สธ.เผย ผู้ป่วยหนัก-ปอดอักเสบ พุ่ง 2 เท่า! วอนกลุ่มเสี่ยง 608 เร่งรับวัคซีนโควิด
ผู้ป่วยหนัก-ปอดอักเสบ 2 สัปดาห์ พุ่ง 2 เท่า! เน้นฉีดวัคซีนโควิดให้ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ลดอาการหนัก-เสียชีวิต
วันนี้ (24 ก.พ.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมแถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 การรับวัคซีนเข็มกระตุ้น และแนวทางการดูแลรักษา
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า การแพร่เชื้อค่อนข้างรวดเร็ว แต่จำนวนผู้ป่วยหนักมีไม่เท่าเดลตา โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ 240 ราย และผู้ป่วยปอดอักเสบ 905 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เป็นผลมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มเสี่ยง 608 ควรเร่งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการป่วยหนักให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยหนักที่เพิ่มขึ้นยังเป็นเหตุให้คงการเตือนภัยระดับที่ 4 เอาไว้
ทั้งนี้ การระบาดที่พุ่งขึ้นเกิดขึ้นตั้งแต่หลังเทศกาลตรุษจีนเป็นต้นมาและมีการผ่อนคลายค่อนข้างมาก ทำให้มีการแพร่ระบาดในหลายคลัสเตอร์ หลายพื้นที่ หลายจังหวัด ดังนั้นเพื่อป้องกันสถานการณ์ไม่ให้รุนแรง ขอความร่วมมืองดเข้าสถานที่เสี่ยง (สถานที่ปิดทึบ อากาศไม่ถ่ายเท, คนแออัด หนาแน่น, อยู่ใกล้ชิดกันแล้วถอดหน้ากากเป็นเวลานาน, ไม่ตรวจ ATK ก่อนใช้บริการ) ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด และลดการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เพื่อให้สถานการณ์การเสียชีวิตไม่พุ่งขึ้น และทุกคนปลอดภัยมากขึ้น
นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนไทยได้รับวัคซีนแล้ว 122,473,371 ล้านโดส โดยวัคซีนเข็มแรก ฉีดแล้ว 76.6% เข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 71.3% และเข็มที่ 3 ฉีดแล้ว 28.2% แต่เนื่องจากวัคซีนจะลดประสิทธิภาพลงเมื่อฉีดไปสักพัก ทำให้ต้องฉีดเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่แม้จะติดเชื้อน้อยกว่ากลุ่มอื่น แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่นเช่นกัน
โดยเปรียบเทียบจำนวนผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนจำนวน 2.2 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 387 คน เทียบเป็น 178 ต่อล้านคน ในขณะที่ผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 มี 3.7 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 16 คน เทียบเป็น 4 ต่อล้านคน เป็นการบ่งชี้ว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตน้อยลงได้
ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวถึงประเด็นที่ถ้าหากติดเชื้อโควิดจะนำเข้าสู่ระบบการรักษาของสาธารณสุขอย่างไร ยืนยันว่าถ้าผลตรวจ ATK เป็นบวก แล้วมีอาการ ย้ำว่าไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ สามารถโทรหาสายด่วน สปสช. เบอร์ 1330 ได้เลย
แต่การรับสายอาจจะติดขัดเนื่องจากมีผู้โทรเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนจะมีการส่งกำลังคนมาช่วยในการรับสายเพิ่ม และใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยในการโอนสายอัตโนมัติส่งให้คลินิก ซึ่งจะช่วยให้เข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วขึ้น หรืออีกช่องทางหนึ่ง คือ เว็บไซต์ของ สปสช. หรือ คอลเซ็นเตอร์ของแต่ละจังหวัดหรือเขต
กรณีผู้ที่มีอาการน้อยจะจัดเข้าสู่ HI เป็นอันดับแรก หากมีข้อจำกัดในการเข้า HI จะมีการจัดเข้าศูนย์พักคอย หรือ CI และหากอาการหนักขึ้นจะจัดเข้าศูนย์จัดหาเตียงและส่งเข้า รพ.ต่อไป
อีกกรณีหนึ่ง หากผู้ป่วยไม่โทรหาสายด่วน สามารถเดินทางมาที่ ARI Clinic เจ้าหน้าที่จะทำการคัดกรองและประเมินอาการเข้าสู่ HI ต่อไป หากคนไข้มีอาการอยู่บ้านและไม่ได้ตรวจ ATK ก็เข้า ARI Clinic ได้เช่นกัน
อัลบั้มภาพ 12 ภาพ