ศูนย์จีโนมฯ วิเคราะห์โอมิครอน BA.2 จะทำให้โควิดระบาดระลอก 6 ในไทยหรือไม่?
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ วิเคราะห์สถานการณ์ว่าสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 จะทำให้โควิดระบาดเป็นระลอกที่ 6 ในเมืองไทยได้หรือไม่
วันนี้ (3 มี.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics หรือ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์การระบาดของโควิดได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
- ธรรมชาติการกลายพันธุ์และการระบาดใหญ่ 5 ระลอกของไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย
- โอมิครอน BA.2 จะก่อให้เกิดการระบาดระลอกที่ 6 ในประเทศไทยหรือไม่?
- คุณสมบัติไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่จะมาแทนที่โอมิครอน
ปรับปรุง 3/3/2565 11.00 น.
วิเคราะห์จากข้อมูลการถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 ที่สถาบันการแพทย์ในประเทศไทยร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมจำนวน 16,917 ตัวอย่าง (3/2/2565) จากการสุ่มทั่วประเทศและอัปโหลดเข้าไปในฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID ที่ทั่วโลกสามารถดาว์โหลดมาวิเคราะห์ได้พบว่า
อดีต
การระบาดใหญ่ระลอกที่ 1 ระหว่าง 31 ม.ค. 2563-15 ส.ค. 2564 (590 วัน)
ประเทศไทยได้รับไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ B, B.1, B1.1, จากอู่ฮั่น (จีน) และอิตาลี (ยุโรป) ตามมาด้วยการระบาดของสายพันธุ์ “A.6” ซึ่งมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสอู่ฮั่นไม่มาก เพียง +10 ตำแหน่ง “A.6” พบระบาดมากที่สุดในประเทศไทยถึง 93% เมื่อเทียบกับการระบาดทั้งโลก เรียกกันว่าคลัสเตอร์ “สนามมวย-บ่อน”
การระบาดใหญ่ระลอกที่ 2 ระหว่าง 14 ก.ย. 2563-27 พ.ค. 2564 (255 วัน)
เกิดการระบาดของสายพันธุ์ “B.1.36.16” ขึ้นในประเทศไทยโดยรับไวรัสจากประเทศเพื่อนบ้าน เกิดเป็นคลัสเตอร์ ตลาด-โรงงาน ปทุมธานี สมุทรสาคร พบระบาดในไทย 56% จากการระบาดทั้งโลก ซึ่งมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสอู่ฮั่นประมาณ +20 ตำแหน่ง
5 เม.ย. 2564-5 เม.ย. 2564 (1 วัน) ตรวจพบสายพันธุ์ “แกมมา” 1 ตัวอย่างโดยจีโนมมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสอู่ฮั่นประมาณ +30 ตำแหน่ง
3 ก.พ. 2564-20 ต.ค. 2564 (259 วัน) มีการระบาดของสายพันธุ์ “เบตา” ไม่มากโดยมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสอู่ฮั่นประมาณ + 40 ตำแหน่ง
การระบาดใหญ่ระลอกที่ 3 ตั้งแต่ 21 ธ.ค. 2563-7 ธ.ค. 2564 (351 วัน)
เป็นการระบาดของสายพันธุ์อัลฟา เกิดเป็นคลัสเตอร์ทองหล่อ มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสอู่ฮั่นประมาณ + 50 ตำแหน่ง
การระบาดใหญ่ระลอกที่ 4 ตั้งแต่ 9 ม.ค. 2564-3 ก.พ. 2565 (390 วัน)
เป็นการระบาดของสายพันธุ์“เดลตา” เป็นคลัสเตอร์แคมป์คนงาน มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสอู่ฮั่นประมาณ + 60 ตำแหน่ง
ปัจจุบัน
การระบาดใหญ่ระลอกที่ 5 ตั้งแต่ 24 ธ.ค. 2564 เป็นต้นมา
มีการระบาดของสายพันธุ์ “โอมิครอน” โดยมีช่วงเวลาการระบาดในประเทศอื่นๆ เช่น แอฟริกาใต้ อังกฤษ อเมริกา เดนมาร์ก ประมาณ 2 เดือน ประกอบด้วยสายพันธุ์ BA.1, BA.1.1, และ BA.2 ยังไม่พบ BA.3 ในประเทศไทย โอมิครอนมิได้กลายพันธุ์มาจากบรรดาสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern: VOC) ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ (อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา) แต่กลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์ดั้งเดิม “B.1.1”
BA.1 กลายพันธุ์เฉลี่ย 65 ตำแหน่งต่างจากอู่ฮั่น
BA.1.1 กลายพันธุ์เฉลี่ย 85 ตำแหน่งต่างจากอู่ฮั่น
BA.2 กลายพันธุ์ต่างจาก BA.1 10 ตำแหน่ง โดย 5 ตำแหน่งจะอยู่บนยีน “S” ที่ควบคุมการสร้างหนามของอนุภาคไวรัส
BA.3 กลายพันธุ์เฉลี่ย 60 ตำแหน่งต่างจากอู่ฮั่น ยังไม่พบในประเทศไทย และทั่วโลกพบไม่มาก คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปในเร็ววัน
จากการศึกษาในเดนมาร์กที่มีการระบาดของ BA.1 และติดตามมาด้วยการระบาด BA.2 (reinfection) จากประชากรจำนวนกว่า 1.8 ล้านคนพบว่าการซ้ำด้วย BA.2 หลังจากติดเชื้อ BA.1 ครั้งแรก น้อยมากคือประมาณ 1 ใน 100 โดยส่วนใหญ่ (89%) จะเป็นเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอายุตั้งแต่ 0-19 ปี อันน่าจะมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อในกลุ่มประชากรส่วนหนึ่งว่าเยาวชนนั้น มีโอกาสรอดตายจากโรคนี้มากกว่าผู้สูงอายุจึงอาจปล่อยการ์ดตก ไม่เว้นระยะห่าง จัดงานชุมนุมเลี้ยงฉลอง และไม่ฉีดวัคซีน
สรุปได้ว่าการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์หลัก BA.1 ตามธรรมชาติจะสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อซ้ำจากสายพันธุ์ย่อย BA.2 ได้เป็นอย่างดี
จากการศึกษาในเดนมาร์ก 1.8 ล้านคนในโครงการเดียวกันยังพบว่าการติดเชื้อซ้ำด้วย BA.2 หลังจากติดเชื้อ BA.1 ครั้งแรก จะพบได้ยากขึ้นไปอีกในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน
โดยผู้ติดเชื้อซ้ำด้วย BA.2 (หลังจากหายจากการติดเชื้อ BA.1) พบว่ามีอาการไม่รุนแรงต้องเข้า รพ. หรือเสียชีวิต ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในประเทศไทยและทั่วโลกคือการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กและเยาวชน
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ รวมทั้งไม่พบว่า BA.2 ก่อโรคโควิด-19 รุนแรงต่างไปจาก BA.1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทำให้ WHO ยังยืนยันให้ BA.2 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนสายพันธุ์หลัก (BA.1) มิได้แยกออกมาตั้งชื่อใหม่ในกลุ่มของสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 5 สายพันธุ์ ประกอบด้วย อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา และ โอมิครอน
คาดว่าการระบาด BA.2 ในประเทศไทยที่กำลังเข้ามาแทนที่ BA.1 จะไม่ก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ระลอกที่ 6 เพราะ BA.2 ไม่สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้ที่ติดเชื้อ BA.1 และหายแล้วเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันจาก BA.1 สกัดอยู่ BA.2 ไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แต่เป็นเพียงพันธุ์ย่อยของโอมิครอน สามารถป้องกันและควบคุมการเพิ่มจำนวนได้จากภูมิคุ้มกันทั้งจากการติดเชื้อตามธรรมชาติจาก BA.1 และการฉีดวัคซีน
จากข้อมูลล่าสุดพบว่า วัคซีนใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อยับยั้งโอมิครอนเป็นการเฉพาะ เมื่อนำไปทดสอบในสัตว์ทดลองพบว่าสามารถต่อต้านโอมิครอนได้ดี แต่กลับป้องกันสายพันธุ์อื่นที่เคยระบาดมาก่อนหน้า เช่น เดลตา ได้ไม่ดีนัก ดังนั้นวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาเป็นการเฉพาะต่อโอมิครอนอาจไม่เพียงพอในการป้องกันหากโลกยังมีการระบาดของเดลตาควบคู่ไปกับโอมิครอน แต่สามารถใช้เป็นวัคซีนทางเลือกร่วมกับวัคซีนที่มีอยู่เดิม (ซึ่งออกแบบมาโดยอาศัยรูปลักษณ์ของไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น”)
แต่ก็อาจเบาใจได้ในระดับหนึ่งเพราะผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกยังไม่พบสายพันธุ์ที่ยุติการกลายพันธุ์ไปแล้วและปัจจุบันตรวจไม่พบแล้ว (ในไทย) เช่น B, B.1, B.1.1, B.1.36.16, อัลฟา, เบตา, และ แกมมา ฯลฯ กลับมาระบาดซ้ำอีก ส่วนเดลตาบางประเทศตรวจไม่พบแล้ว ในประเทศไทยลดจำนวนลงมาก ศูนย์จีโนมฯ ตรวจพบเดลตาจำนวนไม่มากจากตัวอย่างจากเรือนจำ แต่ก็ยังประมาทไม่ได้เพราะไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคอุบัติใหม่ อุบัติขึ้นมาเพียง 2 ปีกว่า เรายังไม่มีข้อมูลมากนักเหมือนโรคอุบัติซ้ำอื่นๆ เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสไข้เลือดออก
(ภาพ 1, 2 และ 3)
อนาคต กับการระบาดใหญ่ระลอกที่ 6
WHO แถลงว่า “โอมิครอน” ไม่ใช่ไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์สายพันธุ์สุดท้ายที่เราจะได้พบ ดังนั้นประเด็นต่อไปคือสายพันธุ์ที่จะระบาดในอนาคตจะมีคุณสมบัติอย่างไร
คุณสมบัติที่สายพันธุ์ใหม่ที่คาดว่าจะมีเพื่อสามารถเข้ามาแทนที่โอมิครอนได้คือ
- มีการกลายพันธุ์ต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่ฮั่น” มากกว่า +80 ตำแหน่ง(มากกว่าการกลายพันธุ์ของโอมิครอนที่ต่างไปจากไวรัส “อู่ฮั่น”)
- สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันทั้งจากการติดเชื้อตามธรรมชาติและการฉีดวัคซีน (vaccine breakthrough cases) ที่ออกมาแบบโดยอาศัยรูปลักษณ์ของไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ได้ดีกว่าโอมิครอน
- มีการแพร่ระบาด (transmissibility) รวดเร็วกว่าโอมิครอน
- อยู่ในสภาวะแว้ดล้อมนอกเซลล์ได้นานกว่าโอมิครอน
- มีความเป็นได้สูงที่สายพันธุ์ใหม่อาจมาจากไวรัสโคโรนา 2019 จากคนที่เข้าไปหลบเพิ่มจำนวนและกลายพันธุ์ในสัตว์ แล้วย้อนกลับมาระบาดในคนอีกครั้ง (zoonotic disease) เพราะพบการติดเชื้อจากคนไปสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น แมว สุนัข หนู มิงค์ กวาง ฯลฯ สัตว์เหล่านั้นไม่ได้มีการฉีดวัคซีน ทำให้ไวรัสเข้าไปเพิ่มจำนวนและกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วแล้วอาจกลับมาติดคนอีกครั้ง
- ส่วนความรุนแรงในการก่อโรค (severity) ยังไม่อาจคาดคะเนได้ว่าจะรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือความรุนแรงลดลงเมื่อเทียบกับโอมิครอน โดยจะสังเกตถึงความไม่แน่นอนของความรุนแรงในการก่อโรคของโควิด-19 ได้ เช่น สายพันธุ์อัลฟาทำให้เกิดโรคที่รุนแรงกว่าไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น, B, B.1. B.1.1, A.6, และ B.1.36.16 ต่อมามีสายพันธุ์เดลตาที่รุนแรงกว่าระบาดเข้ามาแทนที่อัลฟา จากนั้นโอมิครอนที่มีความรุนแรงน้อยกว่าสามารถระบาดมาแทนที่เดลตาได้ จึงยากที่จะทำนายว่าสายพันธุ์ที่จะระบาดมาแทนที่โอมิครอนจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือลดลงกลายจนกลายเป็นโรคประจำถิ่น