วิโรจน์ จี้เบรกต่อสัมปทาน BTS ถึงปี 2602 หวั่นคนกรุงเตรียมกระเป๋าฉีกเพิ่ม

วิโรจน์ จี้เบรกต่อสัมปทาน BTS ถึงปี 2602 หวั่นคนกรุงเตรียมกระเป๋าฉีกเพิ่ม

วิโรจน์ จี้เบรกต่อสัมปทาน BTS ถึงปี 2602 หวั่นคนกรุงเตรียมกระเป๋าฉีกเพิ่ม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ตัวแทนชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของพรรคก้าวไกล และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แถลงเมื่อวันอังคาร (8 ก.พ.) เรียกร้องให้ชะลอการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้แก่ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เพราะเกรงว่าผู้โดยสารจะต้องแบกรับค่าโดยสารที่สูงไปจนถึงปี 2602

ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลรายนี้ กล่าวว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่แพงและเก็บหลายต่อเมื่อเปลี่ยนสาย ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งขึ้นรถไฟฟ้าไม่ไหวหรือมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป

"ปัญหาค่ารถไฟฟ้าแพงนี่นะครับ เกิดจากการที่มีสัญญาสัมปทานพัวพันกันมากกว่า 10 สัญญา และที่สำคัญที่สุดก็คือ มันทำให้เราต้องจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน เวลาเปลี่ยนสีเปลี่ยนเส้นก็ต้องจ่ายค่าแรกเข้าใหม่ ถูกไหมครับ แทนที่เราจะกดจากจุด- กดว่าจุดเริ่มต้นอยู่จุดไหน จุดปลายทางอยู่จุดไหนนะครับ แล้วเราก็จ่ายเงินทีเดียว แล้วก็ถ้าเราเดินทาง 5 สถานีไม่ว่าจะเส้นสีใดสายสีใด 5 สถานีไม่ว่าจะคาบเกี่ยวไปที่เส้นไหน หรือว่าจะสายสีนั้นตลอดเส้น เราควรจะต้องจ่ายค่าโดยสารเท่ากันใช่ไหมครับ แต่ข้อเท็จจริงคือพอเราเปลี่ยนสีเปลี่ยนเส้นก็ต้องจ่ายค่าแรกเข้าใหม่ และปัญหาการจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนเป็นปัญหาสำคัญครับที่ทำให้คนกรุงเทพฯ จ่ายค่ารถไฟฟ้าแพง" นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า การจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนจากสัมปทานที่พัวพันกันนี้แก้ไขไม่ได้ จะทำให้ต้องใช้บัตรโดยสารหลายใบอย่างที่เป็นอยู่ และจะเก็บค่าโดยสารร่วมกันไม่ได้ เท่ากับว่าค่าโดยสารก็จะแพงต่อไป

อย่างไรก็ตาม นายวิโรจน์กล่าวว่าเท่าที่ติดตามการเคลื่อนไหวของสัญญาสัมปทานดังกล่าวกับผู้เชี่ยวชาญและนายสุรเชษ​ฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยังไม่พบว่าสัญญาฉบับนั้นมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการบังคับให้ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เข้าร่วมระบบตั๋วร่วมและการเก็บค่าโดยสารร่วม

"ปัญหาที่คนกรุงเทพฯ จะต้องจ่ายค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนก็ยังจะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งจะทำให้คนกรุงเทพฯ ต้องรับภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงต่อไป และเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหานี้ไปจนถึง 2602" นายวิโรจน์ กล่าว

"ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเงียบไม่ได้ครับ ถ้าปล่อยวางปล่อยปละก็เท่ากับลอยคอลอยแพคนกรุงเทพฯ ให้เผชิญค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงในอนาคต แบบที่เราจะแก้แบบเป็นระบบไม่ได้เลย ก็ต้องแก้แบบปะผุ หรือไปขอร้องให้ผู้เดินรถลดราคาหรือทำโปรโมชันได้เท่านั้นเอง"

นายวิโรจน์เรียกร้องไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ว่านิ่งเฉยต่อปัญหานี้ไม่ได้ และต้องกระตือรือร้นในการคัดค้านการต่ออายุสัมปทานนี้ เพราะขณะนี้ยังไม่เห็นบทบาทในการปกป้องผลประโยชน์ของชาวกรุงเทพมหานครในเรื่องนี้จากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรายนี้แต่อย่างใด

การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการรายงานว่า มีการนำเรื่องการขยายสัมปทานดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อช่วงที่ผ่านมาของวันเดียวกันนี้ และมีการรายงานว่ารัฐมนตรีหลายคนที่สังกัดพรรคภูมิใจไทยไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งหลายจำนวนหนึ่งในนี้ยื่นใบลาล่วงหน้าแล้ว ขณะบางส่วนอยู่ระหว่างการกักตัวเพื่อเฝ้าระวังว่าจะติดโรคโควิด-19 หรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook