"จิราพร" ฟาดหนัก ม.44 เป็นกฎหมายเถื่อน! หวั่นค่าโง่มหาศาลกรณีเหมืองทองอัครา
“จิราพร” เริ่มอภิปรายวันที่ 2 จี้ปมปิดเหมืองทองอัครา ลั่นมาตรา 44 เป็นกฎหมายเถื่อน หวั่นทำประเทศเสียค่าโง่มหาศาล ชี้อนุญาโตตุลาการฯ เลื่อนอ่านคำชี้ขาดอาจมีกระบวนการประนีประนอม อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลง เป็นข้อแลกเปลี่ยน
วันนี้ (18 ก.พ.) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี วันสุดท้าย ซึ่งมี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยยังคงเปิดให้สมาชิกอภิปรายต่อเนื่อง
หลังจากเมื่อคืนนี้ สมาชิกอภิปรายจนถึงเวลา 00.49 น. และสั่งพักการประชุม โดยมีการใช้เวลาไปแล้ว 14 ชั่วโมง 34 นาที วันนี้จึงเหลือเวลาอีก 15 ชั่วโมง 25 นาที แบ่งเป็นฝ่ายค้าน 10 ชั่วโมง 49 นาที พรรคร่วมรัฐบาล 1 ชั่วโมง 56 นาที และคณะรัฐมนตรี 2 ชั่วโมง 39 นาที
เริ่มจาก น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายต่อประเด็นคดีเหมืองทองอัคราว่า พรรคเพื่อไทยนำเรื่องดังกล่าวเปิดเผย และอภิปรายซักถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาแล้วถึง 3 ครั้ง รวมถึงมีการตั้งคำถามแต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ตรงคำถาม อีกทั้งยังพบว่ามีการปกปิดข้อมูลที่เชื่อว่าจะมีความเสียหายกับประเทศไทย ทำให้ต้องอภิปรายเรื่องดังกล่าวเป็นรอบที่ 4
ซึ่งตนขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่าพร้อมตอบทุกคำถามให้ชี้แจงด้วยตนเอง โดยตนขอตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ของออสเตรเลีย ในฐานะบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ว่า รัฐบาลไทยได้อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลง ขณะที่กระบวนอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้น คณะอนุญาโตตุลาการฯ จะเลื่อนอ่านคำชี้แจงออกไป เป็นกรณีที่เกิดข้อสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ นำทรัพย์สมบัติชาติไปประเคน และเอาประเทศเป็นเครื่องประกันตัวเองออกจากคดี
น.ส.จิราพร ถามย้ำกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า รัฐบาลกับบริษัทคิงส์เกตฯ จะขอยกเลิกกระบวนการอนุญาโตตุลาการฯ และจะเดินหน้าเจรจากัน หรือจะเลือกที่จะสู้คดีความกันจนถึงที่สุด ถ้าหากประเทศไทยเลือกจะสู้คดี ไทยมีโอกาสแพ้คดีสูงมาก และต้องจ่ายค่าโง่ในรูปแบบเงิน ทองคำ หรือทรัพยากรประเทศ ซึ่งตรงกับแถลงการณ์ของบริษัท คิงส์เกตฯ ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย เมื่อ 23 ก.ย. 64 ระบุว่า "บริษัทฯ มีโอกาสที่จะได้ผลรับที่ประสบความสำเร็จจากคณะอนุญาโตตุลาการฯ หากการเจรจากับประเทศไทยไม่สามารถสรุปผลสำเร็จได้” ซึ่งจากประโยคนี้ คิงส์เกต มั่นใจว่าหากมีการตัดสินคดี บริษัทฯ จะชนะคดีอย่างแน่นอน ซึ่งคำถามที่ทุกคนอยากทราบมากที่สุด คือ ใครจะเป็นคนรับผิดชอบระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ หรือ ประเทศ
ส.ส.จิราพร เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงต่อสภา ถึงกรณีที่มีการเปิดทางให้บริษัท คิงส์เกตฯ นำผงเงินผงทองคำที่ถูกอายัดไว้ออกขาย การให้สิทธิสำรวจแร่เกือบ 400,000 ไร่ การให้สิทธิต่อประทานบัตร 4 แปลง เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ซึ่งถ้าหากไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการประนีประนอมยอมความแล้ว ทำไมการฟ้องร้องจึงยังไม่ยุติ
“เป็นไปได้อย่างไร ที่คดีพิพาทในเหมืองเดิมที่มีพื้นที่เพียง 3 พันกว่าไร่ ยังไม่ยุติ นอกจากได้สิทธิในพื้นที่เดิมคืน ยังได้สิทธิใหม่เพิ่มเติม เท่ากับว่าต้องใช้สมบัติชาติเฉียด 1 ล้านไร่ เพื่อสังเวยค่าโง่ของการใช้มาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา มันเป็นไปได้อย่างไร อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามนี้ให้ชัดๆ” น.ส.จิราพร กล่าวในระหว่างอภิปราย
ทั้งนี้ ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว รวมถึงกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการฯ เลื่อนอ่านคำชี้ขาด โดยมองว่ากรณีที่เกิดขึ้นอาจมีกระบวนการประนีประนอมยอมความเพื่อให้ถอนฟ้อง เพราะไม่ต้องการให้ศาลระหว่างประเทศตัดสิน หรือ ชี้สถานะทางกฎหมายของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ว่าเป็นกฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรมในสากล เพราะเป็นกฎหมายเถื่อนไม่ผ่านสภาฯ เป็นคำสั่งที่ออกจากคณะรัฐประหาร
ขณะเดียวกัน หากอนุญาโตตุลาการฯ ชี้สถานะว่า มาตรา 44 ไม่มีผลทางกฎหมาย จะกลายเป็นสึนามิต่อรัฐบาล ที่ใช้มาตรา 44 กับบริษัทคิงส์เกตฯ ในฐานะบริษัทต่างชาติ และจะทำให้การกระทำดังกล่าวมีองค์ประกอบเข้าข่ายเป็นกลุ่มองค์กรอาชญากรรม ตามนิยามข้อที่ 2 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ดังนั้น การใช้มาตรา 44 อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกตีความเป็นองค์กรอาชญากรรม กลายเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารไทยคนแรกที่ต้องไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ จึงทำให้มีการเจรจาถอนฟ้องใช่หรือไม่
"คณะอนุญาโตตุลาการจะต้องชี้สถานะทางกฎหมายของมาตรา 44 ซึ่งคงไม่มีอภินิหารทางกฎหมายใดในโลกนี้ ที่จะทำให้การใช้มาตรา 44 เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมในเวทีสากล เพราะมาตรา 44 เป็นกฎหมายเถื่อน เป็นกฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญาที่ไม่ผ่านรัฐสภา แต่ออกโดยคณะรัฐประหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วคณะอนุญาโตตุลาการจะกล้ารับรองความมหัศจรรย์ของกฎหมายเถื่อนนี้หรือคะ" ส.ส.จิราพร ระบุระหว่างอภิปราย
นอกจากนั้น หากการตัดสินมาตรา 44 ว่าผิด จะมีอาฟเตอร์ช็อกต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลทั้งคณะ คือ หากมาตรา 44 ผิดพลาด และรัฐบาลยังพยายามเอาทรัพย์สินและประเทศ ไปประกันตัวเองออกจากคดี หากไทยสามารถเจรจาประนีประนอมยอมความโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย จะกลายเป็นความผิดพลาดร้ายแรงซ้ำสอง สร้างภาระประเทศไม่มีที่สิ้นสุด