"หมอเวร" วอนผู้มีอำนาจหาทางแก้ "วัคซีนโควิดติดดอย" คืนเงินไม่ได้-ขายไม่ออก

"หมอเวร" วอนผู้มีอำนาจหาทางแก้ "วัคซีนโควิดติดดอย" คืนเงินไม่ได้-ขายไม่ออก

"หมอเวร" วอนผู้มีอำนาจหาทางแก้ "วัคซีนโควิดติดดอย" คืนเงินไม่ได้-ขายไม่ออก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"หมอเวร" วอนผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ เร่งหาทางออกกับปัญหาการจัดการคิวฉีดวัคซีนโควิดของโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากปัจจุบันประชาชนตกอยู่ในสภาวะ "ติดดอย" จะขอเงินคืนก็ไม่ได้ จะขายต่อให้คนอื่นก็ลำบาก

เมื่อคืนนี้ (30 ม.ค.) เพจเฟซบุ๊ก "หมอเวร" โพสต์บทความซึ่งเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการจัดการคิวฉีดวัคซีนโควิดของบรรดา รพ.เอกชน กับประชาชน ที่กำลังรอการแก้ไขอยู่ในเวลานี้ ตามรายละเอียด ดังนี้

"อีกหนึ่งประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้เรื่องใครลาออกจากรายการตอนนี้ ก็คือเรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่หลายคนจองกับทาง รพ.เอกชนไว้ แล้วใกล้ถึงวันหมดอายุที่จะต้องไปฉีดวัคซีน แล้วขอคืนเงินไม่ได้ ขายก็ขายไม่ออก บอกตามตรงว่าอันนี้เป็นเรื่องใหญ่อยู่พอสมควร แถมเห็นใจทั้งฝั่งคนจองและทางโรงพยาบาลทั้งคู่

เอาแบบให้เห็นภาพเผื่อหลายคนลืมไทม์ไลน์กันไปแล้ว เมื่อประมาณช่วงกลางปีที่แล้วที่ไทยเรายังมีวัคซีนให้เลือกฉีดไม่กี่ยี่ห้อ (แถมมีจำนวนไม่พอ) รพ.เอกชนหลายที่ก็พยายามหาวัคซีนทางเลือกยี่ห้อต่างๆ ให้เข้ามาในประเทศให้ไวที่สุด สุดท้าย รพ.เอกชนก็นำเข้าว้คซีนทางเลือกเข้ามาผ่านหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากทางบริษัทฯ จะขายผ่านรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งตอนนั้นคนก็ดีใจกันที่ประเทศเรามีวัคซีนทางเลือกแล้ว คนแห่จองวัคซีนเอกชนกันเพียบเพราะไม่อยากรอลุ้นของฟรีจากรัฐบาล

แน่นอนว่าการสั่งของที่เป็นที่ต้องการทั่วโลกแบบนี้ ใครอยากได้ของก่อนก็ต้องจ่ายเต็มจำนวนไปก่อน แถมเงื่อนไขยังมีเพิ่มขึ้นอีก จ่ายตังค์แล้วยังไม่ได้ของห้ามโวยวายแถมห้ามขอเงินคืนนะ ถ้ารับได้ค่อยดีลกัน แน่นอนว่าสถานการณ์ตอนนั้นประเทศเราก็เหมือนคนกำลังจะจมน้ำตาย คว้าอะไรได้ก็ต้องเอาไว้ก่อน เราเลยได้ดีลมาแบบนั้น และ รพ.เอกชนก็เอาดีลนี้ไปสร้างเงื่อนไขให้กับผู้ที่ต้องการจะจองวัคซีนด้วย เพราะวัคซีนเป็นสินค้าที่มีอายุไขสั้น บางล็อตอยู่ได้แค่สองสามเดือนก็หมดอายุแล้ว ล็อตไหนโชคดีหน่อยก็อาจจะลากได้ถึง 6 เดือนก็ว่ากันไป หลังจากที่เราเจอโรคไส้เลื่อนของบริษัทวัคซีนที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ไปๆ มาๆ สรุปกว่าวัคซีนล็อตแรกจะมาก็ปาไปช่วงปลายปีนู่นเลย

ในที่สุดตุลาคมปีที่แล้ววัคซีนที่สั่งจองล็อตแรกก็เข้ามาถึงไทยได้ทันเวลา แต่ทว่าวัคซีนล็อตนี้โดนหลายคนหลายองค์กรปาดหน้าเค้กไปพอสมควร ทำให้ รพ.เอกชนก็ได้วัคซีนล็อตแรกมาจำกัดมาก ก็จะจัดสรรคิวฉีดให้ตามลำดับก่อนหลัง อีกทั้ง รพ.เอกชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ศูนย์ฉีดว้คซีนที่จัดตั้งขึ้นมาเฉพาะทางที่ให้บริการฉีดวัคซีนอย่างเดียว รพ.ต้องมีหน้าที่ทั้งดูแลคนไข้จากโรคทั่วไปอื่นๆ ต้องรับเคสคนไข้โควิดที่มีอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นการแบ่งกำลังคนและจัดหาสถานที่ที่จะมาให้บริการวัคซีนต่อวันจึงมีจำกัด ทำให้คนจองฉีดท้ายๆ กว่าจะได้คิวฉีดก็ปาไปเดือนไกลๆ โน่นเลย

อันนี้เลยเป็นเหตุผลต่อเนื่องว่าคนที่จองวัคซีนแต่เนิ่นๆ หรือจองก่อนแต่ดันไม่ได้ฉีดเกิดความอิหยังวะ และสงสัยในใจว่าควรเอาไงต่อดี? แน่นอนว่าคนที่กังวลเรื่องการติดเชื้อมากในตอนนั้น ก็ทยอยเข้าฉีดวัคซีนที่มีในระบบกันไปก่อนแล้ว ตัวไหนก็ได้ขอฉีดไว้ก่อนเถอะ ซึ่งหมอเวรก็เข้าใจในสถานการณ์ตอนนั้นดี

แต่พล็อตก็มาหักมุมอีกรอบ เพราะหลังไปฉีดวัคซีนฟรีแล้ว ก็ได้รับการแจ้งจากโรงพยาบาลที่จองไว้ว่าสามารถมารับวัคซีนได้ ครั้นจะไปฉีดเลยก็ไม่ได้ เนื่องจากเพิ่งฉีดมาต้องเว้นระยะไปก่อน แต่จะขายต่อก็ลำบาก เพราะช่วงหลังๆ วัคซีนมีเพียงพอแล้ว แถมได้ฉีดฟรีอีก จึงเป็นที่มาของสถานการณ์ตอนนี้ ที่หลายคนติดดอยวัคซีน และพยายามอยากจะขอเงินคืนจาก รพ.เอกชน

ในมุมคนจองวัคซีน หมอเวรขอแบ่งออกเป็น 2 กรณี

  1. คนที่ไม่ได้ฉีดตามเวลาที่กำหนด เพราะเข้าใจว่าอีกนานกว่าจะถึงคิวตัวเอง มีคิวฉีดตัวไหนก็ฉีดๆ ไปก่อน พอฉีดเสร็จดันชนกับคิวฉีดวัคซีนที่จองไว้ของ รพ.เอกชนพอดี ก็ต้องพยายามขายวัคซีนออกให้ได้ หรือไม่ก็ต้องหาคนรู้จักมารับไม้ต่อสิทธิ์ที่ตัวเอง F เอาไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งกรณีนี้ก็น่าเห็นใจอยู่
  2. อีกกลุ่มคือคนที่ได้คิววัคซีนที่จองแล้ว แต่ตั้งใจไปฉีดของฟรี แล้วพยายามเนียนขอเงินคืนกับวัคซีนที่ตัวเองจองไว้แล้วที่ รพ.เอกชน เคสหลังเนี่ยพูดกันตรงๆ ว่าจะโทษหรือเรียกร้องอะไรไม่ได้ เนื่องจากเลือกที่จะทิ้งเอง เหมือนกับเราจองตั๋วเครื่องบินหรือจองโรงแรมไว้ แต่อยู่ๆ เกิดเหตุให้ไปไม่ได้ เลยต้องจำใจทิ้งตั๋วนั่นแหละ ซึ่งแบบนั้นเราก็ไม่สามารถไปเรียกร้องให้โรงแรมหรือสายการบินคืนเงินค่าตั๋วให้เราได้ จริงมั้ย

หลายคนที่หมอเวรเคยคุยถามเหตุผลว่าทำไมวัคซีนขอเงินคืนไม่ได้ หลักๆ เลยก็คือ วัคซีนมันบูดได้เหมือนที่บอกไปตอนต้น ถ้าจองสิทธิ์ไว้แล้วไม่ฉีด พอมันหมดอายุ รพ.จะไปขอเงินคืนจากบริษัทที่ขายก็ไม่ได้ นั่นจึงเป็นที่มาของข้อกำหนดที่ว่า ซื้อแล้วไม่รับคืนนั่นเอง

แต่ว่า รพ.เอกชนส่วนใหญ่ก็ยืดหยุ่นให้สามารถโอนสิทธิ์ไปให้กับคนอื่นได้นะ เพราะถ้าต้องจ่ายเงินคืนทุกเคส รพ.เอกชนขาดทุนย่อยยับแน่นอน และในอนาคตหากมีวิกฤตเกิดขึ้นแบบนี้อีก ก็คงไม่มี รพ.เอกชนไหนกล้าออกมาช่วยเหลือ มาออฟเฟอร์ประชาชนให้ในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้อีกแล้ว เพราะทำไปก็เข้าเนื้อหรือเจ็บตัวเปล่าๆ ปล่อยให้เป็นหน้าที่การจัดการของรัฐบาลคงจะดีกว่า

สรุปโพสต์นี้ที่เขียนมายาวเหยียดเนี่ย หมอเวรอยากให้มันเกิดแรงกระเพื่อม ว่าถ้าคนอยากขอเงินคืนจากวัคซีนที่จองไปแล้วเนี่ย อยากให้เข้าใจมุมมองฝั่งคนที่จัดการเรื่องนี้บ้างสักนิดก็ยังดี หรืออย่างน้อยก็อยากส่งต่อชุดข้อมูลนี้ให้ไปถึงผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการเจรจาต่อรองกับบริษัทวัคซีนเพิ่มเติม ว่าอย่าเพิ่งรีบส่งวัคซีนล็อตใหม่ อย่างน้อยก็ช่วยยืดเวลาหมดอายุของวัคซีนออกไปได้อีกหน่อย

รพ.เอกชนก็จะไม่เข้าเนื้อจากเหตุการณ์วัคซีนบูดที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ อาจจะเอาไปแลกกับประเทศอื่นก่อน แล้วรอล็อตหลังเข้ามาเสริม ก็จะช่วยยืดเวลาสำหรับคนที่จะขอเงินคืนต่อไปได้อีกหลายเดือนจนอาจทันเข็มบูสเตอร์ถัดไปก็ยังดี"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook