ประยุทธ์ เตรียมเยือนซาอุดีอาระเบีย 25-26 ม.ค.นี้ หลังสัมพันธ์ย่ำแย่กว่า 30 ปี
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของไทย เผยเมื่อคืนอาทิตย์ (23 ม.ค.) ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมเดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียระหว่างวันที่ 25-26 ม.ค. นี้ ในฐานะอาคันตุกะในสมเด็จเจ้าฟ้าโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซิซ อัล ซาอุด มกุฎราชกุมาร แห่งซาอุดีอาระเบีย
ทั้งนี้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของซาอุดีอาระเบียด้วย
กระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุต่อไปว่า การเยือนครั้งนี้นับเป็นการเดินทางเยือนของหัวหน้ารัฐบาลเป็นครั้งแรกระหว่าง 2 ประเทศในรอบกว่า 30 ปี
ส่วนการเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียนั้น มีขึ้นเพื่อกระชับและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ
สัมพันธ์ย่ำแย่ปมลักเพชร-ฆ่านักการทูต
ซาอุดีอาระเบียลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย หลังพนักงานทำความสะอาดชาวไทยที่ทำงานในพระตำหนักของเจ้าชายซาอุดีอาระเบียพระองค์หนึ่ง ขโมยอัญมณีมูลค่าประมาณ 20 ล้านดอลลาร์ (658 ล้านบาท) ออกมา เมื่อปี 2532
ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นนี้ ถูกซ้ำเติมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2533 ที่เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตซาอุดีอาระเบีย 3 คน ที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร
หนึ่งเดือนหลังจากนั้น นายโมฮัมหมัด อัล-รูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ซึงเป็นพระญาติของพระมหากษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบีย ที่เห็นเหตุการณ์การสังหารหนึ่งใน 3 การสังหารนั้น ก็ถูกอุ้มหายไป ซึ่งต่อมามีการจับกุมตำรวจ 5 คน ที่ถูกกล่าวหาว่านำนายอัล-รูไวลี ไปเค้นข้อมูลจนถึงแก่ความตาย
คดีที่เกี่ยวข้องกับนายอัล-รูไวลี สิ้นสุดลงในปี 2562 เมื่อศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ในกรุงเทพมหานคร อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องจำเลย 5 คนในคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจคนดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าหลักฐานของอัยการไม่มีน้ำหนักมากพอ และไม่มีประจักษ์พยานที่ยืนยันว่าจำเลยทั้ง 5 คน ทำให้นายอัล-รูไวลี ถึงแก่ความตาย