ที่ปรึกษา ศบค. เผยจำเป็นต้องเลิก UCEP COVID เพราะรัฐบาลแบกภาระไม่ไหว
ที่ปรึกษา ศบค. ยืนยันจำเป็นต้องยกเลิก UCEP COVID เพราะรัฐบาลแบกภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ย้ำจะให้เวลาเตรียมตัวไม่ยกเลิกกะทันหัน วอนผู้ปกครองพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีน หวังยอดป่วยไม่เกิน 2 หมื่นต่อวัน
วันนี้ (11 ก.พ.) นายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ยังเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ โดยในช่วงปลายเดือนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะแตะถึง 17,000-18,000 รายต่อวัน โดยหวังว่าจะไม่ถึง 20,000 รายต่อวัน
แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของประชาชนทุกคน แต่หากเปรียบเทียบกับการเจ็บป่วยรุนแรงของประชาชน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น้อย หากเปรียบเทียบกับการระบาดช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2564 ที่ประเทศไทยมีการระบาดอย่างรุนแรง
ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยถือว่าจำนวนผู้ป่วยรุนแรงลดลงกว่า 10 เท่า จาก 500 ราย เหลือเพียง 100 รายเท่านั้น ยืนยันระบบสาธารณสุขของไทยยังสามารถรองรับได้ และคนไทยมีวินัย แต่ต้องระมัดระวังเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้ผู้ติดเชื้อแตะ 20,000 รายต่อวันในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกรณีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวัน แต่ขอให้เห็นใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างเหนื่อยล้า และขอให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนให้ครบโดส รวมไปถึงเข็มกระตุ้น เพราะมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะสามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ จึงอยากให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด
ยืนยันว่าขณะนี้มีวัคซีนเพียงพอ แต่ประชาชนฉีดน้อยลง และยืนยันว่ามีเตียงรองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอย่างเพียงพอ เพราะมีการวางระบบเอาไว้อย่างดี โดยนำเอาบทเรียนครั้งที่ผ่านมามาเตรียมความพร้อม
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าทำไมไทยจะต้องยกเลิกโรคโควิด-19 ออกจากบริการ UCEP (ยูเซ็ป) หรือการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ แล้วให้ไปใช้สิทธิตามหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคลทั้งบัตรทอง ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ ที่จะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคมนี้ ว่า ขอให้ประชาชนเข้าใจว่าที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ฟรี ที่ไม่มีประเทศใดดำเนินการเท่ากับประเทศไทย และต้องยอมรับว่ารัฐบาลรองรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสวีเดน รัฐบาลสวีเดนก็ยกเลิกกฎควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกือบทั้งหมดเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีงบประมาณเพียงพอในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งที่เป็นประเทศที่ร่ำรวยกว่าไทย ส่วนตัวจึงเห็นว่า ควรช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ และตอนนี้ต้องทำใจเพื่อเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้
โดยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ แต่ยืนยันรัฐบาลจะไม่ได้มีการประกาศยกเลิกโรคโควิด-19 ออกจากบริการยูเซ็ปในทันที แต่จะให้ประชาชนมีเวลาเตรียมตัว 1-2 เดือน ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ประชาชนไม่ใช่สาธารณสุข เพราะระบบสาธารณสุขไม่ได้มีปัญหาแต่ต้องปรับตามบริบท เพราะจะเห็นได้ชัดว่าสายพันธุ์โอมิครอนไม่ทำให้มีผู้ป่วยหนัก พร้อมย้ำว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ฟรีแล้ว
นอกจากนี้ นพ.อุดม ยังมีความห่วงใยกลุ่มเด็กที่ขณะนี้ยังได้รับวัคซีนน้อยอยู่ เนื่องจากผู้ปกครองมีความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีน แต่ยืนยันว่าตามมาตรฐานแล้วเด็กต้องได้รับวัคซีนไฟเซอร์ และมีวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายเป็นทางเลือกเพิ่มขึ้น แต่เด็กก็ยังฉีดน้อยอยู่ และจะยังยึดสูตรนี้ต่อไป แม้ขณะนี้ประสิทธิภาพการฉีดเข็ม 1 อาจจะน้อย แต่เข็ม 2 และเข็ม 3 จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจากนี้จะมีการปรับเป็นสูตรไขว้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการประกาศแล้วเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ยืนยันว่ากรณีผลข้างเคียงในเด็กที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรงนั้น แม้จะเกิดขึ้นจริงแต่มีเปอร์เซ็นต์น้อย ซึ่งกลุ่มที่เกิดเยอะสุดคือ เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 16 – 18 ปี ซึ่งเกิดขึ้นในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง หรือ 70 คน ต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคน
ส่วนเด็กผู้หญิง อายุ 16-18 ปี เกิดขึ้น 7 คน ต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคน ส่วนอายุต่ำกว่า 12 ปี เกิดขึ้นได้เพียง 4-5 คน ต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่น้อยมาก
จึงขอให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีน เพราะเมื่อฉีดในผู้ใหญ่จนครอบคลุมแล้วจะเกิดการระบาดในเด็กแทน ตามข้อมูลแล้วเมื่อผู้ใหญ่ติดเชื้อหลักๆ แล้วจะลงปอด แต่ในเด็กจะกระจายไปหลายอวัยวะมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว จึงขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีนเพราะผลดีมีมากกว่าผลเสีย