้น ขอให้ประชาชนไปรับวัคซีนเข็ม 3 เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากโควิดทุกสายพันธุ์ และเพื่อลดอาการป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต” นพ.ศุภกิจ ระบุ
ทางด้าน ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวย้ำว่า ประชาชนไม่จำเป็นต้องทราบว่าเชื้อโควิด-19 ที่ตนเองติดนั้นเป็นสายพันธุ์อะไร เนื่องจากการดูแลรักษาไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากสายพันธุ์อื่น แต่สิ่งที่สำคัญคือหากประชาชนติดเชื้อ จะต้องมีการประเมินอาการและแจ้งเข้าระบบ สังเกตอาการตนเองว่าหนักหรือไม่ ซึ่งหากดูแลตนเองให้หายเร็วๆ และทำร่างกายให้แข็งแรง จะช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ ได้
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ