"ศักดิ์สยาม" ย้ำชัด! มหาดไทยต้องขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียวอย่างถูกกฎหมาย
“ศักดิ์สยาม” ย้ำชัด 7 รมต.ภูมิใจไทย พิจารณารอบด้านเหตุไม่ร่วมสังฆกรรม ครม. แปลงสัญญาสัมปทานเป็นสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
วันนี้ (9 ก.พ.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เลื่อนวาระการพิจารณาแปลงสัญญาสัมปทาน เป็นสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) บริษัทในเครือของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอว่า พรรคภูมิใจไทยย้ำจุดยืนที่จะคัดค้านหากกระทรวงมหาดไทยยังไม่แก้ไขเรื่องดังกล่าวให้เกิดความถูกต้อง
“หากในการประชุม ครม. ครั้งต่อๆ ไป ทางกระทรวงมหาดไทยจะยังมีการเสนอวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ทางพรรคภูมิใจไทยจะแสดงท่าทีอย่างไรนั้น ยืนยันว่าหากกระทรวงมหาดไทยเสนอวาระดังกล่าวกลับเข้ามา และมีการทำให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล ทางพรรคภูมิใจไทยก็จะสนับสนุน แต่ถ้ายังไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบของกฎหมาย ก็บอกได้เลยว่าพรรคภูมิใจไทยจะยังคงคัดค้านเหมือนเดิม เพราะหากไม่มีการดำเนินการให้ถูกต้อง จะเป็นการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย” นายศักดิ์สยาม กล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ครม. ที่เข้าร่วมประชุม ที่ทำให้มีการเปิดโอกาสรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในการที่ให้กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชี้แจงในส่วนที่กระทรวงคมนาคมตั้งข้อสังเกตให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักของกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล เพราะหลายประเด็นทาง กทม.ยังทำไม่รอบด้านและครบถ้วน
สำหรับการที่ 7 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย แสดงออกชัดเจนด้วยการไม่เข้าร่วมประชุม ครม. เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับกระทรวงมหาดไทยที่มีการเสนอขอขยายสัญญาสัมทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในขณะที่การดำเนินการต่างๆ ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
“การไม่เข้าร่วมประชุม ครม.ก็แสดงออกชัดว่าค้าน ไม่อยากเข้าร่วมประชุมแล้วไปถกเถียงกันใน ครม.ให้เป็นเรื่องเป็นราว ในเมื่อไม่เห็นด้วย” รมว.คมนาคม ระบุ
ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ทำความเห็นส่งไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลายครั้งและชัดเจนมาก ซึ่งนอกจาก 4 ประเด็นก่อนหน้า ในครั้งนี้ได้เพิ่มเติมไปอีก 2 ประเด็นทั้งในเรื่องของการที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวทางด้านทิศเหนือจาก หมอชิต-คูคต แม้ว่าก่อนหน้าจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กทม. และ รฟม. แล้วก็ตาม แต่ในปัจจุบันทาง กทม. ยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้างให้กับ รฟม. แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องของการคำนวณอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ ว่ามีการใช้หลักการคำนวณอย่างไร เป็นต้น เนื่องจากกระทรวงคมนาคมมองว่าอัตราค่าโดยสารที่จะจัดเก็บตลอดสายสามารถทำให้ถูกกว่า 65 บาทได้