ชาวเน็ตกดดันจีน เหตุหญิงแม่ลูกแปดถูกล่ามโซ่ที่บ้าน หวั่นเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

ชาวเน็ตกดดันจีน เหตุหญิงแม่ลูกแปดถูกล่ามโซ่ที่บ้าน หวั่นเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

ชาวเน็ตกดดันจีน เหตุหญิงแม่ลูกแปดถูกล่ามโซ่ที่บ้าน หวั่นเป็นเหยื่อค้ามนุษย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมืองสวีโจว ในมณฑลเจียงซูของจีน ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีความสุขของจีนในปีค.ศ. 2021 ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัวเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม โดยเว็บไซต์ของทางการเมืองเจียงซูระบุว่า เมืองสวีโจวมีเศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็วและมีการวางผังเมืองที่ดี จนเป็นที่สนใจของทั่วทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม เพียงไม่กี่วันหลังการรายงานการจัดอันดับดังกล่าว บล็อกเกอร์รายหนึ่งในเมืองสวีโจวเผยแพร่คลิปวิดีโอของหญิงผู้หนึ่งซึ่งเป็นคุณแม่ลูกแปด ถูกล่ามโซ่ที่คอติดกับกำแพงกระท่อมท่ามกลางอากาศเย็นจัด เรื่องราวของหญิงผู้นี้ถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็วในโลกออนไลน์ช่วงก่อนการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง

ทางการเมืองสวีโจวได้พยายามจัดการเรื่องดังกล่าว แต่การจัดการผิดพลาดทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจจากทั้งภายในจีนและจากต่างประเทศ ที่กล่าวหาว่าทางการพยายามปกปิดเรื่องดังกล่าว

คลิปวิดีโอบนแอปพลิเคชั่น โต่วอิน (Douyin) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นติ๊กตอกของจีน เผยให้เห็นคลิปของหญิงชื่อ เสี่ยว ฮวาเหมย ผู้เป็นแม่ของลูกชายเจ็ดคน ลูกสาวหนึ่งคน โดยเธอปรากฎตัวข้างหลังผู้ที่เป็นเหมือนพ่อ และลูกๆ ของเธอ ขณะที่เธอถูกล่ามโซ่

คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็วเมื่อวันที่ 28 มกราคม ซึ่งเป็นช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนและการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ชาวเน็ตจีนต่างมีคำถามตามมาว่า หญิงผู้นี้คือใคร? เหตุใดเธอจึงถูกล่ามโซ่ ? เหตุใดเธอจึงมีลูกได้ถึงแปดคนขณะที่ทางการจีนควบคุมการวางแผนครอบครัว?

ทางการท้องถิ่นออกรายงานสี่ฉบับต่อเหตุดังกล่าว ในช่วงวันที่ 28 มกราคม ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ท่ามกลางความกังขาของชาวเน็ตว่า หญิงผู้นี้อาจเป็นเหยื่อถูกลักพาตัวและถูกทำร้ายในครัวเรือน

กระแสต่อกรณีดังกล่าว ยังกดดันให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนตระหนักถึงปัญหาต่างๆ เช่น การค้ามนุษย์อันเป็นผลจากจำนวนประชากรชายและหญิงที่ไม่สมดุลกัน ผลจากค่านิยมการมีลูกชายในครอบครัวจีน และนโยบายมีบุตรคนเดียวของจีนในช่วงปีค.ศ. 1980-2013

จนถึงวันอังคาร เว่ยโป๋ (Weibo) สื่อสังคมออนไลน์ของจีน คัดกรองแฮชแท็ก “เสี่ยว ฮวาเหมย” และแม้จะมีการอนุญาตให้พูดคุยถึงประเด็นดังกล่าวได้ แต่ประเด็นของเสี่ยว หัวเหมย กลับถูกปิดกั้นออกจากกลุ่มหัวข้อประเด็นร้อนของเว่ยโป๋

เจ้าหน้าที่ของหน่วยข้อมูลประชาสัมพันธ์เมืองสวีโจว ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวกับวีโอเอภาคภาษาจีนกลางว่า ทางการกำลังสืบสวนกรณีดังกล่าวอยู่

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ที่ระบุว่าตนชื่อ “นายซู” กล่าวว่า ผู้คนในแถบชนบทของจีนมักไม่เข้าใจกฎหมายที่ห้ามการทำร้ายร่างกายในครัวเรือน พื้นที่ดังกล่าวยังมักขาดการปกครองที่ดี ทำให้เกิดการค้ามนุษย์ขึ้น แต่ทางการก็กำลังดำเนินการต่อประเด็นนี้อยู่

รายงานที่ขัดแย้งกันเองสี่ฉบับ

ทางการเมืองสวีโจวออกรายงานสี่ฉบับที่ขัดแย้งกันเอง นับตั้งแต่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าว

ทางการเขตปกครองออกรายงานสองฉบับแรกที่ระบุว่า หญิงในคลิปวิดีโอถูกวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติทางจิต และเธอไม่ได้เป็นเหยื่อค้ามนุษย์

รายงานฉบับแรกถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มกราคม ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่คลิปวิดีโอเป็นที่สนใจทั่วจีน ทางการระบุว่า หญิงผู้นี้แต่งงานกับชายชื่อ ต่ง จือหมิน มีลูกด้วยกันแปดคน และเธอมีภาวะผิดปกติทางจิตอย่างแรง

รายงานอีกฉบับที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มกราคมระบุว่า หญิงผู้นี้เป็นขอทานที่พ่อของนายต่งนำเข้ามาในครอบครัว เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1998 แม้หน่วยงานวางแผนครอบครัวท้องถิ่นจะใช้ “มาตรการคุมกำเนิด” ต่อเธอหลังเธอคลอดลูกสองคนแรก แต่ก็ไม่สามารถคุมกำเนิดเธอได้เนื่องจาก “เงื่อนไขทางกายภาพ” ของเธอ

ต่อมาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ทางการระดับเมือง เผยแพร่ข้อมูลที่ขัดแย้งกับรายงานฉบับที่สอง และระบุว่าหญิงผู้นี้มีชื่อว่า “เสี่ยว ฮวาเหมย” หรือ “ดอกพลัมเล็ก” ซึ่งเป็นเชื่อที่แลดูเป็นชื่อเล่นมากกว่าชื่อ-สกุลจริง ในภาษาจีน

รายงานฉบับที่สามนี้ระบุว่า หญิงผู้นี้มาจากหมู่บ้านในมณฑลยูนนาน เมื่อปีค.ศ. 1996 แม่ของเธอขอให้หญิงผู้หนึ่ง ชื่อ “ซาง” นำลูกสาวของเธอไปรักษาอาการทางจิตที่มณฑลเจียงซู ลูกสาวคนดังกล่าวหายตัวไป และ “ซาง” ก็ไม่แจ้งให้พ่อแม่ของเธอหรือตำรวจท้องถิ่นทราบ

ชาวเน็ตจีนต่างไม่เชื่อถือรายงานของทางการ โดยต่างตั้งคำถาม เช่น ทางการจะอธิบายโซ่ที่ล่ามคอเธอว่าอย่างไร? หญิงผู้นี้แต่งงานได้อย่างไรหากเธอมีความผิดปกติทางจิต? ไม่มีใครติดต่อครอบครัวของเธอเลยหรือ หากเธอไม่ได้เป็นเหยื่อค้ามนุษย์?

หลังเผชิญกระแสจากสาธารณชนอย่างหนัก ทางการเมืองสวีโจวเผยแพร่รายงานฉบับที่สี่และฉบับล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดี โดยระบุว่า เสี่ยว ฮวาเหมย เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ และได้จับกุมบุคคลสามคนที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว รวมถึงสามีของเธอที่ถูกจับข้อหากักขังผู้อื่นโดยผิกฎหมาย ส่วนซางและสามีของเธอถูกจับข้อหาค้ามนุษย์

แรงกดดันอย่างต่อเนื่อง

ชาวเน็ตจีนจำนวนมากชื่นชมว่า รายงานฉบับล่าสุดเข้าใกล้ความจริงมากยิ่งขึ้น แต่ก็มีชาวเน็ตอีกส่วนที่เห็นว่า ทางการลงมือปฏิบัติเพียงเพราะถูกกระแสสังคมกดดัน บางส่วนยังตั้งคำถามต่อไปว่า ควรมีหลักฐานประกอบคดีมากกว่านี้ เช่น มีใบทะเบียนสมรสหรือไม่ หญิงผู้นี้อายุเท่าใด และควรมีผู้รับผิดชอบหากรายงานจากทางการมีข้อผิดพลาดอีก

นายซู เจ้าหน้าที่ของหน่วยข้อมูลประชาสัมพันธ์เมืองสวีโจว กล่าวกับวีโอเอภาคภาษาจีนกลางเมื่อวันศุกร์ว่า หน่วยงานประชาสงเคราะห์ได้เข้าดูแลหญิงคนดังกล่าวและลูกๆ ของเธอทั้งแปดคนแล้ว

นายซูระบุว่า รายงานสองฉบับแรกให้ความจริงไม่ครบถ้วนและสรุปว่าเธอไม่ได้เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เนื่องจากมีเวลาและทรัพยากรจำกัดในการทำรายงาน แต่ขณะนี้ทางการจีนได้สอบสวนเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่แล้ว

เหยา เชิง อดีตนาวาโทกองทัพเรือจีนและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี บอกกับวีโอเอภาคภาษาจีนกลางว่า จะต้องมีหน่วยงานที่สามทำการสืบสวนเรื่องดังกล่าวเพื่อรับรองถึงความโปร่งใสของกรณีนี้

เหยา ผู้เคยเป็นอาสาสมัครให้องค์กร Women’s Rights in China เมื่อปีค.ศ. 2007 – 2016 ระบุว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะต้องอนุญาตให้องค์กรระหว่างประเทศสืบสวนเรื่องดังกล่าวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณะ

เขายังระบุด้วยว่า นโยบายมีลูกคนเดียวของจีนทำให้จำนวนประชากรชายและหญิงในประเทศไม่สมดุลกัน โดยเฉพาะในเขตชนบทที่ผู้คนให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว

องค์การอนามัยโลกระบุว่า โดยปกติแล้ว จะมีเด็กทารกชาย 105 คนต่อเด็กหญิงทุกๆ 100 คน เนื่องจากโดบธรรมชาติแล้ว เพศชายมีโอกาสเสียชีวิตในขณะที่มีอายุน้อยกว่าเพศหญิง อย่างไรก็ตาม ในจีน สัดส่วนของเพศชายมีถึง 120 คนต่อเพศหญิงทุก 100 คน

สำนักข่าวบีบีซีระบุว่า เมื่อปีค.ศ. 2020 มีประชากรเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 34.9 ล้านคน ทำให้ผู้ชายหาภรรยาได้ยากขึ้นโดยเฉพาะในเขตชนบทของจีนที่สัดส่วนประชากรเพศชายมีมากกว่าเพศหญิงมาก

เหยาระบุว่า ความไม่สมดุลของประชากรทั้งสองเพศทำให้มีการค้ามนุษย์ผู้หญิงในเขตชนทบทของจีนมากขึ้น และกล่าวว่า ทางการจีนและตำรวจมักไม่สนใจเหตุดังกล่าวหรือบางครั้งก็ได้ผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ด้วยซ้ำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook