พิษ มาบตาพุด ตกงาน 1.9 แสนคน เล็งยื่นฟ้องรัฐ
เอกชนเล็งฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐ ชี้กระทบหนักทั้งสภาพคล่องและการจ้างงาน คลังประเมินตกงาน 1.9 แสนคน
ความคืบหน้าหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับการดำเนินงานชั่วคราวของ 65 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และให้ 11 โครงการสามารถดำเนินการต่อไปได้นั้น ล่าสุดวันที่ 4 ธันวาคม แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า การชะลอ 65 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยภาคเอกชนอยู่ระหว่างเตรียมการที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาล เพราะการชะลอโครงการไม่ใช่แค่การหยุดก่อสร้างเท่านั้น แต่บริษัทจะต้องมีค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้าง และเมื่อโครงการไม่เดินสถาบันการเงินก็ไม่ปล่อยกู้ ทำให้ผู้ประกอบการมีปัญหาสภาพคล่อง ลามถึงบริษัทผู้รับเหมาและที่หลีกเลี่ยงผลกระทบไม่พ้นก็คือ จะต้องกระทบกับการจ้างงานค่อนข้างมาก เพราะโครงการทั้งหมดมีมูลค่ารวมกันกว่า 2 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ บางโครงการก็ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับลูกค้า และหากไม่สามารถดำเนินการได้ตามคำสั่งล่วงหน้า ผู้ประกอบการในโครงการดังกล่าวก็ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าผิดสัญญาให้แก่คู่ค้า ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการในโครงการที่ถูกสั่งให้ชะลอการก่อสร้างนั้น จำเป็นต้องฟ้องร้องรัฐ เพื่อให้เข้ามาชดเชยความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
"ผู้ประกอบการคงต้องฟ้องเรียกค่าชดเชยจากรัฐบาล เพราะผลกระทบเกิดขึ้นตามมามากมาย และแม้ตอนนี้จะไม่เห็นภาพการถอนเงินลงทุนออกจากประเทศไทยอย่างชัดเจน แต่นักลงทุนชาวญี่ปุ่นและไต้หวัน บางกลุ่มเริ่มไปศึกษาข้อมูล กฎระเบียบการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว จากก่อนหน้านี้มองว่าประเทศไทยน่าลงทุนที่สุดในย่านนี้ และมีความคุ้นเคยกับกฎกติกา ซึ่งหากปัญหามาบตาพุดยังไม่มีทางออกให้แก่ผู้ประกอบการในเร็วๆ นี้ เชื่อว่าความสนใจการลงทุนในไทยหายไปแน่" แหล่งข่าวกล่าว
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าจะมีเรื่องการฟ้องร้อง แต่ได้พยายามแก้ไขปัญหา โดยให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน และเห็นว่าการฟ้องร้องกันจะยิ่งทำให้ปัญหามีความยืดเยื้อ ส่วนกรณีผลกระทบเรื่องความเชื่อมั่นและนักลงทุนอาจย้ายฐานการผลิตนั้น ได้มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานประเมินผลกระทบ รวมทั้งความเสียหายจากกรณีการระงับโครงการลงทุนดังกล่าวแล้ว
ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง วิเคราะห์ถึงผลกระทบจากกรณีนี้ว่า ส่งผลให้การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการต้องสะดุด โดย 65 โครงการที่ต้องถูกระงับการลงทุนมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2.3 แสนล้านบาท จากมูลค่าทั้งหมด 2.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 80% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด อีกทั้งคิดเป็น 2.5% ของจีดีพี
ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ พบว่า ในกรณีกระทบเล็กน้อยจีดีพีจะลดลงประมาณ 0.2% ต่อปี และการจ้างงานทั้งประเทศลดลง 6.6 หมื่นคน และในกรณีกระทบรุนแรงจีดีพีจะลดลงประมาณ 0.5% ต่อปี และการจ้างงานทั้งประเทศลดลง 1.93 แสนคน