ความสุข + เทียนหอม = บ้านหอมเทียน

ความสุข + เทียนหอม = บ้านหอมเทียน

ความสุข + เทียนหอม = บ้านหอมเทียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : วิภานี กาญจนาภิญโญกุล

ไม่ว่าจะหนังสือท่องเที่ยวเล่มไหน หรือใครก็ตามที่มีโอกาส ได้ไปเยือน สวนผึ้ง ในช่วง 2-3 ปีมานี้ คงจะต้องเอ่ยถึง บ้านหอมเทียน

ร้านเทียนสวยๆ ที่กลายมาเป็นสถานที่ 'ต้องแวะ' ในถิ่นนี้

ทำไมอยู่ดีๆ ร้านขายเทียนถึงมาตั้งอยู่หลักกิโลเมตรที่ 33 ของ อ. สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ในบริเวณที่แต่ก่อนนี้แทบไม่มีใครมา นอกจากคนในท้องถิ่น

คำตอบอยู่ข้างล่างนี้...

000

'รัชนิกร ฉิมมะ' เจ้าของร้าน 'บ้านหอมเทียน' นั่งอยู่ในบรรยากาศสบายๆ ที่รายล้อมไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ที่ปลูกเองกับมือ และข้าวของสะสมเก่าเก็บทั้งภาชนะสังกะสี ตะเกียงโบราณ ของเล่นเก่าฯลฯ ที่แลดูมีเสน่ห์แม้จะจัดวางแบบไม่ได้ตั้งใจ

เขาเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าถึงที่มาที่ไปของไม้เก่าแต่ละแผ่นที่ไปหา ซื้อมาด้วยตัวเองทั้งสีเขียว น้ำเงิน ฟ้าที่ต่างสีต่างก็มีที่มาจากโรงเรียน โรงพยาบาล บ้านพักราชการ ฯลฯ ซึ่งเขาบอกได้หมดว่าไม้สีไหนมาจากที่ไหน... ทั้งหมดนี้ นอกจากจะทำเอาเราทึ่งไปด้วยความรู้ใหม่แล้ว ยังทำให้รู้ว่าผู้ชายคนนี้ใส่ใจกับสิ่งรอบตัวและหลงรักงานที่เขาทำอยู่มาก ขนาดไหน

พื้นเพของรัชนิกรเป็นคนจอมบึง ราชบุรี แต่มีโอกาสได้มาเที่ยวเล่นบ้านเพื่อนที่สวนผึ้งตั้งแต่เด็กจนหลงรักธรรมชาติ แถวนี้ ดังนั้นเมื่อยอดธุรกิจส่งออกที่เคยพุ่งกระฉูดนับ 10 ล้านบาทต่อปี มีคนงาน 50 คน ค่อยๆ ลดลง จนปัจจุบันเหลือยอดส่งออกเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เขาต้องปรับตัวด้วยการหันมาพึ่งพาตลาดในประเทศ ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่การเปิดร้านบ้านหอมเทียนเพื่อเป็นหน้าร้านของธุรกิจ เทียนที่เขาคว้ำหวอดมากว่า 13 ปี

"เรารู้สึกว่า ทุกอย่างในโลกไม่จีรัง เราอยากพึ่งตนเองได้ ถ้าเราไม่มียอดส่งออก เราก็ไม่มีอาชีพ พอเราพึ่งตนเองไม่ได้ เราก็เหนื่อย แล้วเราก็เดินทางมาทั่วโลกแล้ว อยากอยู่บ้านที่ปลูกเองไม่ต้องซื้อของแพงๆ มาทำ.... ช่วงชีวิตที่มีอยู่ ทำไมไม่ทำอะไรที่มีความสุขล่ะ?"

พื้นที่ 10 กว่าไร่ที่เคยซื้อเก็บไว้ จึงได้รับการปรับปรุงเมื่อ 5 ที่แล้วด้วยมือของเขาเอง ทั้งการปลูกต้นไม้ การสร้างบ้าน ขุดบ่อน้ำ ทุกอย่างทำเองกับมือ ด้วยลูกมือช่วยเพียงไม่กี่คน แล้วได้ฤกษ์เปิดเต็มตัวเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยเน้นขายสินค้าราคาโรงงาน เพื่อให้สินค้าขายหมดไว แม้ยอดขายช่วงปีแรกจะน้อยมาก อาทิตย์หนึ่งได้เพียง 4 พันถึง 6 พันบาท แต่ปีต่อมาก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นอาทิตย์ละ 8 พันถึง 2 หมื่นบาท

"เราขายของราคาโรงงาน กำไรต่อชิ้นต่ำ แต่มี Volume การขายสูง เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ส่งเสริมคนที่นี่ให้มีรายได้ ชุมชนเข้มแข็ง และทำมาหากินอย่างยั่งยืน"

ถึงตอนนี้ที่โรงงาน (ในอ. จอมบึง) มีคนงานกว่า 20 คน เขาบอกว่า ช่วง 2 ปีแรกขาดทุนเละถึงปีละ 5 แสนบาท เพราะต้องจ้างพนักงาน ซึ่งขาดทุนก็ต้องจ้าง เพื่อให้เขามีงานทำ และหากวันหนึ่งที่นี่อยู่ได้ ก็ไม่ต้องไปจ้างคนใหม่ เพราะการทำเทียนที่นี่ซับซ้อนกว่าที่อื่น จึงอาศัยความชำนาญสูงและใช้เวลาฝึกนานเป็นพิเศษ


000

จุดเด่นของเทียนสีสวยกลิ่นหอมในบ้านเทียนแห่งนี้อยู่ที่ลวดลายในเนื้อ เทียน ที่ไม่ได้เกิดจากการวาดสี หรือการใช้กระดาษติดลงไป แต่เป็นเทคนิกพิเศษที่เมื่อสิบกว่าปีก่อนยังไม่มีใครทำได้ แม้แต่ในปัจจุบันเองก็ทำได้ไม่ถึง 5 เจ้าในประเทศ

"เราก็ทำมั่วๆ ทำแบบไม่รู้ ก็เลยเกิดการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก เอาการผลิต 'ผิด' มาผลิตเทียน...ทำยังไง อันนี้เป็นความลับ บอกไม่ได้"

ไม่แปลกที่เทคนิกนี้จะเป็นความลับของคนทำธุรกิจ เพราะกว่าจะได้มาเขาก็ต้องสั่งสมด้วยตนเองตั้งแต่สมัยที่เคยเป็นลูกมือใน บริษัทรับออกแบบผลิตภัณฑ์ในกรุงเทพฯ แล้วไต่เต้าขึ้นมาจากการขายในจตุจักร ห้างสรรพสินค้า และส่งออกหลายประเทศในยุโรป ซึ่งล้วนแต่ทำเอง ออกแบบเอง โดยเรียนรู้จากข้อกำหนดของการส่งออก ตลอดจนพัฒนาสินค้าจากความต้องการของลูกค้า

โดยพื้นฐานแล้ว การทำเทียนคุณภาพเยี่ยมต้องเริ่มจากวัตถุดิบส่วนผสมที่ดี ใช้ส่วนผสมสำหรับการผลิตเทียนโดยตรง ส่วนใหญ่บ้านหอมเทียนจะใช้วัตถุดิบนำเข้า สีจากเยอรมัน น้ำหอมจากฝรั่งเศส อังกฤษ ไส้เทียนจากไต้หวัน (เพราะมีเทคนิกการถักไส้เทียนละเอียดช่วยดูดซับน้ำเทียนได้ดี) ตลอดจนพาราฟินคุณภาพดีจากจีน ซึ่งวัตถุดิบที่ดีก็จะมีใบรับรองคุณภาพแนบไปด้วยในการส่งสินค้า ช่วยให้ลูกค้าก็เกิดความเชื่อมันในตัวสินค้าว่ามีคุณภาพดี

แต่สำหรับบ้านหอมเทียม คนที่มาเยือนนอกจากจะได้เลือกซื้อเทียนคุณภาพระดับพรีเมี่ยมไปเป็นของฝาก แล้ว ยังจะได้รับความอิ่มใจในบรรยากาศที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติและศิลปะ พร้อมรูปถ่ายสวยๆ กลับบ้าน

"ที่บ้านหอมเทียน คนที่มาต้องการความสุข เราก็ต้องทำให้คนที่มามีความสุข เกิดความประทับใจ และอยากซื้อสินค้ากลับไป แล้วเราทำของถูกขาย เด็กมัธยมมาเที่ยวก็ซื้อได้ สินค้าเราจึงสามารถเข้าถึงได้ทุกคน

"เราเริ่มจากคนไม่มีอะไร ไม่มีบ้าน ไม่มีความรู้ แต่ตอนนี้เป็นหลักเป็นฐาน มีทรัพย์สิน เราไม่ได้ต้องการเงินอีกแล้ว เราอยากให้คนมาดูเทียน มาดูงานศิลปะ เพราะเรามองว่า งานศิลปะมันช่วยจรรโลงจิตใจนะ ทำให้คนรู้สึกมีชีวิตชีวา รู้สึกมีคุณค่า เราอยากทำธุรกิจที่กลับคืนสู่สังคม ขายของได้ เราก็ซื้อดอกไม้สวยๆ มาให้คนถ่ายรูป"

และในอนาคต พื้นที่เขียวขจีแห่งนี้ก็จะกลายมาเป็นสถานที่แสดงงานศิลปะแบบที่ผู้ชายคนนี้ตั้งใจเอาไว้

"ณ วันนี้เราไม่อยากทำอาชีพอื่นแล้ว เราจะทำเทียนไปเรื่อยๆ พร้อมกับส่งเสริมงานศิลปะ เราอยากจะรวบรวมงานศิลปะโดยใช้พื้นที่ที่เหลือทำแกเลอรี่ ให้คนมาชมงานศิลปะใต้ต้นไม้ ทุ่งหญ้าสวยๆ"

 

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ความสุข + เทียนหอม = บ้านหอมเทียน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook