ผู้ว่าฯ อัศวิน ลั่น กทม. ปรับปรุงถนนแล้ว แต่ผู้ใช้รถไม่เปลี่ยน-ยังจอดทับทางม้าลาย
พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ลงแฟนเพจเมื่อวันพุธ (26 ม.ค.) ว่า แม้ปรับปรุงถนน ทางแยก และทางข้ามถนน หลายจุดแล้ว แต่ผู้ใช้รถจำนวนหนึ่งยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม และจอดรถทับทางม้าลายเช่นเดิม
"ที่ผ่านมา กทม. ได้แก้ไขปรับปรุงจุดที่มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนทางม้าลาย ด้วยการเพิ่มสัญลักษณ์เตือน เช่น ทาสีทางม้าลายให้เห็นเด่นขึ้น ตีเส้นชะลอความเร็วแบบสั่นสะเทือน หรือเส้นซิกแซกในช่องจราจรก่อนถึงทางม้าลายเพื่อให้คนขับรถเพิ่มความระมัดระวังขึ้น" พล.ต.อ.อัศวิน โพสต์
"แต่ก็ยังมีคนขับรถบางส่วนที่เมินเฉยสัญลักษณ์เตือนของทางม้าลาย จงใจที่จะฝ่าฝืนกฎจราจร ความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นกับคนเดินถนนแบบนี้ จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าผู้ที่ฝ่าฝืน มีจิตสำนึกและตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนร่วมกัน"
การโพสต์ดังกล่าวมีขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ที่หญิงรายหนึ่ง ที่ต่อมาทราบว่าเป็นจักษุแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง แพทย์หญิง วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ถูกสิบตำรวจตรี นรวิชญ์ บัวดก ขับจักรยานยนต์พุ่งชน ขณะเดินข้ามทางม้าลาย บนถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร หน้าโรงพยาบาลสถาบันไตภูมิราชนรินทร์ เมื่อวันศุกร์ (21 ม.ค.) จน พญ.วราลัคน์ เสียชีวิตในเวลาต่อมา
เผยแยกอโศกมีผู้ใช้รถฝ่าฝืน 1,000 คนต่อวัน
พล.ต.อ.อัศวิน ยกตัวอย่างแยกอโศกมนตรี ใกล้สถานีรถไฟใต้ดินสุขุมวิทว่า ปรับปรุงแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ฝ่าฝืน
"แยกอโศก เป็นแยกที่มีความพร้อมทางกายภาพที่จะสร้างความปลอดภัยเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนได้จริง มีผู้ฝ่าฝืนตั้งแต่เริ่มโครงการจับปรับด้วยเทคโนโลยี AI วันที่ 1 ม.ค. 65 กว่า 25,000 ราย หรืออาจเฉลี่ยวันละ 1,000 ราย"
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรายนี้ เผยว่า เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้เพิ่มการจับและปรับผู้กระทำผิดกฎหมายได้มากขึ้น ด้วยการส่งหลักฐานไปยังตำรวจเพื่อออกใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ส่งถึงหน้าบ้าน
นอกจากแยกอโศกมนตรีแล้ว พล.ต.อ.อัศวิน ระบุว่า จะขยายเทคโนโลยีนี้ไปใช้นำร่องบริเวณทางแยก 10-20 แห่ง และทางข้ามอีกจำนวนหนึ่งในระยะต่อไปด้วย
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่ง แสดงความเห็นในโพสต์ดังกล่าว ชื่นชมถึงการตอบสนองต่อปัญหาของ พล.ต.อ.อัศวิน และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ แต่ก็มีบางส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงรอให้เกิดความสูญเสียขึ้น และไม่นำมาใช้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้