เจอ ครม.เบรกหัวทิ่ม! สธ.กลับลำให้ผู้ป่วยโควิดยังคงใช้สิทธิ UCEP ได้ต่อไป
ครม.เบรกหัวทิ่ม! สธ.กลับลำให้ผู้ป่วยโควิดยังคงใช้สิทธิรักษาแบบ UCEP ได้ต่อไป "อนุทิน" มั่นใจสถานการณ์ไม่หนักอีก ยืนยันจำนวนเตียง ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์พร้อม สามารถรองรับสภาวะฉุกเฉินได้
วันนี้ (22 ก.พ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีเต็มคณะประจำสัปดาห์ ซึ่งทั้งก่อนและหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนและไม่ได้มอบหมายให้นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจงแทนเหมือนทุกครั้ง ได้แต่เพียงพูดถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในที่ประชุม ครม. ว่า นายกฯ ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
โดยกำชับให้บริหารจัดการระบบการรักษา ทั้งในระบบ Home Isolation และCommunity Isolation ให้เพียงพอ พร้อมทั้งยังห่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีการติดเชื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะในเด็กที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคร่งครัดในมาตรการ
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันถึงการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ขณะนี้จำนวนเตียง ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ยังเพียงพออยู่ และยังมีความพร้อมอยู่ พร้อมกับยืนยันว่าระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับหากเกิดสภาวะฉุกเฉินได้
ขณะที่ปัญหาการหาสถานที่ตรวจเชื้อแบบ RT-PCR ที่ยากขึ้นนั้น นายอนุทิน ระบุว่า วันนี้มีมาตรการออกมาแล้ว และทราบอยู่แล้วว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอนค่อนข้างติดกันง่ายแต่หายเร็ว ใช้มาตรการที่ทำให้เศรษฐกิจนั้นสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งก็ต้องมีความพร้อมในทุกมิติ โดยมีเตียงเพียงพอรองรับการรักษาตัวของผู้ป่วยสีเขียวทั้งระบบ Home Isolation หรือ หากอยู่กันแบบรวมกลุ่มไม่สะดวกต่อการกักตัวที่บ้าน ก็จะให้เข้าระบบ Community Isolation
พร้อมกับย้ำว่า โรงพยาบาลไม่ได้ลดการให้บริการดูแลประชาชนลง และ Hospitel ยังเปิดบริการตามปกติ ไม่มีโรงพยาบาลใดที่ไม่รับคนไข้ พร้อมกับย้ำว่าเป็นไปไม่ได้เลย
นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนาม หากมีความจำเป็นก็สามารถจัดตั้งได้ทันที และอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในโรงพยาบาลสนามบุษราคัม 4-5 พันเตียง ยังอยู่ในลักษณะเตรียมพร้อม ไม่ได้หายไปไหนหรือขายทิ้ง ยังคงเตรียมไว้ในกรณีฉุกเฉินตลอดเวลา
สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ มีการพิจารณาเห็นชอบให้มีการเลื่อนประกาศใช้ข้อกำหนดเกณฑ์รักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน หรือยูเซ็ป (UCEP) ซึ่งจะมีการปรับให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้ารักษาฟรีตามสิทธิสุขภาพของตนเอง เช่น ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 ออกไปก่อน เพื่อให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจกับการใช้บริการด้านสุขภาพของตัวเอง และเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้น จึงขอให้ยึดหลักเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉินรักษาฟรีทุกที่ หรือยูเซ็ป เช่นเดิม
ทั้งนี้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเรื่องการออกประกาศเรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ให้ออกจากภาวะฉุกเฉินวิกฤต รักษาทุกที่ หรือยูเซ็ป ฉบับใหม่ โดยที่ประชุมให้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปทบทวนและชะลอการประกาศออกไปก่อน เพราะต้องมีการซักซ้อมทำความเข้าใจ ปรับการบริการรองรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรือกลุ่มสีเขียว ที่มีค่อนข้างมาก รวมถึงให้เพิ่มคู่สาย 1330 ให้การบริการครอบคลุม ก่อนที่จะเสนอเรื่องดังกล่าวกลับมาสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้เช้า (23 ก.พ.) จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่จะมีการรายงานถึงสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาด รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อ พร้อมกับมาตรการเปิดเรียนแบบ on-site อยู่ได้กับโควิดในสถานศึกษา การปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร พร้อมแผนการให้บริการวัคซีนด้วย
สธ. แจงหลัง 1 มี.ค. ผู้ป่วยโควิดยังใช้สิทธิ UCEP รักษาได้ต่อไป
ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขไปทบทวนเรื่องกระบวนการนำโรคโควิด-19 ออกจากการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) ออกไปก่อน จากเดิมที่กำหนดจะเริ่ม 1 มี.ค.นี้ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการติดต่อเพื่อรับการรักษาผ่านช่องทางต่างๆ
ทั้งนี้ UCEP-Covid ยังมีผลอยู่ โดยขณะนี้ผู้ป่วยโควิดถือว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน สถานพยาบาลต้องให้การดูแล ห้ามปฏิเสธ หากโรงพยาบาลไม่มีศักยภาพในการรักษาที่เพียงพอ ให้ส่งต่อผู้ป่วย และไม่สามารถเรียกเก็บเงินมัดจำได้
“ตอนนี้ยังใช้ UCEP-Covid เหมือนเดิม โดยจะมีการซักซ้อมกระบวนการต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อม ส่วนกรอบเวลาในการทบทวนจะนำเข้าคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องและเสนอต่อไป” นพ.ธเรศ กล่าว
สำหรับ Hospitel ขณะนี้ยังมีให้บริการ 200 แห่ง มีเตียง 36,000 เตียง และยังให้บริการดูแลผู้ป่วยอยู่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล แต่หลังจากที่สถานการณ์การติดเชื้อเพิ่มขึ้น มีการเปิด Hospitel ประมาณ 2-3 แห่ง เนื่องจากมีอัตราการครองเตียงต่อแห่งประมาณ 30% เท่านั้น
นอกจากนี้ นพ.ธเรศ ยังกล่าวถึงกระบวนการรักษาว่า ปัจจุบันใช้การตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เป็นหลัก หากมีผลบวกให้เข้ารับการรักษาพยาบาลใน Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) แต่ยังมีบางบริษัทประกันที่ต้องการผลยืนยันด้วย RT-PCR ซึ่ง สธ. ได้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) แล้วว่าให้ทบทวนประเด็นนี้กับบริษัทประกัน