ผอ.รพ.แจง คนขโมยบัตร ATM เป็น "ผู้ดูแลคนไข้" ไม่ใช่พยาบาล สั่งสอบวินัยร้ายแรงแล้ว
จากกรณี นางวิไลวรรณ อายุ 35 ปี พร้อมด้วย นางสาวณัฐกฤตา อายุ 40 ปี เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ ร.ต.อ.ยุทธพล บุญเกิด พนักงานสอบสวนร้อยเวรประจำวัน สภ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังพ่อได้ไปรักษาตัวที่ รพ.แห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี ต่อมาในช่วงเที่ยงของวันที่ 8 ก.พ. ทาง รพ.ได้แจ้งกับทางญาติว่า พ่อได้เสียชีวิตแล้ว ติดต่อให้ทางญาติผู้เป็นลูกมารับทรัพย์สินของผู้ตายกลับ ซึ่งหลังจากที่ตนเองไปรับกระเป๋าสตางค์และโทรศัพท์ของพ่อกลับมา ก็พบว่าบัตร ATM ของพ่อหายไปพร้อมกับธนบัตรเก่าหลายใบและเงินสดจำนวนหนึ่ง อีกทั้งในโทรศัพท์ได้มี SMS แจ้งเตือน การถูกถอนเงินไปจำนวน 4,500 บาท เมื่อวันที่ 2 ก.พ. เวลา 18.15 น. ซึ่งเป็นวันที่พ่อนอนไม่มีสติอยู่ในห้องไอซียู และก็ห้ามญาติเยี่ยม อีกทั้งมีการลบแอปฯ ธนาคารออกจากเครื่องอีกด้วย ก่อนที่ในที่สุด ผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นผู้ดูแลคนไข้ก็ยอมรับสารภาพต่อตำรวจว่า เป็นผู้ขโมยบัตร ATM ของผู้ป่วยไปกดเงินสดจริง โดยขโมยไปเมี่อช่วงเช้าของวันที่ 1 ก.พ. และนำบัตรไปกดเงินสดในวันที่ 2 ก.พ. เวลา 18.15 น. เหตุผลที่ทำแบบนี้เพราะอารมณ์ชั่ววูบ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเงิน
ล่าสุดวันนี้ (11 ก.พ.) นพ.วสันต์ แก้ววี ผอ.รพ.บางละมุง กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ผู้ที่นำบัตรเอทีเอ็มของผู้ป่วยไปคือ ผู้ดูแลคนไข้ ไม่ใช่พยาบาล ซึ่งทางญาติอาจจะสับสน หรือไม่เข้าใจในเรื่องของตำแหน่งในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม หลังตรวจสอบพบเราก็นำเจ้าหน้าที่รายดังกล่าวส่งตำรวจ โดยมีหัวหน้างานเป็นผู้พูดคุยกับเจ้าทุกข์และดำเนินการคืนเงินตั้งแต่วันแรก
ล่าสุดทางโรงพยาบาลได้สั่งลงโทษ พักงานเจ้าหน้าที่รายดังกล่าว และเนื่องจากเป็นความผิดทางอาญา จึงตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง คาดว่าจะทราบผลเร็วๆ นี้ โดยความผิดวินัยร้ายแรงมีโทษถึงขั้นปลดออกหรือไล่ออก
นอกจากนี้ ได้นำเรื่องดังกล่าวมาเป็นบทเรียนในการปรับระบบการดูแลทรัพย์สินของคนไข้ ซึ่งตามปกติเราจะแจ้งให้ผู้ป่วยไม่ควรพกของมีค่ามาและต้องดูแลทรัพย์สินของตัวเอง ซึ่งผู้ป่วยรายนี้มาด้วยอาการโควิด ช่วงแรกรู้สึกตัวดี และอยู่ในห้องแยกไม่มีใครเข้าไป เราอาจมองว่าไม่มีคนนอกเข้าไปก็อาจปลอดภัย แต่ไม่ได้ประเมินพวกเรากันเอง
นพ.วสันต์ยังระบุอีกว่า ยอมรับว่ากรณีนี้กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและคนไข้ ซึ่งเราประกาศเจตนารมณ์ของโรงพยาบาลแล้วว่า ให้เจ้าหน้าที่ดูแลคนไข้ด้วยเจตนาสุจริต เป็นบทเรียนที่ต้องเพิ่มกระบวนการตรวจสอบทรัพย์สินให้ถูกต้อง คืนญาติให้เร็วที่สุด และมีการดูแลที่ดี ซึ่งปกติจะให้เจ้าหน้าที่ดูแลทรัพย์สินมากกว่า 1 คน และช่วยกันเช็กลิสต์ โดยมีหัวหน้ารับทราบ
ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 6 กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นชายไทยอายุ 62 ปี ป่วยโรคไตเรื้อรัง เข้ารับการรักษาที่ รพ.บางละมุง เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 ช่วงแรกรู้สึกตัวดี มีอาการเหนื่อยเล็กน้อย ต่อมาวันที่ 28 ม.ค. 2565 มีอาการเหนื่อยมากขึ้น จึงย้ายมาที่หอแยกโรค (Isolated ward) ได้รับการฟอกไต 4 ครั้ง แต่อาการทรุดลงและเสียชีวิตในวันที่ 8 ก.พ. 2565 เวลา 11.50 น. รพ.ได้แจ้งให้ญาติมารับศพและทรัพย์สินที่ติดตัวระหว่างป่วยคืน
ซึ่งในเวลาต่อมา บุตรสาวของผู้เสียชีวิตได้โทรศัพท์มาแจ้งว่า บัตร ATM และเงินสดในกระเป๋าหายไป โดยมี SMS ของธนาคารแจ้งมาที่โทรศัพท์ผู้เสียชีวิตว่ามีการกดเงินสดโดยใช้บัตร ATM เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565 เป็นเงิน 4,500 บาท ทั้งนี้ รพ.ได้รับเรื่องและสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ส่วนญาติได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อเดินเรื่องตรวจสอบกล้องวงจรปิดของทางธนาคาร
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า หลังทราบเรื่องได้กำชับให้ ผอ.รพ.เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง จากบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และตรวจสอบกล้องวงจรปิดของ รพ. ล่าสุดได้รับรายงานว่า พบผู้กระทำความผิดแล้ว เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ของ รพ. ตำแหน่งผู้ช่วยเหลือคนไข้ ได้รับสารภาพว่า เป็นคนนำบัตร ATM ของผู้ป่วยซึ่งขณะนั้นไม่รู้สึกตัวไปกดเงินสดเป็นจำนวน 4,500 บาทจริง รพ.บางละมุงจึงดำเนินการทางวินัยอย่างเด็ดขาด
ส่วนในทางคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ได้นำกรณีที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน ชี้แจงและกำชับบุคลากรทุกหน่วย ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รักษาภาพลักษณ์ที่ดีของวิชาชีพและขององค์กร และปรับปรุงระบบดูแลความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้ป่วยและญาติให้รัดกุมมากขึ้น
อัลบั้มภาพ 6 ภาพ