“ข้อกำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์” เมื่อหมอร้องขอเวลาพักเบรก

“ข้อกำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์” เมื่อหมอร้องขอเวลาพักเบรก

“ข้อกำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์” เมื่อหมอร้องขอเวลาพักเบรก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • โดยทั่วไปแพทย์จะเข้าทำงานในเวลาราชการ 8.00 - 16.00 น. ตามด้วยการเข้าเวรดึก ซึ่งทำเป็นวงจรติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ และประสิทธิภาพในการทำงาน
  • สาเหตุหลักที่แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ คือบุคลากรทางการแพทย์มีจำนวนไม่เพียงพอในระบบราชการ
  • ทางออกหนึ่งของปัญหาแพทย์ทำงานหนักเกินมาตรฐาน คือการกำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ และนำตัวเลขบุคลากรที่ยังขาดไปต่อรองกับรัฐ เพื่อให้อนุมัติตำแหน่งงานและงบประมาณเพิ่ม

“แพทย์” หนึ่งในอาชีพยอดนิยมของสังคมไทยที่ถูกยกย่องให้เป็นอาชีพของคนเก่งที่มีทั้งความเมตตาและเสียสละ พร้อมใช้ความรู้ความสามารถในการ “รักษาชีวิต” แต่หลายครั้งเรากลับได้เห็นเรื่องราวการสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ ความผิดพลาดในการรักษาพยาบาล รวมทั้งภาพความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ใช้บริการในโรงพยาบาล ที่ลุกลามเป็นดราม่าและถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ทว่าเรากลับไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวเบื้องหลังกรณีที่เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเหล่านี้ ที่เป็นผลมาจากปัญหาก้อนใหญ่ที่สะสมอยู่เบื้องลึก และไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาแก้ไขอย่างจริงจัง

แพทย์ไทยทำงานหนักแค่ไหน

“เวรเยิน” “เวรยิงยาว” ศัพท์เฉพาะของเหล่าแพทย์ที่หมายถึงการเข้าเวรทำหน้าที่เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องกัน ที่คนทั่วไปอาจจะจินตนาการไม่ออกว่าแพทย์ทำงานกันกี่ชั่วโมงต่อวัน รู้แค่ว่าไม่ว่าจะไปโรงพยาบาลเวลาไหนก็จะได้พบแพทย์ที่เข้าเวรอยู่ทุกครั้ง

แพทย์ตอนนี้ทำงานเกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น จริงๆ แล้วคือเราไม่มีมาตรฐานเลยด้วยซ้ำ นโยบายกำหนดมาให้ทำงานอย่างไร ก็ทำงานตามนั้น ไม่มีสิทธิต่อรอง” รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา และหนึ่งในผู้ผลักดันการกำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ เริ่มเล่าถึงภาพรวมการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในปัจจุบัน ที่ส่งผลไปถึงภาระงานอันหนักหน่วงของแพทย์ทั่วประเทศมาเป็นเวลานาน

นพ.เกียรติยศ แพทย์จบใหม่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะต้องเข้าทำงานในเวลาราชการ 8 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น ทุกวัน ส่วนเวลา 4 โมงเย็น ถึง 8 โมงเช้าของวันธรรมดา หรือ 8 โมงเช้าของวันหยุด ก็จะนับเป็น 1 เวร โดยขณะนี้โรงพยาบาลที่เขาทำงานอยู่มีแพทย์อยู่เพียง 2 คน และใช้วิธีสลับกันเข้าเวรคนละครึ่งเดือน

รศ.นพ.เมธี ได้บอกเล่าประสบการณ์ “เวรยิงยาว” สมัยที่ทำงานในโรงพยาบาลต่างจังหวัดว่า

สมัยอยู่ต่างจังหวัด อยู่เวรไม่ใช่ 24 ชม. ติดกัน ไม่ใช่ 48 ชม. แต่อยู่เวร 30 วันติดกัน เพราะว่าหมอผ่าตัดสมองไม่มีใคร เป็นคนเดียวที่ดูแล 10 จังหวัด ผ่าตัดสมองคนเดียวในรอบๆ 10 จังหวัด ทุกวันที่เกิดอุบัติเหตุ มอเตอร์ไซค์ล้ม อุบัติเหตุทางสมอง ผู้ป่วยจะถูกส่งเข้ามา และไม่มีสิทธิปฏิเสธ ปฏิเสธเมื่อไร มีปัญหาทันที” รศ.นพ.เมธีกล่าว

ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ก็ได้แบ่งปันเรื่องราวสมัยยังเป็นแพทย์จบใหม่ และเป็นหนึ่งในแพทย์เพียง 2 คน ของโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา ว่า ขณะนั้นประชากรในอำเภอมีอยู่ประมาณ 50,000 คน ซึ่งเท่ากับว่าอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรในพื้นที่อยู่ที่ประมาณ 1:25,000

“ตอนนั้นไม่เป็นประเด็น แม้ว่าเราจะทำงานหนักมาก คืออยู่เวรวันเว้นวัน ถ้าเป็นศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ควบไปเลย 3 วัน เพื่อให้เพื่อนอีกคนได้กลับบ้าน ถ้ามีคนไข้เราก็ดูคนไข้ ไม่มีคนไข้เราก็นอน ตื่นมาเช้าวันจันทร์เราก็ต้องทำงานอีก 8 ชม. ก็ตรวจคนไข้ต่อ ซึ่งวิถีแพทย์ก็เป็นแบบนี้มาตลอด ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นอยู่ส่วนใหญ่ ซึ่งอันนี้ก็ชัดเจนว่ามันโอเวอร์โหลด”

ด้านแพทย์หญิงเจ้าของเพจ “แพทย์สาว” ก็สะท้อนภาพการทำงานที่เกินระดับยอดมนุษย์ของบุคลากรทางการแพทย์ว่า

“สมมติว่าเราทำงานเกินเวลา ไม่ได้นอน 48 ชม. แต่มันไม่มีคนมาแทนเรา แล้วเราดูแลคนไข้อยู่ 3 คน คนหนึ่งความดันตก คนหนึ่งติดเชื้อในกระแสเลือด อีกคนต้องผ่าตัดด่วน แต่ว่าหมอไม่พอ หมอในระบบมีแค่นี้ ก็ต้องทำต่อ เราเคยเจอเพื่อนท้องเสีย ก็ให้น้ำเกลือ แล้วก็นั่งตรวจต่อ เจอแบบนี้บ่อยมาก”

สำหรับค่าตอบแทนของอาชีพ “ผู้เสียสละ” นั้น นพ.เกียรติยศอธิบายว่า อัตราค่าตอบแทนของแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐแต่ละแห่งจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเงินสนับสนุนของรัฐ โรงพยาบาลบางแห่งให้ค่าเวรเหมา 8 ชม. 550 บาท บางโรงพยาบาลอาจจะให้ 1,100 บาท โรงพยาบาลที่มีแผนกฉุกเฉินขนาดใหญ่ ต้องรับคนไข้เยอะก็อาจจะให้ถึง 2,200 บาท ต่อ 8 ชม.

ทำไมแพทย์ไทยต้องทำงานหนัก

สาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้แพทย์ในประเทศไทยต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ หากพูดกันทั่วไปคือ “แพทย์มีจำนวนไม่เพียงพอ” ทั้งที่จริงแล้วประเทศไทยมีอัตราการผลิตแพทย์ต่อปีเป็นจำนวนมาก

“ตอนนี้เรามีแพทย์อยู่ประมาณ 6 หมื่นคน แต่แพทย์ที่ทำงานจริงๆ อายุประมาณไม่เกิน 50 ปี ที่สามารถทำงานได้ค่อนข้างดี ก็จะมีอยู่ประมาณสัก 3 – 4 หมื่นคน รองรับประชากรประมาณ 60 – 70 ล้านคน สัดส่วนมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกอยู่ที่ 1:1,000 ถ้าเอาตัวเลขนี้แบบดิบๆ จะอยู่ที่ประมาณสัก 1 ต่อพันกว่าๆ ก็แปลว่าเราขาดแพทย์ไม่มาก อัตราการผลิตแพทย์ในปัจจุบันนี้ ปีละ 3,000 คน ถ้าผลิตในอัตรานี้ ในอีก 2 – 3 ปี ตัวเลขเราจะได้มาตรฐานทันทีคือ 1:1,000 แต่ที่เกิดปัญหาคือ แพทย์ไม่ได้อยู่ในระบบที่กระทรวงต้องการให้อยู่ คือระบบราชการ” รศ.นพ.เมธีอธิบาย

แล้วแพทย์จำนวนมากที่ผลิตออกมาหายไปไหนกันหมด? รศ.นพ.เมธีระบุว่า แพทย์ส่วนใหญ่จะออกไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน เปิดคลินิก รวมทั้งลาออกไปทำอาชีพอื่น เนื่องจากภาระงานที่หนักเกินไป โดยที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้สนับสนุนให้เพิ่มบุคลากรเพื่อมารองรับผู้ป่วยจำนวนมากในโรงพยาบาลรัฐ

“รัฐบาลให้ตำแหน่งคนมาน้อย กพ. บอกว่าหมอพอแล้ว โรงพยาบาลเท่านี้ หมอแค่นี้พอ แต่คนหน้างานบอกพอได้ยังไง เพราะว่าคน 1 คน ทำงานเท่ากับ 3 คน แต่เงินเดือนเหมือนกับคนทำงานคนเดียว” รศ.นพ.เมธีกล่าว

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ส่วนหนึ่งมาจากสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลฟรี เช่น ประกันสังคม ซึ่งแม้จะมีประโยชน์อย่างมากต่อประชาชน แต่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐที่มีน้อยเกินไปทำให้ไม่สามารถให้บริการประชาชนจำนวนมากได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ประกอบกับในปัจจุบันนี้ ประชาชนสามารถเดินทางเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น ทั้งยังมีความคาดหวังต่อการบริการที่สูงขึ้นมาก ปัจจัยเหล่านี้ได้เพิ่มภาระงานให้โรงพยาบาลรัฐ นำไปสู่ความกดดัน ความเครียด ความเหนื่อยล้า และกลายเป็นระเบิดเวลาที่น่ากลัวในที่สุด

ปลายทางของการอุทิศตน

ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ถูกมองว่าเป็นผู้เสียสละที่อุทิศตนเพื่อรักษาผู้ป่วย แต่สิ่งที่สังคมดูเหมือนจะมองข้ามไป คือสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ซึ่ง นพ.สุภัทรเล่าว่า การที่แพทย์ต้องปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลาและไม่ได้พักผ่อน ส่งผลให้ขาดสมาธิในการทำงาน ทำงานได้ช้าลง และประสิทธิภาพลดลง ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เมื่อแพทย์มีหน้าที่หลักคือ “การรับผิดชอบชีวิตคน”

“เคสที่ผมเคยเจอคือหมอคิดเลขผิด สั่งยาแก้อาเจียนเด็กผิดขนาด ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็ง เป็นเคสที่เขากลับมาแล้วมาเจอผม” นพ.เกียรติยศเล่าถึงผลกระทบจากความเหนื่อยล้าของแพทย์ ที่เกือบส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเด็ก

นอกจากผลกระทบด้านร่างกายแล้ว ภาระงานและชั่วโมงการทำงานที่เกินมาตรฐานยังส่งผลต่อจิตใจของแพทย์ด้วย นับตั้งแต่อารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว ความรู้สึกเศร้าที่ต้องเผชิญกับข่าวร้ายบ่อยครั้ง และลุกลามเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิต

“เวลาเราเจอคนไข้ เราก็จะเจอกับเรื่องที่เป็นความทุกข์ เป็นข่าวไม่ดี ด้วยความที่ต้องอยู่เวรฉุกเฉินและอยู่กับภาวะวิกฤตของคนไข้ตลอดเวลา บางทีเราไม่สามารถช่วยเหลือคนไข้ได้ เราก็ต้องบอกข่าวร้ายกับญาติคนไข้ พออยู่ไปเรื่อยๆ มันก็เกิดเป็นเหมือนภาวะซึมเศร้าขึ้นมา ที่เคยเป็นหนักคือปีแรกหลังจากใช้ทุน ต้องแอดมิทประมาณ 1 สัปดาห์” นพ.เกียรติยศกล่าว

เราเสียหมอไปจาก หนึ่ง การฆ่าตัวตาย สอง ก็คือหมอที่ทำงานหนัก อยู่เวรติดกัน แล้วก็เกิดอุบัติเหตุ แล้วก็ไม่เคยมีใครคิดจะแก้ปัญหานี้ คิดว่าเป็นแค่อุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่เสียไป ไม่ได้คิดว่าเราเป็นหนึ่งคนที่มีชีวิตมีอนาคตที่คาดหวังไว้” เจ้าของเพจแพทย์สาวระบุ

นอกจากนี้ ความรับผิดชอบที่หนักและขาดระบบสนับสนุนที่ดียังกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ซึ่งเจ้าของเพจแพทย์สาวได้สะท้อนว่า การทำงานในโรงพยาบาลรัฐนั้นมีความตึงเครียดในระหว่างการทำงานมากกว่าโรงพยาบาลเอกชน

“โรงพยาบาลรัฐบาลปฏิเสธคนไข้ไม่ได้ บางทีเรามีทรัพยากรที่จำกัด มันควรจะรับคนไข้ได้ประมาณหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด แต่ว่าเราไม่สามารถที่จะกำหนดคนไข้ได้ เพราะฉะนั้น ปริมาณคนไข้กับหมอและทรัพยากรมันไม่สมดุลกัน สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อมาก็คือ มันมีความตึงเครียดในการทำงานระหว่างบุคลากร หรือระหว่างหน่วย เพราะแต่ละหน่วยต้องบริหารทรัพยากร คน และคนไข้ ให้ได้ประโยชน์สูงสุดโดยที่ไม่ผิดพลาดเลยแม้แต่น้อย เพราะเขาผิดพลาดไม่ได้”

นอกจากความขัดแย้งระหว่างคนทำงานด้วยกันแล้ว ปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดในสื่อต่างๆ คือความขัดแย้งระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย ซึ่งแม้บางกรณีจะมีสาเหตุจากพฤติกรรมส่วนบุคคลของแพทย์ แต่หลายกรณีก็มีที่มาจากความเครียดและความเหนื่อยล้าจากการทำงานของแพทย์เช่นกัน ซึ่งเจ้าของเพจแพทย์สาวให้ความเห็นว่า

“เราคิดว่าในจังหวะที่มีปัญหา มันเป็นช่วงที่ผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือหรือข้อมูลอะไรบางอย่างที่จะทำให้เขาทราบว่าเขาเป็นอะไร ส่วนหมอก็ผ่านอะไรมาไม่รู้ทั้งวันเลย คนนี้โดนอาจารย์ดุมา คนนี้โดนคนไข้บ่นมา ทำงานไม่ได้นอนมา 3 คืน หมอส่วนใหญ่ไม่ได้นอนเป็นเรื่องปกติ บางทีไม่ได้นอนมา 3 คืน จุดนั้นเลยฟิวส์ขาด”

 ด้าน รศ.นพ.เมธี ให้ข้อสังเกตว่า ระยะหลังจะพบว่ากรณีความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับผู้รับบริการ คู่กรณีมักจะเป็นแพทย์อายุน้อยกับผู้รับบริการที่เป็นคนรุ่นเดียวกัน ซึ่งเป็นคนรุ่นที่มักจะไม่อดทนต่อปัญหา ทำให้ปะทะกัน และทำให้ภาพลักษณ์ของแพทย์ดูเหมือนไม่สงสารผู้ป่วย ซึ่งเมื่อสอบถามถึงต้นเหตุ ก็พบว่ามาจากความเครียดจากภาระงานที่เกินมาตรฐานนั่นเอง และปัญหาดังกล่าวจะยิ่งรุนแรงขึ้น เมื่อแพทย์ตกเป็นจำเลยในคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย โดยที่ไม่มีกฎหมายใดๆ คุ้มครอง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์กังวลมากที่สุด

“แนวคิดการพิจารณาคดีของศาลก็เป็นไปตามกฎหมายหลัก มันไม่มีการยกเว้น เพราะว่าหมอมีหน้าที่ เพราะว่ารับเงินค่าเวรไปแล้ว คุณมีหน้าที่ จบ ก็จริง แต่มันเป็นหน้าที่ที่ถูกบังคับ เป็นหน้าที่ที่ไม่มีสิทธิต่อรองหรือปฏิเสธ ถึงเวลาเราแทบจะไม่สามารถยกเรื่องอดนอนมาคุยกับศาลได้เลย เพราะว่ามันก็มีแรงกดดันจากฝั่งคนไข้ ที่เขาเสียหาย เพราะว่าหมอวินิจฉัยผิด หมอมาดูล่าช้า” รศ.นพ.เมธีระบุ

แพทยสภา

การแก้ปัญหาที่ไม่เคยจบสิ้น

สำหรับความพยายามในการแก้ไขปัญหาเรื่องชั่วโมงการทำงานเกินมาตรฐานของแพทย์นั้น ทางแพทยสภาได้ออก “ประกาศกรอบเวลาทำงานของแพทย์ภาครัฐ” เมื่อปี 2560 โดยระบุว่า ชั่วโมงการทำงานของแพทย์นอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ และระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉินไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน ส่วนแพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ควรได้รับสิทธิงดอยู่เวรนอกเวลาราชการ ทว่าประกาศดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติ ไม่ได้มีสภาพบังคับ ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในระบบ ทำให้ปัญหาเรื่องชั่วโมงการทำงานไม่เคยได้รับการแก้ไข

ด้วยเหตุนี้ แพทย์หลายคนจึงแก้ปัญหาด้วยการหันไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง หลังจากที่ทำงานเป็นแพทย์ทั่วไป ใช้ทุนเป็นเวลาราว 2 – 3 ปี ส่วนแพทย์จบใหม่ก็เข้ามาเป็นแพทย์ทั่วไปแทน ซึ่งก็ยังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยที่หลั่งไหลเข้ามาอยู่ดี ทั้งยังทำให้สัดส่วนแพทย์ทั่วไปที่เป็นด่านหน้าและแพทย์เฉพาะทางที่เป็นแนวหลังไม่สมดุลกัน นอกจากนี้ แพทย์บางส่วนยังแก้ปัญหาโดยการออกจากระบบราชการที่มีปัญหานี้ ไปสู่โรงพยาบาลเอกชนหรือประกอบอาชีพอื่น กลายเป็นปัญหาเรื้อรังวนไปไม่จบสิ้น

ข้อกำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์

เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ออกมาส่งเสียงสะท้อนปัญหาสังคมในยุคปัจจุบัน ประกอบกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่มีหลากหลายมิติ ไม่ได้ยึดติดกับแบบแผนชีวิตเพียงด้านเดียว เหล่าแพทย์รุ่นใหม่ตัดสินใจ “ไม่ทน” ต่อปัญหาเชิงระบบที่หมักหมมมาเป็นเวลานาน และออกมาเรียกร้องการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้พวกเขาสามารถทำหน้าที่รักษาชีวิตคนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยที่ยังสามารถรักษาชีวิตและตัวตนของตัวเองไปด้วย

สำหรับแนวคิดในการกำหนดชั่วโมงการทำงาน รศ.นพ.เมธีระบุว่า ความต้องการหลักของแพทย์ ได้แก่ การหยุดพักหลังจากออกจากเวรดึก หรือชั่วโมงเบรกหลังจากทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน และใน 1 สัปดาห์ แพทย์ต้องมีช่วงเวลาพักที่ไม่ถูกตามเรื่องงาน

“โดยปกติแพทย์เราต้องอยู่เวรเช้าทุกวัน ก็คือ 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น คนที่อยู่เวรดึกตั้งแต่เที่ยงคืนถึง 8 โมงเช้า อาจจะต้องมีข้อกำหนดว่า คุณอยู่ดึกแล้ว ไม่ควรมาอยู่เช้าต่อ หรือว่าคุณอยู่เวรมาครบ 24 ชม. แล้ว ชั่วโมงที่ 25 เขาไม่ควรมาอยู่ทำงานแล้ว คือเราต้องการเปิดโอกาสให้แพทย์ที่อยู่ในระบบราชการได้พักผ่อน คล้ายๆ กฎหมายของนักบินที่บินมากี่ชั่วโมงแล้วควรลงไปพัก” นพ.เกียรติยศกล่าว

ในมุมของ รศ.นพ.เมธี การแก้ปัญหาเรื่องชั่วโมงการทำงานของแพทย์ควรเริ่มที่การมีมาตรฐานชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมของบุคลากรทางการแพทย์ หรือ Working Time Directive (WTD) ที่ใช้ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป มาตรฐานดังกล่าวจะกำหนดให้ผู้บริหารต้องรับผิดชอบในกรณีที่มีการบังคับให้แพทย์เข้าเวรดึก นั่นหมายความว่า เมื่อแพทย์ไม่ควรทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินมาตรฐาน ผู้บริหารก็มีหน้าที่ที่ต้องจัดหาบุคลากรมาเพิ่มเติม และเมื่อทราบจำนวนบุคลากรที่ขาดแคลนแล้ว ก็จะสามารถนำไปเจรจากับภาครัฐเพื่อขอตำแหน่งงานเพิ่มได้

“การผลักดันเรื่องนี้ยาก เพราะเท่ากับเป็นการรื้อระบบที่หมักหมมมานาน หลายประเทศที่เขาพัฒนาแล้วก็เคยผ่านปัญหาเดียวกับเรา แต่เขาก็ผลักดันกันได้ ค่อยๆ ปรับตัวกันไป เพียงแต่ว่าของเรายังไม่มีการนับหนึ่งที่จริงจัง ถ้านับหนึ่ง ปัญหาทั้งหมดเดี๋ยวจะมีทางออกออกมาเอง อาจจะต้องใช้เวลา 2 ปี 5 ปี 10 ปี อันนี้เข้าใจได้ แต่ว่าถ้าไม่นับหนึ่งเลย ก็เหมือนกับปฏิเสธปัญหาที่มันอยู่ใต้พรม” รศ.นพ.เมธีกล่าว

การกำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ไม่ได้มุ่งผลเพื่อความสะดวกสบายของบุคลากรทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยที่มารับการรักษา และประสิทธิภาพในการรักษาอีกด้วย ซึ่ง นพ.เกียรติยศอธิบายว่า เมื่อแพทย์ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ตามมาตรฐานที่กำหนด จะช่วยลดความผิดพลาดของแพทย์ลง

นอกจากนี้ หากโรงพยาบาลมีบุคลากรไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องให้แพทย์อยู่เวรติดต่อกันเป็นเวลานานจนไม่ได้พักผ่อน ทำให้เกิดความผิดพลาดในการรักษาโดยไม่ตั้งใจ ข้อกำหนดดังกล่าวจะช่วยคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานเกินเวลาจนไม่ได้พักผ่อน และในทางกลับกัน หากแพทย์ได้หยุดพักตามสิทธิ แต่ยังทำงานผิดพลาด ก็จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย โดยไม่สามารถอ้างได้ว่าเกิดจากอุบัติเหตุที่เนื่องมาจากพักผ่อนไม่เพียงพอ

การกำหนดชั่วโมงการทำงานไม่ใช่คำตอบเดียว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในระบบสาธารณสุขไทยยังคงเต็มไปด้วยเงื่อนปมที่ซับซ้อน ซึ่งอาจจะต้องสะสางกันก่อนที่จะสามารถกำหนดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เจ้าของเพจแพทย์สาวจึงเสนอแนวทางเบื้องต้นในการสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ในขณะนี้ ตั้งแต่การจัดระบบดูแลด้านสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งปลูกฝังความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน เพื่อลดภาระงานในโรงพยาบาลลง และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในโรงพยาบาล เพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์ เช่น ระบบ Telemedicine หรือ Blockchain

ด้าน นพ.สุภัทรเสนอว่า ควรแก้ปัญหาเรื่องการกระจายแพทย์และพิจารณาให้สัดส่วนแพทย์เฉพาะทางกับสัดส่วนแพทย์ทั่วไปที่เป็นด่านหน้าในการรับผู้ป่วยมีความสมดุลกัน ซึ่งโดยมาตรฐาน จำนวนแพทย์ทั่วไปควรอยู่ที่ 50% ของแพทย์เฉพาะทาง ทว่าในปัจจุบัน ตัวเลขของแพทย์ทั่วไปแม้ว่าจะดูเยอะ แต่ก็เป็นแพทย์ใช้ทุน ที่เมื่อตัดออกไป จะเหลือแพทย์ทั่วไปจริงๆ เพียง 20% เท่านั้น

นอกจากนี้ นพ.สุภัทรยังเสนอให้มีการออกแบบระบบโรงพยาบาลใหม่ทั้งหมด เพื่อช่วยลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลลง ซึ่งจะทำให้ภาระงานของแพทย์อยู่ในระดับที่พอเหมาะ และสามารถกำหนดชั่วโมงการทำงานได้จริงในที่สุด

“ต้องให้ความสำคัญกับปฐมภูมิ คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งรักษาผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยไม่หนัก โรงพยาบาลอำเภอต้องได้รับการส่งเสริมให้มีบุคลากรเพียงพอ มีระบบงานที่ดี มีค่าตอบแทนที่จูงใจขึ้นกว่าปัจจุบัน แล้วก็เป็นระบบที่ดูแลผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้ โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ ก็จะเหลือแต่การรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมา ชุดความคิดแบบนี้มันไม่ถูกออกแบบในกระทรวงสาธารณสุขมาอย่างยาวนาน คือมีการพูดถึงนะ แต่ภาวะผู้นำที่จะให้มันเกิดมันไม่มี” นพ.สุภัทรกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook