#สภาล่ม อีกแล้ว! เพื่อไทย งัดมุกนับองค์ประชุม "ประธานชวน" ยื้อยังไงก็ไม่ครบ
#สภาล่ม อีกรอบแล้ว! พรรคเพื่อไทย งัดมุกนับองค์ประชุม แม้ประธานชวน หลีกภัย จะพยายามยื้อเวลารอ ส.ส. เข้ามาแสดงตน แต่สุดท้ายก็ไม่ครบอยู่ดี
วันนี้ (10 ก.พ.) ตั้งแต่เวลา 9.30 น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการตั้งกระทู้ถามสด และกระทู้ถามทั่วไป ก่อนที่จะมีการพิจารณารายงานจากหน่วยงานต่างๆ ที่เตรียมเข้ามาชี้แจง
แต่ปรากฏว่าเมื่อเวลา 15.02 น. เกิดเหตุการณ์ #สภาล่ม จนต้องปิดประชุมไปอีกครั้งหนึ่งแล้ว ถือเป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ และครั้งที่ 3 ในรอบ 2 สัปดาห์
ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายและรับทราบประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะ เข้าชี้แจงเรียบร้อยแล้วนั้น นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นกล่าวต่อประธานในที่ประชุมว่า ระเบียบวาระรับทราบรายงานจากหน่วยงานต่างๆ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ จึงอยากให้มีสมาชิกเข้าร่วมรับฟังกันมากๆ ดังนั้นขอเสนอญัตตินับองค์ประชุม
ซึ่งในเวลาต่อมา นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และเลขานุการวิปรัฐบาล จึงลุกขึ้นขอเสนอญัตตินับองค์ประชุมแบบขานชื่อเพื่อตอบโต้นายพิเชษฐ์
อย่างไรก็ตาม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ณ ขณะนั้น วินิจฉัยว่าแม้เสนอนับองค์ประชุมเหมือนกัน แต่ใช้วิธีต่างกัน จึงต้องให้ที่ประชุมมีมติว่าจะใช้วิธีใด ดังนั้นก่อนจะขอมติจากที่ประชุม ก็จำเป็นจะต้องตรวจสอบองค์ประชุมก่อนว่าครบหรือไม่ ซึ่งนายชวนใช้เวลาอยู่กว่า 20 นาที พยายามรอให้บรรดา ส.ส. เข้ามาเสียบบัตรแสดงตนเป็นองค์ประชุมให้ครบ 237 คน แต่สุดท้ายก็มี ส.ส. เพียง 227 คนเท่านั้นที่แสดงตนเป็นองค์ประชุม ทำให้ นายชวน ต้องปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ไป โดยที่เพิ่งจะพิจารณารับทราบรายงานตามระเบียบวาระไปเพียงแค่เรื่องเดียวเท่านั้น
เหตุการณ์สภาล่มที่เกิดขึ้นถี่ในช่วงนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องมีคำตอบให้กับสังคมว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยจะประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า การใช้กลไกในสภาด้วยการขอนับองค์ประชุมเป็นมาตรการที่จะใช้เพื่อกดดันให้ฝั่งรัฐบาลใส่ใจและรับผิดชอบกับงานนิติบัญญัติในฐานะที่เป็นเสียงข้างมาก
ซึ่งตัวแทนฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิปรัฐบาลก็จำเป็นต้องอธิบายว่าเหตุใดจึงปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งที่ก็รู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะต้องถูกตรวจสอบและกดดันจากฝ่ายค้านอย่างเข้มข้น การที่ไม่สามารถรวบรวม ส.ส. จากพรรคร่วมรัฐบาลมาประชุมให้ครบองค์ประชุม แปลว่าเสถียรภาพรัฐบาลกำลังโคลงเคลงง่อนแง่นเต็มทีใช่หรือไม่
และแน่นอนว่ายิ่งเหตุการณ์สภาล่มเกิดขึ้นบ่อยๆ เสียงเรียกร้องให้ยุบสภาก็จะดังมากขึ้นๆ จนสุดท้ายอาจจะเลี่ยงให้เกิดขึ้นไม่ได้ แม้ว่าอำนาจยุบสภาจะอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียวก็ตาม