ราชบัณฑิตยสภา ย้ำชัดๆ! ใช้ได้ทั้ง Krung Thep Maha Nakhon และ Bangkok
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ยืนยันสามารถใช้ Krung Thep Maha Nakhon และ Bangkok ในการเขียนชื่อกรุงเทพมหานครเป็นภาษาอังกฤษหรืออักษรโรมัน ย้ำใช้คู่กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530
เมื่อคืนนี้ (16 ก.พ.) สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เผยแพร่คำชี้แจงเกี่ยวกับการเขียนชื่อ กรุงเทพมหานคร ในภาษาอังกฤษ หรือด้วยอักษรโรมัน หลังจากเกิดกระแสดรามาทั่วโลกออนไลน์ โดยใช้หัวข้อว่า "การเขียนชื่อกรุงเทพมหานครด้วยอักษรโรมัน" โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
การเขียนชื่อกรุงเทพมหานครด้วยอักษรโรมันปรากฏในประกาศราชบัณฑิตยสถานและประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภามาโดยลำดับดังนี้
1. ประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง กำหนดชื่อทวีป ประเทศ เมืองหลวง มหาสมุทร ทะเล และเกาะ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 82 ตอนที่ 28 เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2508)
- Thailand ประเทศไทย
- Krung Thep กรุงเทพฯ
- (Bangkok) (บางกอก)
2. ประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง กำหนดชื่อทวีป ประเทศ เมืองหลวง มหาสมุทร ทะเล และเกาะ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94 ตอนที่ 93 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2520)
- Thailand : Kingdom of Thailand
- ไทย : ราชอาณาจักรไทย
- Krung Thep (Bangkok) กรุงเทพมหานคร
3. ประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง กำหนดชื่อประเทศและเมืองหลวง (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 68 เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2530)
- Thailand : Kingdom of Thailand
- ไทย : ราชอาณาจักรไทย
- Krung Thep Maha Nakhon ; Bangkok กรุงเทพมหานคร
4. ประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 117 ง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544)
- Thailand : Kingdom of Thailand
- ไทย : ราชอาณาจักรไทย
- Krung Thep Maha Nakhon; Bangkok กรุงเทพมหานคร
5. ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง (อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
- Thailand : Kingdom of Thailand
- ไทย : ราชอาณาจักรไทย
- Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) กรุงเทพมหานคร
จากข้อมูลประกาศราชบัณฑิตยสถานและประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภารวม 5 ฉบับ จะเห็นได้ว่า ชื่ออักษรโรมันของกรุงเทพมหานคร มีการใช้ Krung Thep (พ.ศ. 2508 และ พ.ศ. 2520), Krung Thep Maha Nakhon (พ.ศ. 2530, พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2564) ควบคู่กับ Bangkok มาโดยตลอด
ดังนั้น ชื่อ Bangkok แม้อยู่ในเครื่องหมายวงเล็บ ( ) หรือหลังเครื่องหมายอัฒภาค ; ก็สามารถนำไปใช้อย่างเป็นทางการได้เช่นเดียวกัน