แอมเนสตี้แถลงในวาระครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารในเมียนมา

แอมเนสตี้แถลงในวาระครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารในเมียนมา

แอมเนสตี้แถลงในวาระครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารในเมียนมา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงเนื่องในวาระก่อนครบหนึ่งปีของการทำรัฐประหารในเมียนมา 1 กุมภาพันธ์ 2564 ระบุ หากประชาคมระหว่างประเทศยังคงประวิงเวลา ไม่จัดการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งรวมไปถึงการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วงจนทำให้เกิดการเสียชีวิตในปีที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนมากจะต้องทนทุกข์ทรมาน และวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนเช่นนี้อาจจะเลวร้ายลงไปอีก

มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า พอกันที ประชาชน 55 ล้านคนของเมียนมาจะต้องไม่เผชิญกับอีกหนึ่งปีที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกพากันปัดความรับผิดชอบและนิ่งดูดาย ต้องมีปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมโดยทันที เพื่อเอาผิดกับกองทัพ และเพื่อขัดขวางไม่ให้พวกเขาเข้าถึงอาวุธที่ถูกนำไปใช้เพื่อปฏิบัติการมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ไม่เช่นนั้น ความตายและความทุกข์ยากในเมียนมาที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารจะยังดำรงอยู่ต่อไป

“ในโอกาสใกล้วาระครบรอบหนึ่งปีของรัฐประหาร กองทัพได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศอย่างไม่เลือกเป้าหมาย ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตในภาคตะวันออกเฉียงใต้ มีการขัดขวางการเข้าถึงความช่วยเหลือ และยังคงปฏิบัติการนองเลือดเพื่อโจมตีนักกิจกรรมและผู้สื่อข่าว ซึ่งมีทั้งที่ถูกควบคุมตัวและสังหารระหว่างการควบคุมตัว รัฐบาลหลายประเทศยังคงเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพิกเฉยต่อการทารุณกรรมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ซึ่งเหมือนกับครั้งที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อชาวโรฮิงญา ส่งผลให้กองทัพปฏิบัติการอย่างไร้ความละอายมากขึ้น กระทำการโดยไม่ต้องรับผิดในระหว่างการกวาดล้างฝ่ายต่อต้านการปกครองของตน

“ประชาชนชาวเมียนมาอยู่ในภาวะสิ้นหวัง และเริ่มตระหนักถึงความจริงเกี่ยวกับความช่วยเหลือจากนานาชาติ มีขั้นตอนที่ชัดเจนเพื่อการดำเนินงานเพื่อขัดขวางไม่ให้กองทัพเมียนมาปฏิบัติการที่โหดร้ายและมุ่งประหัตประหารได้ต่อไป คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต้องหยุดประวิงเวลา และต้องประกาศใช้มาตรการห้ามซื้อขายอาวุธระดับโลก และใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อผู้นำกองทัพ และจะต้องส่งกรณีของเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วน

"นอกจากนั้น บริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับกองทัพ หรือหน่วยงานธุรกิจของกองทัพ ต้องถอนตัวออกมาเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้กองทัพมีรายได้ที่นำไปใช้ในปฏิบัติการเข่นฆ่าประชาชนต่อไป

“ในภูมิภาคนี้ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต้องทำหน้าที่อย่างมีเอกภาพต่อกรณีเมียนมา และเรียกร้องให้กองทัพยุติการใช้ความรุนแรงกับพลเรือนโดยทันที อาเซียนยังควรกดดันกองทัพให้ยุติการปิดกั้นการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และขยายเนื้อหาและดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อที่มีกรอบเวลาชัดเจน และมีการรับรองเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมายังคงมีแต่ความล้มเหลว

“ในปีใหม่นี้ ต้องมีการเปลี่ยนแนวทางเพื่อจัดการกับเมียนมา โดยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวเมียนมา ต้องมีการตรวจสอบเพื่อหาคนมารับผิดชอบต่อผลการการกระทำของตัวเอง และต้องไม่เพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิและปฏิบัติการมิชอบที่เกิดขึ้นในเมียนมาอีกต่อไป”

กองทัพเมียนมายึดอำนาจโดยการทำรัฐประหารช่วงเช้ามืดของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นับแต่นั้นมา กองทัพได้สังหารประชาชนกว่า 1,400 คน และจับกุมกว่า 11,000 คน โดยปัจจุบันยังมีผู้ถูกควบคุมตัวอยู่อีกกว่า 8,000 ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ความรุนแรงที่น่าตกใจเช่นนี้สอดคล้องกับแบบแผนอาชญากรรมที่เคยเกิดขึ้นและมีการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศที่กระทำต่อชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ในประเทศ รวมทั้งชาวคะฉิ่น ฉาน และโรฮิงญา

ก่อนหน้านี้คณะสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเมียนมาขององค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ต้องเข้ารับการสอบสวนและดำเนินคดีในข้อหาอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

อองซาน ซูจี อดีตผู้นำพลเรือนได้ถูกศาลตัดสินจำคุก 6 ปีในข้อหาที่กุขึ้นมา และอาจได้รับโทษจำคุกกว่า 100 ปี หากศาลตัดสินว่ามีความผิดในทุกข้อหาที่เหลือ ผู้ใกล้ชิดหลายคนของเธอ รวมทั้งประธานาธิบดีวิน มยินต์ ได้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาที่กุขึ้นมาแบบเดียวกัน

ภายหลังการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้ประท้วงอย่างสงบ ฝ่ายต่อต้านกองทัพได้ก่อตั้งกองกำลังป้องกันประชาชน ซึ่งอ้างว่าได้สังหารทหารหลายร้อยนาย ทั้งการยิงปืน การใช้ระเบิด และการซุ่มยิง

นอกเหนือจากความโกลาหลที่เกิดขึ้นกับหลายเมืองใหญ่และเมืองเล็กทั่วประเทศภายหลังการทำรัฐประหาร ความไม่มั่นคงด้านเศรษฐกิจและอาหาร รวมทั้งปัญหาท้าทายจากการระบาดครั้งใหญ่ (ของโรคโควิด-19) ส่งผลให้ประชาชนหลายล้านคนประสบความอดอยาก อีกหลายแสนคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ และอีกหลายพันคนต้องหลบหนีข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook