"พาณิชย์" แจงราคาหมูลดแล้ว-"ปศุสัตว์" ยันหากพบกักตุน มีโทษตามกฎหมาย
ประเด็นราคาหมูแพง ยังคงอยู่ในประเด็นความสนใจของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่กำลังเข้าใกล้เทศกาลตรุษจีน ซึ่งเจ้ากระทรวงพาณิชย์ยืนยันสดๆ ร้อนๆ ว่าปัจจุบันราคาลดลงมาแล้ว ส่วนเรื่องมีผู้ประกอบการกักตุนนั้น กรมปศุสัตว์ยืนยันว่าหากพบจะดำเนินคดีตามกฎหมายแน่นอน
ทสท.ฟาดรัฐบาล เอื้อกลุ่มทุนค้าหมูหรือไม่? หลังพบสต๊อกในห้องเย็นกว่า 18 ล้าน กก. แต่ไม่สามารถนำมาขายก่อนตรุษจีน
วานนี้ (27 ม.ค.) นายรณกาจ ชินสำราญ สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย ออกมาตั้งคำถามดังๆ ถึงสถานการณ์เนื้อหมูแพงในขณะนี้ว่า "เหลือเวลาอีก 4 วันก็จะถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่พี่น้องคนไทยเชื้อสายจีนทั้งประเทศ จำเป็นต้องซื้อหมูไปไหว้เจ้า รัฐบาลจะสามารถบอกประชาชนได้หรือไม่ว่า เมื่อถึงวันจ่ายคือวันที่ 30 มกราคม ชาวบ้านจะต้องซื้อเนื้อหมูกิโลละกี่บาทกันแน่
ตอนนี้ราคาหมูหน้าฟาร์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 104 บาท ดังนั้นราคาหมูหน้าเขียงหรือร้านค้าปลีก จึงไม่ควรเกิน 200 บาทใช่หรือไม่? แต่เหตุใดราคาตอนนี้กลับพุ่งสูงขึ้นถึง 220 หรือ 240 บาท จนมีการคาดกันว่ากว่าจะถึงวันตรุษจีน ราคาเนื้อหมูอาจจะทะลุไปถึงกิโลกรัมละ 300 บาทหรือไม่ โดยอ้างเรื่องเนื้อหมูขาดตลาด ทั้งที่เห็นกันชัดเจนว่ามีเนื้อหมูอีกหลายล้านกิโลถูกเก็บอยู่ในสต๊อกห้องเย็นของกลุ่มนายทุน
หลังจากถูกตำหนิเรื่องหมูแพงมหาโหด ตอนแรกมีการให้ข้อมูลว่าหมูขาดตลาดเพราะตายด้วยโรคระบาด แต่เมื่อถูกกดดันให้ตรวจสต๊อกหมูในห้องเย็น กลับพบว่ามีเนื้อหมูแช่แข็งถูกเก็บอยู่กว่า 18 ล้านกิโลกรัม ทั้งที่ยังตรวจห้องเย็นไม่ครบ นี่ถ้าตรวจห้องเย็นจนครบทั้งประเทศ เนื้อหมูแช่แข็งจะมีมากขนาดไหน สื่อบางแห่งบอกว่าอาจสูงถึง 25 ล้านกิโลกรัม ทำไมเนื้อหมูเหล่านี้จึงยังไม่ถูกนำไปขายในท้องตลาด และนี่คือสาเหตุที่ทำให้หมูแพงแบบผิดปกติใช่หรือไม่
นับถอยหลังเหลืออีก 4 วัน จะถึงวันไหว้ตรุษจีนแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่สามารถสั่งให้เอาหมูที่ตรวจพบในสต๊อกห้องเย็นออกมาขายก่อนวันตรุษจีนได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่านายทุนต้องการเก็บเอาไว้ขายในช่วงตรุษจีน ซึ่งจะเป็นช่วงที่เนื้อหมูมีราคาสูงที่สุด แต่รัฐบาลทำได้แค่ออกมาขู่ว่าจะนำเข้าหมูจากต่างประเทศหรือขู่ว่าจะจัดการกับผู้กักตุน แต่ยังไม่เห็นการบังคับใช้กฎหมายกับคนกลุ่มนี้เลย ชาวบ้านจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า นี่คือการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ ทำไมจึงปล่อยให้เนื้อหมูอยู่ในสต๊อกมากมายมหาศาลอย่างนั้น เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีจะต้องมีคำตอบ"
“จุรินทร์” ขอประชาชนเบาใจ ช่วงตรุษจีนราคาเนื้อหมูไม่ขึ้นกว่านี้ หลังกล่อมตรึงราคาหมูเนื้อแดงไม่เกิน 200-210 บาท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาของเนื้อสุกร เนื้อไก่ และสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เจรจากับผู้เลี้ยงหมู ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่างๆ โดยหมูเป็นตรึงราคาไว้ไม่เกินกิโลกรัม (กก.) ละ 100-110 บาท ตอนนี้ลงมาอยู่ที่ 104 บาท ทำให้หมูเนื้อแดงในตลาดไม่ควรจะเกิน กก.ละ 200-210 บาท ซึ่งหมูเนื้อแดง เป็นตัวที่ใช้วัดมาตรฐานด้านราคา เป็นเนื้อในส่วนของเนื้อสะโพก เนื้อไหล่ แต่หมูสามชั้น ก็จะมีราคาสูงกว่าหมูเนื้อแดง ส่วนชิ้นส่วนอื่นๆ ก็ราคาแตกต่างกันไป ซึ่งยังสามารถบริหารจัดการได้อยู่
ทั้งนี้ ยังต้องดูตัวเลขรายละเอียดของหมูทั้งหมดว่าหายไปจากระบบเท่าไร เนื่องจากกรมปศุสัตว์เป็นผู้คุมฟาร์มหมูและผู้เลี้ยงหมู แต่ที่ตรงกันแล้ว คือ ข้อมูลที่ว่าหมูหายไปจากระบบ จึงส่งผลให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้เร่งเพิ่มปริมาณหมูเข้าสู่ระบบแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากมีการฉวยโอกาสเกิดขึ้น กระทรวงพาณิชย์ก็จะต้องดำเนินคดีต่อไป และอยากขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ถ้าพบเห็นการฉวยโอกาสหรือกักตุน ขอให้แจ้งสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 โดยทุกเรื่องที่แจ้ง ท่านจะได้รับการสนองตอบ และปัจจุบันยังมีหน่วยงานเฉพาะกิจ 55 หน่วย ที่จะลงไปตรวจสอบทันที ไม่นับทีมงานจังหวัดต่างๆ ในส่วนภูมิภาค ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และปศุสัตว์จังหวัด ลงไปตรวจสอบด้วย
ส่วนการดูแลราคาไก่และเนื้อไก่ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมร่วมกับทุกฝ่าย ทั้งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ผู้ประกอบการ โรงชำแหละ และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้ข้อยุติว่าจะคุมราคาไก่เป็นหน้าฟาร์มกิโลกรัมละไม่เกิน 40 บาท โดยกระทรวงพาณิชย์จับมือร่วมกับ 3 ห้าง ได้แก่ โลตัส แม็คโคร บิ๊กซี จำนวน 563 สาขา ในการ จำหน่ายไก่สดราคาพิเศษ คือ ไก่สดทั้งตัวไม่เกิน 60-65 บาท น่องติดสะโพกซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดขาย 60-65 บาท น่องแยกสะโพกแยกขายไม่เกินกิโลกรัมละ 65-70 บาท เนื่องจากมีค่าแรงเพิ่มเข้ามาด้วย ส่วนอกไก่ขาย 70-75 บาท เพื่อเป็นทางเลือกและเป็นราคาชี้นำตลอดช่วงระยะเวลานี้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ปศุสัตว์ยืนยัน! หากพบกักตุน จะดำเนินคดีตามกฎหมายแน่นอน
เมื่อสอบถามไปยังกรมปศุสัตว์ ได้รับข้อมูลว่า ตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 23 ม.ค. มีการติดตามตรวจสอบปริมาณสุกรในห้องเย็นทั่วประเทศอย่างเข้มงวด โดยเป็นการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ปกครอง และเจ้าหน้าที่พาณิชย์ โดยดำเนินการไปแล้ว 539 แห่ง (ตัวเลขสะสมนับตั้งแต่วันที่ 20-23 ม.ค.) พบเนื้อสุกรรวม 13.41 ล้านกิโลกรัม และกรมฯ จะเดินหน้าตรวจสอบห้องเย็นที่มีสินค้าปศุสัตว์ที่เหลือให้ครบ ซึ่งจะมีอีกประมาณห้าร้อยกว่าแห่ง หากตรวจสอบโดยละเอียดพบมีการกักตุน ผู้กระทำผิดจะถูกดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด และเนื้อสุกรจะถูกสั่งให้จำหน่ายตามราคาที่ทางการกำหนดต่อไป
สำหรับข้อมูลการเลี้ยงสุกรในปัจจุบัน ณ เดือน ม.ค. 2565 กรมปศุสัตว์รายงานว่า มีเกษตรกรผู้เลี้ยง 1.07 แสนราย จำนวนสุกร 10.84 ล้านตัว แบ่งเป็น สุกรพ่อพันธุ์ 4.9 หมื่นตัว สุกรแม่พันธ์ุ 9.79 แสนตัว และสุกรขุน 9.56 ล้านตัว
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า จำนวนสุกรทั้งหมดลดลง 11.81% แยกเป็น สุกรพ่อพันธุ์ลดลง 41.1% สุกรแม่พันธ์ุลดลง 11.16% จำนวนสุกรขุนลดลง 13.9%
และในปีนี้ มีการขยายการเลี้ยงสุกรในพื้นที่ใหม่ ส่วนพื้นที่เดิมที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญมีการเลี้ยงลดลง ฟาร์มขนาดกลางมีจำนวนเกษตรกรเพิ่มขึ้นและขยายการเลี้ยงเพื่อให้ได้ปริมาณที่เหมาะสม ส่วนฟาร์มขนาดใหญ่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่แต่เป็นการเลี้ยงที่ลดความหนาแน่นของสุกรในฟาร์ม ควบคู่ไปกับการป้องกันการกักตุนเนื้อสุกร รัฐบาลยังเร่งดำเนินการหลายมาตรการเพื่อแก้ปัญหาเนื้อสุกรราคาแพง
ทั้งนี้ หากพบการกักตุนหรือฉวยโอกาสขึ้นราคา จะถูกดำเนินคดีขั้นสูงสุด กรณีที่ตรวจพบว่า มีการรายงานตัวเลขการครอบครองเนื้อสุกรไม่ตรงกับที่แจ้งพาณิชย์จังหวัด จะเข้าข่ายเป็นการกักตุนหรือไม่นั้น เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า กรณีที่ไม่แจ้งปริมาณสต๊อกถือว่ามีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 2,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน ส่วนในกรณีที่แจ้งแล้วต้องตรวจสอบต่อไปว่าแจ้งด้วยข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ หากแจ้งด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ จะมีความผิดอีกเช่นกัน
นอกจากนี้ หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกักตุน ซึ่งหมายถึงการปฏิเสธการจำหน่าย ทั้งที่มีสินค้าและมีผู้ขอซื้อสินค้าเข้ามาแต่ไม่จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากประชาชนพบการกระทำความผิดหรือสงสัยว่าเป็นการกระทำความผิด ขอให้แจ้งสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือ สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ลงไปตรวจสอบและดำเนินการได้ทันที