เส้นด้ายชี้ รัฐยกเลิก UCEP COVID ผิดจังหวะ
นายภูวกร ศรีเนียน รองประธานกรรมการมูลนิธิเส้นด้าย แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเตรียมยกเลิกโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด หรือ UCEP COVID โดยระบุว่า ที่ผ่านมา โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ให้ผู้ป่วยโควิดเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการได้ทันที ได้ช่วยเหลือประชาชนได้เป็นจำนวนมาก เพราะมีความรวดเร็วในการติดตามการรักษา ทำให้ยอดผู้ป่วยที่รักษาจนหาย สูงกว่ายอดผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน ทว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังเตรียมยกเลิกโครงการดังกล่าว โดยสิ้นสุดหลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
การยกเลิก UCEP COVID ทำให้ผู้ป่วยต้องกลับไปใช้สิทธิตามสังกัดเดิม ทั้งบัตรทอง กองทุนประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคม หรือกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อกำลังเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม และยังไม่มีแนวโน้มลดลง แต่โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลสนาม กลับรองรับจำนวนผู้ป่วยโควิดได้จำกัด อีกทั้งศูนย์พักคอยยังมีจำนวนไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ การติดต่อประสานงานเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐยังมีความล่าช้าในทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นหมายเลข 1330 กด 14 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานเขตในพื้นที่, หรือโรงพยาบาลต้นสังกัดตามสิทธิ์ เนื่องจากระบบราชการที่มีขั้นตอนมาก ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยตกค้างตามบ้านไม่สามารถได้รับการตรวจรักษาจำนวนมาก ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง อาการน่าเป็นห่วง จะเข้าสู่ระบบรักษาช้ากว่าที่ควรจะเป็น และอาจทำให้อาการลุกลามในชั่วข้ามคืน
ผู้ป่วยจำนวนมากจะถูกขอให้ทำการรักษาตนเองที่บ้าน (Home Isolation) โดยหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่จะส่งยามาให้พร้อมอาหาร ซึ่งหลายวันที่ผ่านมา ดร.เพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ นักธุรกิจอาสา แนวร่วมกลุ่มเส้นด้ายที่ทำงานด้านสังคม ยืนยันว่า ตลอดเวลาได้ไปพบประชาชนที่รักษาตนเองที่บ้าน ทำให้พบเห็นปัญหาด้านสุขอนามัยต่างๆ ได้แก่ บ้านเรือนผู้ป่วยมีผู้พักอาศัยเป็นครอบครัวใหญ่หลายคน ค่อนข้างแออัด ห้องน้ำ ห้องครัวใช้ร่วมกัน ทำให้เกิดการติดต่อแพร่เชื้อทั้งบ้านได้ง่าย บางบ้านมีทั้งเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่ดูแลตนเองก็ยังไม่ได้ แต่ต้องมีผู้ป่วยติดเชื้อที่ต้องดูแลใกล้ชิดเพิ่มขึ้นมาอีก
ผู้ป่วยบางคนเป็นผู้ป่วยเปราะบางที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไต โรคความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้ ทำให้เกรงว่าจะเกิดอาการแทรกซ้อน
เนื่องจากการรักษาตนเองที่บ้านจะมีเพียงแพทย์โทรศัพท์มาสอบถามอาการทั่วไปเท่านั้น ไม่เหมือนการไปรักษาที่โรงพยาบาล หรือ Hospitel ที่จะมีการเอ็กซ์เรย์ปอด ตรวจเลือดวันที่เข้ารักษา และตรวจซ้ำก่อนให้กลับบ้าน ขณะนี้แม้รัฐบาลจะเปิดโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยแต่ก็ยังมีจำนวนไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นต่อเนื่องทุกวัน
นอกจากนี้ ดร.เพ็ญพิสุทธิ์ ยังแสดงความเห็นว่า จากที่ได้ร่วมงานกับมูลนิธิเส้นด้าย ในการขับรถส่งตัวผู้ติดเชื้อเข้า Hospitel ทำให้ตนสังเกตว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นกว่า 2 หมื่นคนต่อวัน และน่าจะยังอยู่ในระดับนี้อีกนาน
แม้เชื้อโควิดสายพันธ์โอมิครอนจะไม่รุนแรงเท่าเดลตา รวมถึงประชาชนได้รับวัคซีนไปพอสมควร หลายประเทศทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการ หรือแม้แต่ปรับเป็นโรคปกติไปแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยก็ยังเร็วเกินไปที่จะใช้แนวทางเหล่านั้น และมองว่าสังคมทุกภาคส่วนต้องเร่งปรับตัวให้เข้าใจกับโควิดมากกว่านี้ เพราะขณะนี้ยังมีเด็กจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และเสี่ยงที่จะติดเชื้อและส่งผลกระทบในครอบครัวสูง
อย่างไรก็ตาม มูลนิธิเส้นด้ายก็หวังว่ารัฐจะพิจารณาผ่อนผันขยายเวลาโครงการดังกล่าวอีกสักระยะ เพื่อให้สังคมปรับตัวได้ดีกว่านี้ และมีการกระจายวัคซีนเด็กให้ทั่วถึงมากขึ้น หรือหากจำเป็นต้องยกเลิกตามที่ประกาศ ก็ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการรองรับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงอันตรายจากโรค ให้เข้าสู่ระบบรักษาอย่างรวดเร็ว