"ประยุทธ์" โต้ฝ่ายค้าน หลังทำใบลาออกมาให้ ลั่น "เก็บไว้ใช้เองแล้วกัน ผมไม่ลาออก"
"ประยุทธ์" สวนฝ่ายค้านเก็บใบลาออกไว้ใช้เอง "จิราพร" แฉ รบ.เตรียมประเคนแหล่งทองคำในเขตป่าสงวนฯ กว่า 6 แสนไร่ ให้คิงส์เกต จ่ายค่าโง่ ม.44 "สุริยะ" ตอบไม่ตรงคำถาม เอาอะไรไปแลกเจรจา
น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงกรณี บริษัท คิงส์เกต ฟ้องประเทศไทย ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้คำสั่ง ม.44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา ว่า หลายครั้งที่พรรคเพื่อไทยถามเรื่องนี้ แต่นายกฯกลับตอบไม่ตรงคำถาม จนกลายเป็นคดีระหว่างประเทศที่ดำมืด อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ หลงตัวเองกล้าเอาตัวเองไปเปรียบเป็นพระลักษณ์ พระราม ซึ่งเขาคงเชื่อแบบนั้นจริงๆ เหตุเพราะพระรามมีสมุนเป็นลิง ลิงที่กินกล้วย
น.ส.จิราพร อภิปรายว่า ขณะนี้มีการเปิดทางให้คิงส์เกตนำผงเงินผงทองคำที่ถูกอายัดไว้ออกขาย ให้สิทธิสำรวจแร่เกือบ 4 แสนไร่ การให้สิทธิต่อประทานบัตร 4 แปลง อยากถามว่านี่คือส่วนหนึ่งของการเจรจาประนีประนอมยอมความของทั้งสองฝ่ายหรือไม่ ถ้าตอบว่าทั้งหมดไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการประนีประนอม
"ทำไมการฟ้องร้องกันยังไม่ยุติ หรือคดีไม่ถึงที่สุด แต่รัฐบาลไทยกลับเปิดเหมืองให้ทำต่อ เป็นไปได้อย่างไรที่คดีเดิมมีการฟ้องร้อง เพียง 3 พันกว่าไร่ ยังไม่ยุติ นอกจากได้สิทธิเก่าคืนแล้ว ยังได้สิทธิใหม่เพิ่มเติม เท่ากับว่าเป็นการใช้พื้นที่เฉียดหนึ่งล้านไร่ เพื่อสังเวยค่าโง่ ของการใช้ม.44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา"
จิราพร ถามว่า ไทยให้อะไรคิงส์เกตถึงได้ยอมประนีประนอม ไม่มีในโลกที่โจทก์จะยอมความโดยไม่ได้ประโยชน์ที่คุ้มค่ากลับไป อย่างไรก็ตาม คิงส์เกตแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าทั้งสองฝ่ายชะลอให้อ่านคำชี้ขาดคดีไปจนถึงเดือนตุลา 64 เพื่อให้มีระยะเวลาสั้นๆ ได้เจรจาร่วมกัน โดยมีรายการเจรจา 11 รายการ โดยสรุปสิ่งที่ประเทศไทยต้องเสียไป มีมูลค่ามากกว่าการที่ประเทศไทยต้องชดใช้ หากไทยแพ้คดี
น.ส.จิราพร อภิปรายต่อว่า การให้อาชญบัตรสำรวจแร่ เกือบ 4 แสนไร่ การให้สิทธิประทานบัตร เกี่ยวข้องกับกฎหมายไทยหลายฉบับ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติเหมืองแร่ พ.ศ.2560 มาตรา 17 วรรคสี่ กำหนดว่าเขตทำเหมืองแร่ ห้ามทำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตป่าสงวน พื้นที่เขตปลอดภัย ต้นน้ำ หรือแหล่งน้ำซับซึม แต่ปรากฎว่า ตั้งแต่กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ผ่านมา 5 ปี ยังมีการยื้อเวลา ไม่ประกาศเขตเหมืองแร่ แต่ตอนนี้มีการเปิดทางให้มีการสำรวจแร่ 6 แสนไร่ที่คิงส์เกตขอไว้ คือแหล่งสุวรรณและแหล่งโชคดี ซึ่งเป็นแหล่งทองคำ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย และทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก ถามว่านายกจะยกให้คิงส์เกตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังมีการทอดเวลา รัฐบาลกำลังค่อยๆ แร่เนื้อเถือแผ่นดิน
น.ส.จิราพร อภิปรายทิ้งท้ายว่า ถ้าอนุญาโตตุลาการชี้ว่ามาตรา 44 ไม่มีความชอบธรรม ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เห็นว่าเข้าข่ายกลุ่มองค์กรอาชญากรรม ตามอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ อาจต้องขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงพยายามเจรจาให้เขาถอนฟ้อง และประเคนทรัพย์สินของประเทศไปประกันตัวเองออกจากคดีหรือไม่ พรรคเพื่อไทยไม่มีวันลืม และจะแสวงหาข้อเท็จจริงทุกช่องทาง นำความจริง ตีแผ่เบื้องหลัง หากการเจรจายอมความมีพฤติกรรมไม่สุจริต มีข้อแนะนำเดียว คือ ขอให้พล.อ.ประยุทธ์เตรียมทีมทนายทั้งในและต่างประเทศไว้ให้ดี
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า รัฐบาลทุกสมัยมีหน้าที่ในการพิจารณาให้นำทรัพยากรออกมาใช้อย่างเหมาะสม รัฐบาล ปี 2544 เห็นชอบตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการเหมืองแร่ เชิญชวนให้มีการลงทุนและทำเหมืองทองในจังหวัดพิจิตร และปี 2554 รัฐบาลระงับการต่อใบอนุญาตประทานบัตรจำนวน 1 แปลง ด้วยปัญหาความชัดเจนและมีการฟ้องร้องกันอยู่ในศาลปกครอง และมีการร้องเรียนจากประชาชนมีปัญหาสุขภาพจากการทำเหมือง และมีข้อโต้แย้งเรื่องขั้นตอนการอนุญาตขาดความรัดกุมและปัญหาสิ่งแวดล้อม ต่อมา รัฐบาล คสช. เข้ามาในช่วงที่มีปัญหาโต้แย้งกันอยู่แล้ว มีความชอบธรรมในการดำเนินการตามความจำเป็น ประกอบกับปัญหาสิ่งแวดล้อม รัฐบาลย่อมต้องพิจารณาหาแนวทางตามที่มีความจำเป็น และหลักจากการออก พ.ร.บ.เหมืองแร่ ปี 2560 มีการออกนโยบายการทำเหมืองแร่ใหม่ เอกชนกว่า 100 รายก็มาขอใบอนุญาตใหม่และต่อใบอนุญาตเก่า เช่นเดียวกันกับ บริษัท อัครา ก็เป็นไปตามเงื่อนไขที่ให้ต่อใบอนุญาต แม้ผู้บริหารของบริษัทจะยังมีคดีความอยู่กับรัฐ แต่ก็ยังสามารถเข้าร่วมประมูลได้ และบริษัท อัครา ก็ได้ยื่นหนังสือต่อใบอนุญาตตามกฎหมาย เหมือนบริษัทอื่นๆ แต่ไม่ได้ต่อรองเพื่อแลกเปลี่ยนอะไรกับรัฐบาลทั้งสิ้น เป็นการต่อใบอนุญาตแปลงเดิมปี 2536 และ 2543 เป็นข้ออนุญาตตามใบอนุญาตเดิมตั้งแต่รัฐบาลยุคก่อน และการอนุญาตการสำรวจก็เป็นไปตามหลักกฎหมาย
การเจรจาเกิดขึ้นตามคำแนะนำของอนุญาโตตุลาการ ไทยไม่ได้เป็นฝ่ายไปขอเจรจาก่อน และการฟ้องร้องของบริษัท คิงส์เกต เป็นไปด้วยความที่ไม่เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการยึดเหมืองของบริษัทลูก เพราะไม่มีการต่อใบอนุญาตมาตั้งแต่ปี 2554 เพราะบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศ ส่วนเรื่องการใช้มาตรา 44 เป็นความตั้งใจบิดเบือนของผู้อภิปรายที่อยากให้ตนเสียหาย เนื่องจากมาตรา 44 เป็นเรื่องของการตรวจสอบและแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมาย และหากแก้ไขแล้วก็สามารถขออนุญาตให้เกิดใหม่ได้ ไม่ใช่ความต้องการที่จะยึดเหมือง หลังจากนั้นรัฐบาลก็ให้ความเป็นธรรมในการขอต่อใบอนุญาต โดยเป็นไปตาม พ.ร.บ.เหมืองแร่ ฉบับแก้ไขในปี 2560 และถ้าเกิดปัญหาขึ้นในอนาคตคงไม่ใช่ตนคนเดียว คงต้องย้อนกลับไปยังรัฐบาลก่อนๆ ที่ให้อนุญาตด้วย แต่ในรัฐบาลของตนต้องมาเป็นคนแก้ไข ตอนนี้กรณีนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ขออย่าให้ทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศ และขอให้การอภิปรายไม่ใช่หวังตีรัฐบาล ล้มรัฐบาลอย่างเดียว แต่อยากให้มีการเสนอทางออกที่คิดว่าทำได้ด้วย ส่วนเรื่องที่จะให้ตนลาออก มีการเอาใบลาออกมาให้ ขอเก็บให้ไว้ใช้เอง คนไม่ออก
"ผมขอให้สภาเป็นสถานที่รับฟัง รับข้อเสนอแนะ ผมพร้อมจะฟังของท่าน แต่ถ้าท่านมุ่งหวังว่าจะตีรัฐบาล จะล้มรัฐบาล จะให้นายกฯ ออกให้ได้ ผมว่าไม่ถูก ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน หน้าที่ของท่านคือไปเข้ากระบวนการ เมื่อวาน มีผมลาออก ลาเอิก ยื่นใบลาออก เก็บไว้ให้ตัวเองก็แล้วกัน ผมยังไม่ลาออกทั้งนั้น ขอบคุณครับ สวัสดีครับ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แจงไม่มีการยกทรัพยากรชาติแลกเปลี่ยนถอนฟ้องคดี โดยการเจรจาระหว่างไทยกับคิงส์เกต ฝ่ายไทยไม่ได้เป็นผู้เริ่มขอเจรจา แต่เป็นการแนะนำของคณะอนุญาโตตุลาการประหว่างการไต่สวนข้อพิพาทที่ประเทศที่สิงคโปร์ ช่วงต้นเดือน ก.พ.63 และเริ่มมีการเจรจาในเดือน มิ.ย.63 ส่วนที่เลื่อนการชี้ขาดส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิด – 19 แต่ละครั้งที่เลื่อนไม่มีเรื่องการให้สิทธิประโยชน์มาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ส่วนที่คิงส์เกตสามารถเปิดเผยข้อมูลได้ แต่ไทยกลับไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆนั้น ในหลักการตราบใดที่ยังไม่มีการอ่านคำชี้ขาด ทั้งสองฝ่ายจะไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลในชั้นอนุญาโตตุลาการได้ ซึ่งข้อมูลที่คิงส์เกตนำมาเปิดเผยไม่ใช่ข้อมูลในคดี แต่เป็นเอกสารข่าวของบริษัท และเป็นข้อมูลจากการเจรจายุติข้อพิพาทที่คิงส์เกตอยากจะได้และเรียกร้อง ซึ่งไม่ใช่ข้อตกลงของสองฝ่าย
ทั้งนี้ นายสุริยะ แจกแจงว่า จากข้อมูลทางการเงินของบริษัท อัคราฯ ที่ประกอบกิจการเหมืองทองในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2543- 2558 มีกำไร 1.1 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับค่าเสียหายที่อ้าง 3 หมื่นล้านบาท บริษัท อัคราฯ ต้องประกอบกิจการถึง 38 ปี ส่วนที่กล่าวหาว่าการอนุญาตให้บริษัท อัคราฯ เอาผงทองไปขายเพื่อแลกเปลี่ยนการถอนฟ้องคดีนั้น ในอดีตบริษัท อัคราฯ จะนำผงทองคำ และเงิน ที่ได้จากการทำเหมืองมาหลอมเป็นแท่งโลหะทองผสมเงินส่งออกต่างประเทศ แต่ช่วงที่ คสช. ระงับการทำเหมืองตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 บริษัท อัคราฯ มีผงทอง ผงเงิน ค้างอยู่ ต่อมาวันที่ 9 ส.ค.60 มีการยกเลิกการระงับการประกอบกิจการชั่วคราว ดังนั้น ในหลักการบริษัท อัคราฯ สามารถนำผงทองคำ และเงิน ที่เหลือไปหลอมส่งออกต่างประเทศได้ ซึ่งไม่ใช่การนำทรัพยากรของชาติไปแลกแต่อย่างใด
ด้านนางสาวจิราพร ขอใช้สิทธิพาดพิงเพื่อชี้แจงและถามกลับว่า ตนไม่ได้บอกว่าเจรจาแล้วใครได้ใครเสีย เพราะถ้าเจรจาแล้วชนะ ก็ไม่ต้องจ่ายอะไร แต่นี่รัฐบาลเอาอะไรไปจ่ายเขาก็ยังไม่ได้คำตอบ แต่ท่านบอกว่าการเจรจาไปในทิศทางเชิงบวก แต่ยังไม่ตอบว่าเอาอะไรไปเจรจา ถ้าไม่ใช่เรื่องการต่อประทานบัตรและการเพิ่มพื้นที่สำรวจ ถ้าบอกว่าการเรียกร้องค่าเสียหาย 3 หมื่นล้านบาทเป็นเรื่องเท็จ แล้วสรุปต้องเสียค่าปรับจริงๆ เท่าไร และบริษัทอัครา จดทะเบียนในไทยปี 2536 และได้รับสัปทานปี 2543 ซึ่งก่อนสมัย นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และที่ตนอภิปรายไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการอภิปรายเรื่องการใช้มาตรา 44 คือการใช้อำนาจโดยมิชอบ