อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยโควิด ทำไมบางคนไม่ติดเชื้อ

อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยโควิด ทำไมบางคนไม่ติดเชื้อ

อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยโควิด ทำไมบางคนไม่ติดเชื้อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สื่อต่างประเทศหลายสำนักพยายามไขข้อข้อสงสัยว่า ทำไมสมาชิกครอบครัวบางคนที่อยู่ชายคาเดียวกับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จึงไม่ได้รับเชื้อหรือไม่มีอาการป่วย ขณะที่ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด ซึ่งแพร่ระบาดได้ง่ายนั้น ถ้าสมาชิกคนหนึ่งคนใดในบ้านติดโควิด สมาชิกคนอื่นๆ ก็จะได้รับเชื้อไปด้วย 

ดร.ลูซี แมคไบรด์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อในวอชิงตัน ดีซี ของสหรัฐ อธิบายกับ Yahoo News ว่า การติดโควิดในครอบครัวนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ ปริมาณไวรัสที่แพร่ออกมาจากสมาชิกคนที่ติดเชื้อ สภาพของบ้านที่อยู่ร่วมกัน ระบบภูมิคุ้มกันของคนในครอบครัว และสถานะการได้รับวัคซีนของคนที่ติดเชื้อและสมาชิกในบ้าน

แต่ละคนจะหายใจเอาละอองฝอยที่มีไวรัสเข้าสู่ร่างกายไม่เท่ากัน และร่างกายจะตอบสนองต่อไวรัสแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานด้านสุขภาพ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดร.ลูซีบอกว่า คนที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม หากยังมีอายุไม่มาก และสุขภาพดี อาจจะไม่มีอาการป่วยเลย และบ้านมีพื้นที่กว้าง เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทตลอดเวลา โอกาสในการติดเชื้อก็จะน้อยลงกว่าบ้านที่มีพื้นที่เล็กและอับทึบ

รายงานล่าสุดจากศูนย์ควบคุมป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) ชี้ว่า โอกาสในการแพร่เชื้อโควิดของคนในครอบครัวอยู่ที่ประมาณ 53% ในบ้านที่ไม่แออัด และการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA Internal Medicine เมื่อปลายเดือน ม.ค.ระบุว่า คนที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความเสี่ยงติดเชื้อและป่วยจากโอมิครอนน้อยกว่า 66% เมื่อเทียบกับคนที่ได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็ม การศึกษาอื่นๆ ชี้ว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถลดโอกาสในการป่วยที่ต้องเข้าห้องฉุกเฉินและโอกาสในการเสียชีวิตได้ถึง 80%

ศ.โทนี คันนิงแฮม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ และนักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ บอกในทำนองเดียวกันว่า มีหลากหลายปัจจัยที่จะทำให้สมาชิกในบ้านไม่ติดเชื้อโควิดครบทุกคน มีทั้งเรื่องระดับภูมิคุ้มกันของแต่ละคนที่ทำให้เชื้อไวรัสในร่างกายลดลงปริมาณลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจมาจากการได้รับวัคซีน หรือเป็นไปได้ที่มีพันธุกรรมซึ่งสามารถต่อต้านเชื้อโควิดได้

ส่วนคนที่ได้รับวัคซีนโดยเฉพาะเข็มกระตุ้น หากได้รับเชื้อจะทำให้ไวรัสที่อยู่ในโพรงจมูกและระบบหายใจลดลงอย่างรวดเร็ว กระทั่งไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้อีก

ทางด้าน ดร.โจเซฟ แมคการ์กริลล์ แพทย์ด้านโรคติดต่อจากศูนย์การแพทย์ MercyOne อธิบายว่า การที่บางคนในครอบครัวไม่ติดเชื้อ อาจเพราะเคยติดเชื้อโควิดมาแล้วก่อนหน้าทำให้มีภูมิต้านทาน และไม่ติดเชื้ออีกแม้จะอยู่ใกล้ชิดกับคนในบ้านที่ป่วยด้วยโควิด และมีโอกาสเช่นกันที่บางคนในบ้านไม่แสดงอาการหรือไม่มีอาการป่วยเลย เป็นเพราะไม่ได้รับเชื้อในปริมาณที่มากพอ

ขณะที่บางคน มีพันธุกรรมที่ต้านทานต่อไวรัสได้ดี ทำให้มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการเลยแม้ผลการตรวจจะออกมาเป็นบวก

ล่าสุด ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติกำลังค้นหายีนส์ในคนที่สามารถต้านโควิดได้ โดยหวังว่า ยีนส์ที่อาจเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ จะนำมาซึ่งการพัฒนาเป็นยาป้องกันไวรัสเพื่อปกป้องผู้คนจากโควิดในอนาคต 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook