เตือน 8 จังหวัดริมน้ำโขง เฝ้าระวังระดับน้ำเปลี่ยนแปลงฉับพลันในช่วง 4-10 มี.ค.

เตือน 8 จังหวัดริมน้ำโขง เฝ้าระวังระดับน้ำเปลี่ยนแปลงฉับพลันในช่วง 4-10 มี.ค.

เตือน 8 จังหวัดริมน้ำโขง เฝ้าระวังระดับน้ำเปลี่ยนแปลงฉับพลันในช่วง 4-10 มี.ค.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปภ.แจ้ง 8 จังหวัดริมน้ำโขงเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในช่วงวันที่ 4 - 10 มี.ค. 65

เมื่อวานนี้ (2 มี.ค.) กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงกับกองอํานวยการน้ำแห่งชาติ พบว่า ระดับน้ำจากสถานีจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 เพิ่มขึ้นจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยเพิ่มสูงขึ้น 66 เซนติเมตร หรืออัตราการระบายน้ำจากเดิม 997 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตราการระบายน้ำ 1,463 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เนื่องจากการเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหง ระหว่างวันที่ 4 - 10 มีนาคม 2565 ดังนี้

  • ช่วงเหนือเขื่อนไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บริเวณสถานีเชียงแสน อําเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย คาดการณ์ระหว่างวันที่ 4 - 5 มีนาคม 2565 ระดับน้ำแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 50 - 60 เซนติเมตร
  • ช่วงท้ายเขื่อนไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บริเวณอําเภอเชียงคาน จังหวัดเลย อําเภอเมืองฯ จังหวัดหนองคาย อําเภอเมืองฯ จังหวัดนครพนม อําเภอเมืองฯ จังหวัดมุกดาหาร และอําเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี คาดการณ์ระหว่างวันที่ 7 - 10 มีนาคม 2565 ระดับน้ำแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 40 – 50 เซนติเมตร โดยขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนไซยะบุรี

กอปภ.ก. จึงได้แจ้ง 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามประกาศกองอํานวยการน้ำแห่งชาติ โดยติดตามระดับน้ำในแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน พร้อมแจ้งเตือนประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรและประกอบกิจกรรมบริเวณแม่น้ำโขง รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

น้ำท่วมใต้เหลือ 2 จังหวัด เร่งช่วยผู้ประสบภัย

ปภ.รายงานยังคงมีสถานการณอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 2 จังหวัด เร่งคลี่คลายสถานการณ์และช่วยเหลือผู้ประสบภัย

วันนี้ (3 มี.ค.) เวลา 09.50 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ประกอบกับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ส่งผลให้ฝนตกหนักและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ ในห้วงวันที่ 25 ก.พ. – 3 มี.ค. 65 ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี สงขลา และตรัง รวม 44 อำเภอ 227 ตำบล 1,122 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 59,563 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 1 ราย

ปัจจุบันยังมีสถานการณ์ในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส และปัตตานี รวม 10 อำเภอ 55 ตำบล 264 หมู่บ้าน 9,419 ครัวเรือน สถานการณ์ในภาพรวมจังหวัดนราธิวาสระดับน้ำลดลง ขณะที่จังหวัดปัตตานีระดับน้ำทรงตัว

  1. นราธิวาส เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงปาดี อำเภอเมืองนราธิวาส รวม 14 ตำบล 102 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,712 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
  2. ปัตตานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอหนองจิก อำเภอยะรัง อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอสายบุรี อำเภอไม้แก่น และอำเภอยะหริ่ง รวม 41 ตำบล 162 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,707 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว

สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยทหารในพื้นที่ อปท. อปพร. อาสาสมัคร มูลนิธิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง พร้อมนำเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เรือ รถไฟฟ้าส่องสว่าง เครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำท่วมขังในทุกพื้นที่ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook