ระดมพลังแก้ไข #น้ำมันรั่วมาบตาพุด 1.6 แสนลิตร "อ.ธรณ์" เตือนอย่าให้พัดเข้าฝั่ง
มาสำรวจกันว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์ #น้ำมันรั่วมาบตาพุด ครั้งล่าสุดเมื่อกลางดึกของวันก่อนนั้น (26 ม.ค.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการแก้ไขใดๆ ไปแล้วบ้าง
นายกฯ สั่งระดมกำลัง ลดผลกระทบต่อประชาชน-สิ่งแวดล้อม
วานนี้ (26 ม.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบเหตุน้ำมันดิบรั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกเดี่ยวกลางทะเล ท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง แม้จะสามารถควบคุมการรั่วไหลได้แล้ว แต่นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใย จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ฯลฯ บูรณาการร่วมกับจังหวัด และบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) รับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเหตุดังกล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งขจัดคราบน้ำมันโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด และป้องกันคราบน้ำมันไหลสู่ชายหาด โดยยังได้กำชับให้กระทรวงกลาโหม สนับสนุนกำลังพลและเรือในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มกำลัง พร้อมกันนี้ ยังให้ประเมินผลกระทบทางทะเล และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนประชาชนในการประกอบอาชีพ เพื่อที่ประชาชนจะได้ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติ ไม่เกิดความตื่นตระหนกจากสถานการณ์
“สำหรับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงขอให้รับฟังการแจ้งเตือนจากหน่วยราชการอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้สามารถควบคุมการรั่วไหลของน้ำมันได้แล้ว และกำลังเร่งขจัดคราบน้ำมันในทะเล ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งมือทุกด้านเพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็ว” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
บริษัทฯ แจ้งความคืบหน้า ควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว แต่ยังมีปริมาณน้ำมันในทะเล 5.3 ตัน
ล่าสุด บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟนนั่ง จำกัด (มหาชน) เผยแพร่แถลงการณ์ฉบับที่ 4 เรื่อง พบน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) โดยระบุว่า ตามที่บริษัทฯ แจังเหตุน้ำมันดิบรั่วบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ามันในทะเล (SPM) ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทำเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใด้ ประมาณ 20 กิโลเมตร เมื่อเวลา 21.06 น. ของวันที่ 25 มกราคม 2565
บริษัทฯ ขอรายงานความคืบหน้าว่า บริษัทฯ ได้ทำการคำนวณแรงดัน (Pressure Balance) พบว่ามีปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหลอยู่ที่ประมาณ 20 - 50 ตัน บริษัทฯ ได้ทำการฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน โดยทางเรือและเฮลิคอปเตอร์ของทัพเรือภาคที่ 1 หลังจากนั้นได้ทำการบินสำรวจพบว่า ขณะนี้บริษัทฯ สามารถควบคุมปริมาณคราบน้ำมันให้อยู่ในวงจำกัด และยังคงมีปริมาณน้ำมันอยู่ในทะเลประมาณ 5.3 ตัน
สำหรับการดำเนินงานของโรงกลั่นน้ำมัน บริษัทฯ ยังสามารถเดินเครื่องด้วยความปลอดภัยได้ตามปกติ หากมีความคืบหน้า บริษัทฯ จะรายงานสถานการณ์ให้ทราบเป็นระยะจนกว่าสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
"อ.ธรณ์" เตือนอย่าให้คราบน้ำมันดิบถึงฝั่ง เพราะจะจัดการยากขึ้น
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า กรณีน้ำมันดิบรั่ว 1.6 แสนลิตร ครั้งนี้ เป็นการรั่วนอกชายฝั่ง ห่างไป 20 กิโลเมตร เป็นกรณีคล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นที่เกาะเสม็ด น้ำมันดิบเหมือนกัน รั่วนอกฝั่งเหมือนกัน แต่ปริมาณหนนี้เยอะกว่า
จุดแตกต่างนอกจากปริมาณ คือปัจจัยสิ่งแวดล้อม ลมพัดขึ้นเหนือไม่ค่อยแรง ต่างจากครั้งก่อนที่ลมพัดไปทางตะวันออกค่อนข้างแรง พื้นที่เกิดผลกระทบอาจต่างกัน หนนี้น่าจะเป็นชายฝั่ง เมืองระยอง หาดแม่รำพึง ก้นอ่าว ฯลฯ ตรงนั้นเป็นหาดทรายยาว หากน้ำมันดิบมาถึงหาดทราย อาจเกิดคราบดำบนหาดหรือเกิดก้อนน้ำมันดิบ
การกำจัดคราบน้ำมันจากหาดทรายทำยากมาก เราอาจใช้แผ่นซับ เก็บก้อนน้ำมันดิน ไปจนถึงตักหน้าทรายออก แต่ทุกอย่างยากหมด วิธีดีสุดคืออย่าให้ถึงฝั่ง
ลมค่อนข้างเบา พอมีเวลา ใช้บูมดัก กวาดน้ำมันออก ใช้สารเคมีทำให้จมตัวลง เน้นย้ำว่าสารเคมีต้องใช้ในที่ลึก อย่าใช้ในที่ตื้นเกินไป เพราะน้ำมันกับสารจะแตกตัวไม่ทัน ไปกองที่พื้นก่อน ความลึกแค่ไหนมีในคู่มือการใช้อยู่แล้ว ขอเพียงทำตามและระวังให้มาก เพราะพื้นทะเลแถวนั้นเป็นแหล่งประมงพื้นบ้าน
ตอนนี้หลายท่านลงพื้นที่แล้ว แต่ข้อจำกัดของเราอยู่ที่อุปกรณ์ แม้จะมีการพัฒนาการรับมือจากประสบการณ์คราวก่อน แต่ยังต้องระวังเพราะครั้งนี้ถือว่าเยอะ
ระบบนิเวศหลักๆ ที่ได้ผลกระทบคือหาดทราย พื้นที่เฝ้าระวังอย่างมากคือ เมืองระยองถึงก้นอ่าว หญ้าทะเลอยู่ที่บ้านเพ/สวนสน อาจได้รับผลบ้างแต่คงน้อย เพราะช่วงนี้น้ำไม่ลงต่ำจนแห้ง คราบน้ำมันไม่น่าลงไปบนหญ้าโดยตรง ทิศทางลมไม่ได้ไปทางเกาะเสม็ด แนวปะการังอาจได้รับผลไม่มาก แต่ควรเฝ้าระวังในพื้นที่เดิม เช่น อ่าวพร้าว สรุปแล้วให้เน้นหาดทรายกับพื้นท้องทะเลเป็นหลัก
กรมทะเลฯ เฝ้าระวัง-เร่งสำรวจผลกระทบ
หลังจากที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งกรมควบคุมมลพิษ ได้รับการประสานทางโทรศัพท์จากบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) กลางดึกของเมื่อคืนก่อนว่า มีน้ำมันดิบ 4 แสนลิตร รั่วไหลออกจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเลในบริเวณเขตมาบตาพุด จ.ระยอง จุดเกิดเหตุ คือ บริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล (SPM) ละติจูด 12 องศา 29.3 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 101 องศา 11.76 ลิปดาตะวันออก ทางอธิบดี รองอธิบดี พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างเร่งด่วน และได้รับรายงานจากบริษัท สตาร์ ปิโตรเลี่ยม แจ้งแก้ไขปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลมีปริมาณ 128 ตัน (160,000 ลิตร) เบื้องต้นได้ใช้สารกำจัดมวลคราบน้ำมัน (dispersant) สามารถย่อยสลายไปแล้วร้อยละ 80 คงเหลือคราบน้ำมันอีกประมาณ 21 ตัน โดยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ซึ่งจะไม่ให้พัดพาเข้าเขตชายฝั่ง จ.ระยอง โดยภาพรวมยังไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (แนวปะการัง หญ้าทะเล และป่าชายเลน)
ทั้งนี้ กรม ทช. ได้สั่งการให้นักวิชาการลงพื้นที่สำรวจประเมินผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากมีผลกระทบตกค้างสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็ให้รวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป รวมถึงเร่งหาแนวทางป้องกันและแก้ไขโดยให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
กรมควบคุมมลพิษ ใช้แบบจำลอง OilMap ติดตามกลุ่มน้ำมันเพื่อป้องกันเคลื่อนเข้าฝั่ง
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีน้ำมันดิบไหลลงทะเลประมาณ จำนวน 128 ตัน (160,00 ลิตร) คพ. ได้รับการประสานจากบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) จำเป็นต้องยับยั้งไม่ให้น้ำมันเคลื่อนที่เข้าสู่ฝั่ง เนื่องจากลมมีทิศพัดขึ้นไปทางด้านเหนือ อาจจะมีผลกระทบต่อบริเวณจังหวัดระยองได้
คพ. ได้สนับสนุนการใช้แบบจำลอง OilMap ทำนายการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันในทะเล โดยผลของแบบจำลอง OilMap แสดงให้เห็นว่าหากไม่มีการควบคุมป้องกัน กลุ่มน้ำมันดังกล่าวอาจเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งทะเลบริเวณหาดแม่รำพึงถึงบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ในวันที่ 28 มกราคม 2565 เวลา 17.00 น. ทั้งนี้ ทางบริษัทจึงควรดำเนินการวางแผนในการจัดการคราบน้ำมันดังกล่าว และป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
ผลการคาดการณ์ดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของทิศทางลม ความเร็วลม และกระแสน้ำ โดย คพ.จะประสานรับข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับค่าในแบบจำลองให้ใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงต่อไป
กองทัพเรือ ส่งอากาศยานขึ้นสำรวจ พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ในการขจัดคราบน้ำมัน
พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบใต้ทะเลของ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) มีน้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบ กลางทะเล บริเวณละติจูด 12 องศา 29.3 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 101 องศา 11.76 ลิปดาตะวันออก ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งทางบริษัทฯ แจ้งว่าสามารถควบคุมและหยุดการรั่วไหลได้แล้ว ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ทั้งศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมสิ่งแวดล้อม ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กรมควบคุมมลพิษ รวมถึงกองทัพเรือ ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กองทัพเรือ ได้สั่งการให้ ทัพเรือภาคที่ 1 ส่งเครื่องบินลาดตะเวนขึ้นบินสำรวจคราบน้ำมันทางอากาศ และจัดเรือ ต.273 กับเรือ ต.228 ออกตรวจสอบคราบน้ำมันบนผิวน้ำ นอกจากนั้นได้จัด เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ ขึ้นบินตรวจสอบทิศทางการรั่วไหลของคราบน้ำมัน รวมถึงนำสารเคมี DASIC international SLICKGONE ขึ้นไปโปรยบริเวณพื้นที่เกิดเหตุหน้าท่าเรือมาบตาพุด
นอกจากนั้น ยังได้เตรียมกำลังพล และยุทโธปกรณ์พร้อมในการสนับสนุนหน่วยต่างๆ ในการขจัดคราบน้ำมัน รวมถึงในขณะนี้ได้มีการจัดตั้ง ศูนย์ควบคุมปฏิบัติในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ทัพเรือภาคที่ 1 แล้ว (ศคปน.ทรภ.1)
รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ลงพื้นที่ พร้อมเร่งกำจัดคราบน้ำมัน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย ลงพื้นที่ร่วมประชุมประเมินสถานการณ์ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ สมาคม IESG นำโดย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้บูรณาการปฏิบัติงานร่วมกันในการแก้ไขและยับยั้งการรั่วไหลแพร่กระจายของน้ำมันดิบ ไม่ให้แพร่กระจายไปยังชายหาด หรือบริเวณที่มีประชาชนอาศัยอยู่ เพื่อป้องกันผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม มีการนำใช้เฮลิคอปเตอร์บินขึ้นโปรยสาร Dispersant ลงบนพื้นผิวทะเล เพื่อเร่งขจัดคราบให้สลายตัวโดยเร็วที่สุด
กรมเจ้าท่า โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาระยอง มีการออกคำสั่งระงับใช้งานทุ่นเทียบเรือ Single Point Mooring (SPM) ของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) จนกว่าจะมีการแก้ไข ตรวจสอบความแข็งแรงมั่นคง และความพร้อมของท่อขนส่งน้ำมันใต้น้ำให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ 100%
และประกาศกรมเจ้าท่า ฉบับที่ 4/2565 แจ้งเตือนให้ผู้เดินเรือระมัดระวังการเดินเรือ บริเวณทุ่นท่าเทียบเรือ SPM จังหวัดระยอง ทั้งนี้ ทางบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) จะดำเนินการเร่งขจัดคราบน้ำมันตั้งแต่วันนี้ ไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ
GISTDA ใช้ภาพจากดาวเทียมตรวจสอบคราบน้ำมัน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ใช้ภาพจากดาวเทียม Sentinel-2 ของวันที่ 26 มกราคม 2565 เวลา 10.40 น. พบคราบน้ำมันลอยเป็นกลุ่มก้อนกลางอ่าวมาบตาพุด (กรอบสีเหลือง) คิดเป็นพื้นที่ 11.65 ตารางกิโลเมตร (7,280 ไร่) หรือกว่า 2 เท่าของเกาะเสม็ด ซึ่งคราบน้ำมันดังกล่าวอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลของอำเภอเมืองระยอง ประมาณ 16.5 กิโลเมตร และจากการตรวจสอบทิศทางลม บริเวณอ่าวมาบตาพุด ด้วยแบบจำลอง Global Forecast System หรือ GFS พบว่าระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม 2565 ทิศทางลมมีแนวโน้มเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีระดับความเร็วลมเฉลี่ยอยู่ในช่วง 5-15 เมตร/วินาที ลักษณะดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งเมืองระยอง ชายหาดแม่รำพึง และพื้นที่ชายหาดใกล้เคียง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการวิเคราะห์ ทาง GISTDA จะส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้วางแผน ติดตาม ตรวจสอบในพื้นที่ต่อไป
ผู้ว่าฯ การนิคมฯ เผยคุมสถานการณ์ได้แล้ว สั่งเตรียมรับมือกรณีฉุกเฉินหรือลมเปลี่ยนทิศ
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ภายหลังได้รับข้อสั่งการจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตนจึงเร่งลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ทันที โดยได้รับรายงานประมาณการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลไม่เกิน 1.6 แสนลิตร หรือ 128 ตัน คิดเป็น 0.04% ของน้ำมันในเรือ ขณะที่เรือมีความจุประมาณ 3.2 แสนตัน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังปิดวาล์วที่เกิดเหตุได้สำเร็จ เจ้าหน้าที่ได้ทำการล้อมพื้นที่ที่น้ำมันดิบรั่วไหลในรัศมีไม่เกิน 1 ตารางกิโลเมตร พร้อมทั้งได้มีการฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน (Oil Spill Dispersant) โดยจุดเกิดเหตุนั้นห่างจากชายฝั่งประมาณ 20 กิโลเมตร เบื้องต้นประเมินสถานการณ์ว่าจะส่งผลกระทบไม่มากนัก
“สาเหตุของการรั่วไหลนั้น โดยเบื้องต้นพบว่าท่อดังกล่าวมีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ตามแผนการดำเนินงานของทางบริษัทฯ มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้อาจจะมีการขอดูแผนในการดูแลและบำรุงรักษา รวมถึงอายุการใช้งานของท่อว่ามีอายุการใช้งานเท่าไหร่ จำเป็นต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงแผนให้มีความเหมาะสมหรือไม่ เพื่อจะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มาวางแนวทางให้เข้มงวดมากขึ้น หรือให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมคิดและวางแผนในการดูแลและบำรุงรักษาด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งตนจะรายงานให้นายสุริยะทราบเป็นระยะๆ ” นายวีริศ กล่าว
อัลบั้มภาพ 22 ภาพ