หยาดเหงื่อและคราบน้ำตา ของ “ม็อบชาวนา” ที่ไร้การเหลียวแล

หยาดเหงื่อและคราบน้ำตา ของ “ม็อบชาวนา” ที่ไร้การเหลียวแล

หยาดเหงื่อและคราบน้ำตา ของ “ม็อบชาวนา” ที่ไร้การเหลียวแล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศขาดทุนและไม่มีเงินเพียงพอไปชำระหนี้กับธนาคารของรัฐ โดยเกษตรกรท่านหนึ่งสะท้อนว่า เธอกู้เงินมาเจ็ดแสนบาท แต่เมื่อรวมกับดอกเบี้ยที่เพิ่มพูนขึ้นอีกสองล้าน ทำให้เธอเป็นหนี้กว่าสามล้าน บวกกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้เธอไม่สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ 
  • ในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ขึ้น โดยมีเป้าหมายให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรและฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น แต่เวลาล่วงเลยมากว่า 23 ปีแล้ว คำสัญญาว่าจะดำเนินการเรื่องการบรรเทาหนี้สินของ กฟก. ก็ยังไม่เกิดขึ้น
  • เกษตรกรจากทั่วประเทศจึงรวมตัวกันและเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร เพื่อทวงถามสัญญาที่ภาครัฐเคยให้ไว้กับพวกเขา พร้อมกับ 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1. ขอให้สถาบันทางการเงินเจ้าหนี้ชะลอการฟ้องบังคับยึดทรัพย์ และเร่งดำเนินการโอนหนี้สิน 2. ขอให้ลดหนี้ปลดหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิก กฟก. ที่ตาย พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ เจ็บป่วย เป็นโรค เหลือ และ 3. ตรวจสอบปัญหาทุจริตคอรัปชั่นพร้อมกับปฏิรูปการบริหารงานของสำนักงาน กฟก.
  • เมื่อสอบถามความคืบหน้าไปยังนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนการสรุปเรื่องกับธนาคารทั้ง 5 แห่ง ก่อนจะส่งไปให้กระทรวงการคลังพิจารณาและส่งกลับมาให้ ครม. พิจารณาอีกครั้ง

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา “#ม็อบชาวนา” ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ ชาวเน็ตต่างร่วมกันกระจายข่าวสารของกลุ่มเกษตรกรหลายร้อยคน ที่เดินทางมาปักหลักชุมนุมอยู่หน้ากระทรวงการคลัง (ก่อนจะเคลื่อนย้ายมาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในภายหลัง) โดยหวังว่าจะได้มีโอกาสสะท้อนปัญหาและความเดือดเนื้อร้อนใจของตัวเองให้ภาครัฐได้รับฟัง ทว่าพวกเขากลับยังไม่ได้รับโอกาสนั้น และต้องค้างแรมตากแดดตากฝนในเมืองที่พวกเขาไม่คุ้นเคย 

Sanook ลงพื้นที่พูดคุยกับพี่น้องเกษตรกร ผู้ยอมทิ้งบ้านเพื่อเดินทางเข้ามาในเมืองหลวง ด้วยความหวังเพียงจะทวงสัญญาที่ภาครัฐเคยให้ไว้กับพวกเขาเมื่อหลายปีก่อน  

ปัญหา “หนี้” ที่ยังแก้ไม่หาย 

“มันลำบากนะ ทำเกษตรไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าเราไม่ได้มีน้ำเหมือนกับเขา ถ้าปีไหนแล้ง เราก็ไม่เหลือแม้แต่ทุนแม้แต่กำไร ตอนนี้มันก็เป็นหนี้ก้อนโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างปีนี้เรายังพอได้กำไรบ้าง เพราะปีนี้อ้อยราคาดี แต่ว่ามันก็ 3 - 4 ปี ถึงจะได้สักที ปีนี้เราเลยพอมีเงินเหลือบ้าง แต่ปีที่ผ่าน ๆ มามันไม่เหลือ ไม่พอจุนเจือ มันก็เป็นหนี้ขึ้นมาอีก เงินจะกินยังไม่มี เราจะเอาเงินที่ไหนไปใช้หนี้ธนาคาร” ป้าหงส์ เกษตรกรรายหนึ่งจากจังหวัดชัยนาท เริ่มต้นเล่าให้เราฟัง 

ป้าหงส์ (ซ้ายสุด) พี่ไฉน (ขวาสุด) และเหล่าคุณลุง เกษตรกรจากจังหวัดชัยนาทป้าหงส์ (ซ้ายสุด) พี่ไฉน (ขวาสุด) และเหล่าคุณลุง เกษตรกรจากจังหวัดชัยนาท

ไม่ต่างจากแม่ณี ที่ทำสวนสับปะรดอยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ระบายให้ฟังว่า เธอซื้อหน่อสับปะรดมาในราคาหน่อละ 1.50 บาท แต่เวลาเก็บเกี่ยวกลับขายได้ราคาลูกละ 50 สตางค์เท่านั้น พอขาดทุนจากการทำเกษตร ก็ไม่มีเงินจ่ายหนี้ที่กู้มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) 

“พอเราไปส่ง มันก็เป็นดอกเบี้ยหมด ไม่ได้คืนต้นเลย เราก็เลยส่งไม่ไหว เพราะว่าพืชผลทางการเกษตรก็ไม่ได้กำไร แถมรายได้ไม่คงที่ แม่เป็นหนี้ตั้งแต่ปี 2538 พอเอาเงินไปส่งเขา มันก็เป็นแค่ดอกเบี้ย อย่างเราเป็นหนี้ เงินต้นเราแค่เจ็ดแสน แต่ดอกเบี้ยเรามันขึ้นไปสองล้านกว่า รวมแล้วก็เป็นหนี้ประมาณสามล้าน เราก็ส่งไม่ได้ ส่งไม่ไหว เราไม่มีแรงแล้ว” แม่ณีพูดน้ำเสียงเศร้าสร้อย 

“เราทำนา 1 ไร่ ต้นทุน 7,000 บาท แต่เอาไปขายได้กิโลกรัมละ 5 บาท ตอนนี้มาม่าซองละเท่าไรเเล้ว 6 บาทแล้วนะ ข้าวของเราได้แค่ 5 บาท แบบนี้เราก็ไม่ไหว ชาวนาถึงเป็นหนี้ ธกส. กันเยอะ แล้วเป็นหนี้มานาน ใช้หนี้ไปแล้วก็เยอะ แต่ก็ยังจ่ายได้แค่ดอกเบี้ย ไม่ถึงเงินต้นเสียที” แม่พิกุล ชาวนาจากจังหวัดเชียงใหม่เล่าเสริม 

พ่อสัจจา เกษตรกรจากจังหวัดร้อยเอ็ดพ่อสัจจา เกษตรกรจากจังหวัดร้อยเอ็ด

เช่นเดียวกับพ่อสัจจา จากจังหวัดร้อยเอ็ด ที่นั่งเอนหลังอยู่ในเต็นท์หน้ากระทรวงเกษตรฯ ก็สะท้อนว่า พี่น้องเกษตรกรเดือดร้อนเรื่องปัญหาหนี้สิน เพราะกำไรจากผลผลิตทางการเกษตรหดหาย ขณะที่รายจ่ายอื่น ๆ ก็เพิ่มสูงขึ้น แล้วยังเจอปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคาอีก 

เรื่องราคาข้าวไม่ต้องไปพูดถึงเลยครับ ขายขยะยังได้เงินมากกว่า แล้วเราถูกกดดันมาตลอดจากพวกพ่อค้าคนกลางหรือพวกนายทุน เราถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอด กดราคาเรา เราขายข้าวได้กิโลกรัมละ 5 บาท แต่เราพูดอะไรไม่ได้ มันคือความเสียเปรียบ ถ้าเป็นวัวควายเราขายเอง เรายังประเมินราคาเองได้ว่าตัวนี้เราจะขาย 5 หมื่น แต่ราคาข้าวเราประเมินเองไม่ได้ ทั้งที่เราเป็นคนผลิตข้าว แต่กลับต้องให้เขาตีราคา เป็นผู้กำหนดราคา นี่แหละคือสิ่งที่เกษตรกรกำลังตกทุกข์ได้ยากในปัจจุบัน” 

ชาวนามาทำไม? 

แม้จะมีการจัดตั้ง “สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” (กฟก.) ซึ่งก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรและฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น แต่ 23 ปีผ่านไป คำสัญญาว่าจะดำเนินการเรื่องการบรรเทาหนี้สินของ กฟก. ก็ยังไม่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรจากทั่วทุกสารทิศของประเทศ ในนามเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) จึงตัดสินใจเดินทางเข้ามาทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาลว่าจะอนุมัติเรื่องนี้ให้พวกเขาได้หรือยัง 

จากซ้ายไปขวา: พ่อสาคร พ่ออินสร แม่พิกุล และลุงวิโรจน์ เกษตรกรจากจังหวัดเชียงใหม่จากซ้ายไปขวา: พ่อสาคร พ่ออินสร แม่พิกุล และลุงวิโรจน์ เกษตรกรจากจังหวัดเชียงใหม่

“เขามีกองทุนฟื้นฟูฯ มาตอนปี 2542 เราก็สู้กันมาเพื่อให้ได้ พ.ร.บ.กองทุน เรามีช่องทางแล้ว ใครเป็นเกษตรกร ใครมีหนี้อะไรก็เอาไปขึ้นทะเบียนไว้ ไปแจ้งให้หน่วยงานรัฐรู้ว่าเรามีหนี้นะ แล้วเขาจะช่วยเหลือเรายังไง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราก็ต้องออกมาเรียกร้องอยู่ตรงนี้แหละ แล้วเราสู้กันมากี่ปีแล้ว สิบกว่าปีแล้ว แล้วเมื่อไรจะได้ซื้อหนี้สักที” แม่พิกุลกล่าว 

ข้อเรียกร้องของกลุ่ม คนท. ที่ยังคงปักหลักอยู่บริเวณหน้ากระทรวงเกษตรฯ​ และสำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ (UN) มีดังต่อไปนี้ 

  1. ขอให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ชะลอการฟ้องบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินของสมาชิก เร่งดำเนินการโอนหนี้สินเข้าสู่กระบวนการการจัดการหนี้สินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) พร้อมกับขยายเพดานวงเงินการซื้อหนี้ NPA จาก 2.5 ล้านบาท ขยายเป็น 5 ล้านบาทเสนอเข้าสู่เข้ามติ ครม.
  1. ขอให้ลดหนี้ปลดหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิก กฟก. กรณีที่ตาย พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ เจ็บป่วย เป็นโรค เหลือไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ได้บัญญัติไว้ช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิก กฟก.
  1. ขอให้ตรวจสอบปัญหาทุจริตคอรัปชั่นพร้อมกับปฏิรูปการบริหารงานของสำนักงาน กฟก. ที่ราคาพืชผลการเกษตรถูกลงทุกวัน แต่ราคาปุ๋ยกลับแพงขึ้น เกษตรกรที่เดือดร้อนจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ช่วยเหลือและเยียวยารวมถึงพักชำระหนี้

บรรยากาศในพื้นที่ชุมนุมบรรยากาศในพื้นที่ชุมนุม

อย่างไรก็ตาม กฟก. จะเริ่มบรรเทาหนี้สินให้กับเกษตรกรไม่ได้ หากคณะรัฐมนตรีไม่อนุมัติ เนื่องจากเจ้าหนี้ของเกษตรกรคือสถาบันทางการเงินของรัฐทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธกส. ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงค์ ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ดังนั้น สิ่งที่เกษตรกรต้องการ คือให้คณะรัฐมนตรีช่วยอนุมัติเรื่องดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือพวกเขาที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก 

“คนที่ตายก็ตาย คนที่ยังอยู่ก็ต้องรับช่วงหนี้ต่อ ผ่อนหนี้ต่อ ก็อยากขอให้รัฐช่วย เงินต้นเราเจ็ดแสน ดอกเบี้ยอีกสองล้านกว่า ขอให้เขาตัดดอกทิ้ง แล้วก็ลดเงินต้นให้เรา เสียแค่ครึ่งหนึ่ง คือเสียแค่ 50% เราจะได้ไปต่อกันได้ ไม่งั้นเราก็จะทำอะไรกันไม่ได้” แม่ณีกล่าว 

“ป้าอยากให้นายกฯ ช่วย เพราะเห็นว่าแกช่วยเหลือคนจนมาเยอะ บัตรประชารัฐเราก็มี ตอนนี้คิดว่าแกไม่น่าจะใจดำ เพราะว่าเราเดือดร้อน สำหรับในใจป้า เราคิดว่าจะไม่ผิดหวัง เพราะยังไงนายกฯ ก็ต้องช่วยแน่” ป้าหงส์พูด 

บรรยากาศในพื้นที่ชุมนุมบรรยากาศในพื้นที่ชุมนุม

สัญญาที่ไม่เคยเป็นจริง 

หลังจากที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งมีความคืบหน้าเรื่องการดำเนินการบรรเทาหนี้สินให้กับพี่น้องเกษตรกรในช่วง พ.ศ.2562 แต่ล่วงเลยมาจนเข้าสู่ พ.ศ.2565 ก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ และยังไม่มีการนำเข้า ครม. อย่างที่รัฐบาลให้สัญญากับชาวบ้านไว้ ส่งผลให้เกษตรกรหลายรายเสี่ยงจะถูกฟ้องบังคับยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ถูกยึดที่ดิน และสูญเสียอาชีพ ซึ่งการไม่มีความคืบหน้าใด ๆ นี้เองที่ทำให้กลุ่มเกษตรกรรู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมาก 

รัฐรับปากว่าจะช่วย ชาวบ้านก็เชื่อ สุดท้ายก็หายไป เราก็ต้องเข้ามาแบบนี้แหละ มาตามเรื่องกันเอาเอง” พ่ออินสร เกษตรกรจากจังหวัดเชียงใหม่กล่าว

“ทุกครั้งเวลาที่เขารับปากว่าจะทำให้ เราก็กลับบ้านกันไง พวกเขาหลอกเรา รอบนี้เราเลยต้องอยู่นาน ต้องอดทนให้ได้” แม่พิกุลเสริม  

เกษตรกรท่านหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์กับ Sanookเกษตรกรท่านหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์กับ Sanook

เช่นเดียวกับเกษตรกรคนหนึ่งจากจังหวัดชัยนาท ก็บอกกับเราว่า ตัวเองเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่ารอบนี้จะสมหวัง เพราะหลายครั้งที่ตัวแทนของภาครัฐออกมาบอกว่าได้แน่นอน แต่พอเกษตรกรกลับบ้าน กลับไม่ได้ตามที่เขาให้สัญญาเอาไว้ 

“เราเจ็บปวดมาก รัฐบาลเขาก็หลอก ยุคนี้ก็พรรคนี้จะเข้าไปแก้ปัญหา เป็นปากเป็นเสียงแทนพ่อแม่พี่น้อง เขาก็พูดอยู่นั่นแหละ แต่เราไม่เชื่อแล้ว นักการเมืองคือพวกเจ้าเล่ห์ กะล่อนมาก” พ่อสัจจากล่าว 

“วันนี้เราเดินไปที่กระทรวงเกษตรฯ มา เลขาฯ ก็ลงมาบอกว่าวันนี้เขาเซ็นไม่ทัน แต่เขาก็จะพูดแบบนี้ทุกครั้งที่เรามา เหมือนขอไปที” แม่ณีระบาย ก่อนจะหันไปกล่าวลาเพื่อนเกษตรกรชาวอยุธยา ที่กำลังจะกลับบ้านในวันนั้น “พวกนี้เขาอยู่อยุธยา เขาไปกลับได้ แต่เราอยู่ประจวบฯ ค่ารถก็แพง เอาไว้ซื้อกินดีกว่า แต่เราก็จะอยู่จนได้คำตอบที่แน่นอน มันนานเกินไปแล้ว เราก็อยากปลดหนี้ หวังว่าจะได้คำตอบเร็ว ๆ นี้ เขาบอกว่าวันศุกร์เขาจะเซ็นให้ ทีนี้ถ้าเรากลับ มันก็จะเหมือนทุกครั้งที่เรามา แต่ที่เสียใจคือรัฐมนตรีเกษตรฯ เนี่ย คนบ้านเราแท้ ๆ แต่ไม่เคยมาดูเราเลย จนเราต้องมาหาที่กระทรวง” แม่ณีบอก 

ข้าวของที่เกษตรกรนำติดตัวมาชุมนุมด้วยข้าวของที่เกษตรกรนำติดตัวมาชุมนุมด้วย

แม้ลำบากก็ต้องทน 

แน่นอนว่าการจากบ้านมานั่งปักหลักอยู่ในเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องสบาย และต้องเผชิญกับความลำบากหลายอย่าง โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้สูงอายุ แต่ทุกคนก็ยืนยันว่าจะรอจนกว่าทุกอย่างจะมีความชัดเจน และปัญหาของพวกเขาจะได้รับการแก้ไขในที่สุด 

“ชีวิตความเป็นอยู่ที่นี่ลำบากครับ แต่ลำบากก็ต้องทน เพราะว่าประเด็นปัญหาของพี่น้องเกษตรกรที่อยู่ทางบ้านก็ยังมีอยู่ ไม่ใช่แค่ส่วนนี้ เพราะพี่น้องเกษตรกรก็รอคอยกันอยู่ตั้ง 400 - 500 คน” พ่อสัจจาบอก 

บรรยากาศในพื้นที่ชุมนุมบรรยากาศในพื้นที่ชุมนุม

เกษตรกรทุกคนที่เราคุยด้วยต่างบอกว่า พวกเขาคิดถึงบ้านแล้ว อยากกลับบ้าน แต่ด้วยภาระที่ต้องรับผิดชอบไร่นาของตัวเอง จึงทำให้ทุกคนต้องยอมทน แม้หลายคนจะขอกลับไปตั้งหลักที่บ้านก่อน แต่พวกเขาก็ยืนยันว่าจะกลับมาสู้ต่อแน่นอน 

อยู่ที่นี่มันลำบาก แต่เราก็ต้องมากัน แต่ไม่มีใครจ้างเรามานะ เรามาของเราเอง เมื่อวานซืนอยู่ที่กระทรวงการคลัง ฝนตกก็เปียก ตอนเช้าก็ไม่สบาย เมื่อเช้าแดดออก ร้อนจัดก็ไม่สบาย แล้วดูสิมีแต่คนแก่ ๆ กินอยู่ก็ซื้อกินเอง แล้วช่วงนี้ก็มีนักศึกษาที่มาช่วยเอายามาแจก เอาข้าวให้บ้าง เอามุ้งมาให้บ้าง ป้าก็ได้แจกมา ก็หนึ่งหลังนอนกันสามสี่คน” แม่ณีเล่า

“น้ำท่าก็ไม่มีจะอาบ จะว่าอยู่แบบขอทานก็ไม่ใช่ แต่มันยิ่งกว่าเสียอีก รอบนี้คงเป็นรอบสุดท้าย ไม่อยากเข้ามาแล้ว” ป้าหงส์กล่าว 

บรรยากาศในพื้นที่ชุมนุมบรรยากาศในพื้นที่ชุมนุม

เสียงตอบรับจากภาครัฐ​

แม้กลุ่มเกษตรกรจะปักหลักชุมนุมกันมากว่า 1 เดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จากรัฐบาล การนำข้อเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรเข้า ครม. ​ก็ถูกผัดวันประกันพรุ่งมาหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม Sanook ได้สอบถามความคืบหน้าไปยังนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้รับคำตอบว่า ตอนนี้กำลังรอปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สรุปเรื่องกับ 5 ธนาคาร และอยู่ในกระบวนการส่งไปกระทรวงการคลังให้พิจารณาและส่งกลับมาให้ ครม. พิจารณาอีกครั้ง ส่วนการเยียวยาระหว่างนี้ ต้องรอการพิจารณาของ ครม. แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเข้าสู่การประชุมในวันไหน 

บรรยากาศในพื้นที่ชุมนุมบรรยากาศในพื้นที่ชุมนุม

ทางด้านนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้กล่าวว่า เรื่องการโอนหนี้เกษตรกรให้เป็นของ กฟก.นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งส่วนตัวอยากให้บูรณาการกัน ทั้งนี้ในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 นายกรัฐมนตรีก็ได้มีแนวโน้มที่จะผ่อนผันให้เกษตรกรที่เข้าเกณฑ์ 5 ข้อในการจัดการหนี้ โดยคาดว่าจะให้กระทรวงการคลังเสนอเข้า ครม. ในสัปดาห์หน้า

แม้จะยังไม่มีความชัดเจนจากภาครัฐ แต่เกษตรกรก็ยังคงนั่งรอคอยอย่างมีความหวังว่าภาครัฐช่วยปลดหนี้ให้ แล้วพวกเขาจะสามารถหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ บนผืนดินที่ได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษต่อไป 

บรรยากาศในพื้นที่ชุมนุมบรรยากาศในพื้นที่ชุมนุม

“ขอฝากรัฐบาลด้วย ที่อยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะเกษตรกร ถ้าเกษตรกรหยุดทำเกษตรขาย ถามว่าพวกเราจะยังมีกินไหม ใครลำบาก เราเป็นกำลังหลักของประเทศ เพราะฉะนั้นอย่าลืมดูแลเกษตรกร แจกเงินคนอื่นก็แจกได้ แต่แจกเงินเกษตรกรไม่ได้ ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว” คุณลุงท่านหนึ่งเดินมาบอกกับเรา ก่อนเดินข้ามถนนไป 


ร่วมลงชื่อสนับสนุนแก้ปัญหา #ม็อบชาวนา เร่งโอนหนี้ชาวนาจากธนาคารมาเป็นของรัฐ ได้ที่: https://chng.it/mDVVrBw7Y2

รูปโดย: NATTATITI K.

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ หยาดเหงื่อและคราบน้ำตา ของ “ม็อบชาวนา” ที่ไร้การเหลียวแล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook