สตาร์ ปิโตรเลียมฯ แถลงปมน้ำมันรั่ว ท่อใต้ทะเลมีรอยปริ เปิดสายด่วนรับเรื่องเยียวยา

สตาร์ ปิโตรเลียมฯ แถลงปมน้ำมันรั่ว ท่อใต้ทะเลมีรอยปริ เปิดสายด่วนรับเรื่องเยียวยา

สตาร์ ปิโตรเลียมฯ แถลงปมน้ำมันรั่ว ท่อใต้ทะเลมีรอยปริ เปิดสายด่วนรับเรื่องเยียวยา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สตาร์ ปิโตรเลียมฯ แถลงปมน้ำมันรั่ว ท่อใต้ทะเลมีรอยปริ เปิดสายด่วนรับเรื่องเยียวยา ยันจะพิจารณาชดใช้ค่าเสียหายที่สมเหตุสมผลและเป็นธรรม

จากกรณี น้ำมันรั่วไหลจากท่ออ่อนบริเวณจุดขนถ่ายน้ำมัน (SPM) ในอ่าวไทยเมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา  บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินการตามแผนในการเตรียมนำน้ำมันดิบออกจากท่ออ่อนใต้ทะเลเส้นที่ไม่ได้รับความเสียหาย ซึ่งในระหว่างการเตรียมงาน ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ได้สังเกตเห็นน้ำมันไหลออกมาจากรอยรั่วจุดที่สอง จึงได้ทำการหยุดกิจกรรมทั้งหมดโดยทันที และระดมทีมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินปฏิบัติการตอบโต้ เพื่อควบคุมสถานการณ์ทั้งในทะเลและชายฝั่งทันที ต่อมา ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 พบแผ่นฟิล์มน้ำมันประมาณ 5,000 ลิตร บริเวณรอบนอกของจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) บริษัทฯ ขอรับการสนับสนุนจากองทัพเรือ โดยได้ทำการฉีดพ่นสารขจัดคราบน้ำมันด้วยเรือและเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งใช้โดรนเฝ้าสังเกตการณ์ทางอากาศ ทั้งนี้ ปฏิบัติการดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงแล้ว  

จากการหาสาเหตุการรั่วไหลของน้ำมันในเบื้องต้นบริษัทฯ พบว่าท่ออ่อนใต้ทะเลเส้นที่เสียหาย มีรอยปริสองจุด โดยจุดแรกได้ถูกห่อหุ้มเพื่อหยุดการรั่วไหลไว้แล้ว ส่วนจุดที่สอง ไม่พบการรั่วไหลของน้ำมันเพิ่มเติมในช่วงที่ท้องทะเลมีสภาวะปกติ อันเนื่องมาจากแรงดันสมดุลใต้น้ำ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาวะในท้องทะเลมีความไม่แน่นอน ในสภาวะที่ท้องทะเลไม่ปกติ อาจส่งผลให้มีน้ำมันรั่วไหลเพิ่มเติมจากจุดที่สองนี้ได้  ดังนั้น ภารกิจเร่งด่วนของบริษัทฯ คือการนำวัสดุมาห่อหุ้ม (Wrapping) ท่ออ่อนใต้ทะเลบริเวณรอยปริดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

 

กระบวนการนำน้ำมันออกจากท่อและการเก็บกู้ท่อที่เสียหายนั้น บริษัทฯ จะดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างรอบคอบ ตามที่ได้มีการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงตามที่ได้รับคำแนะนำทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ คำแนะนำจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย และผู้ชำนาญการด้านการเก็บกู้น้ำมัน 

บริษัทฯ ได้จัดให้มีอุปกรณ์กักเก็บน้ำมันใต้น้ำ (subsea tent) บริเวณท่ออ่อนใต้ทะเลเส้นที่เสียหาย และมีการใช้โดรนและเฮลิคอปเตอร์เฝ้าระวังทางอากาศ อากาศยานใต้น้ำสำหรับเฝ้าระวังใต้น้ำ และมีการจัดเตรียมทุ่นกักน้ำมัน (boom) อุปกรณ์ดูดคราบน้ำมัน (skimmer) และเรือฉีดพ่นสารฉีดพ่นขจัดน้ำมัน เพื่อใช้ในยามจำเป็นและฉุกเฉินจนกว่ากระบวนการนำน้ำมันออกจากท่อจะสำเร็จลุล่วงและปลอดภัย    

นายโรเบิร์ต โดบริค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SPRC กล่าวว่า บริษัทฯ ได้จัดเตรียมแผนการทำงานเกี่ยวกับการนำน้ำมันออกจากท่ออ่อนใต้ทะเลและการเก็บกู้ท่อที่เสียหายจากจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) รวมถึงแนวทางป้องกันและการตอบโต้อย่างรัดกุม โดยความพยายามในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการทางด้านอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน การปฏิบัติงานในครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก บริษัทฯ ขอขอบคุณการสนับสนุนจากกองทัพเรือ กรมเจ้าท่า และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมทำงานกับพวกเราอย่างเต็มที่ บริษัทฯ ขอยืนยันว่าจะทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามข้อบังคับที่ได้รับจากหน่วยงานทั้งหมดอย่างเคร่งครัด และจะพิจารณาชดใช้ค่าเสียหายที่สมเหตุสมผลและเป็นธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ บริษัทฯ ได้ตั้งสายด่วน 1567 และศูนย์ให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยา

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook