จี-ช็อค ร็อค เดอะ เวิลด์

จี-ช็อค ร็อค เดอะ เวิลด์

จี-ช็อค ร็อค เดอะ เวิลด์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : วิภานี กาญจนาภิญโญกุล

ย้อนไปสักสิบกว่าปีที่แล้ว วัยรุ่นแนวๆ คนไหน ไม่มีนาฬิกาคาสิโอ จี-ช็อคใส่ อาจจะเรียกว่า ไม่แนวจริง

วันเวลาผ่านไป แม้จี-ช็อคจะถูกแบรนด์อื่นเบียดไปบ้างก็ตามที แต่ถ้าพูดถึงความนิยมคงเส้นคงวาแล้ว จี-ช็อคไม่เคยหลุดไปจากใจวัยรุ่น ตลอดจนผู้ใหญ่ที่ใจยังเด็กในยุคนี้


ก้าวเข้าสู่ปีที่ 26 ของจี-ช็อค ก็เลยมีอะไรล้ำๆ มาฝากแฟนๆ ตามเคย ไม่ว่าจะเป็นฟังก์ชั่นเก๋ๆ ขึ้นอยู่กับไลฟสไตล์ของคนใช้อย่างรุ่นกันน้ำ กันขโมย กันโคลนเข้าก็ยังมี! แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ 'ความทนทาน' ตลอดจนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วง เวลา

ปี 1983 นาฬิกาคาสิโอ จี-ช็อคเรือนแรกได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยฝีมือและมันสมองของ คิคูโอะ อิเบะ โดยเริ่มต้นพัฒนาจากสโลแกน Triple 10 คือ สามารถตกจากที่สูงได้ 10 เมตร ทนแรงดันน้ำได้ 10 บาร์ (100 เมตร) และมีแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นาน 10 ปี (ในรุ่นแรกที่ทำออกมายังใช้ได้ 7 ปี แต่ต่อมาก็สามารถพัฒนาจนใช้งานได้ 10 ปี)

"ตอนสมัยเป็นนักเรียนคุณพ่อของผมได้ให้นาฬิกา 1 เรือน ผมก็ใช้มาตลอด จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยและทำงาน วันหนึ่งผมก็ทำนาฬิกาเรือนนี้ตกลงมาแตกกระจายเป็นชิ้นๆ ผมจึงรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ต้องทำอะไรสักอย่าง คือ คิดค้นนาฬิกาที่ตกแล้วไม่แตก ไม่ต้องดูแลมาก เพราะสมัยก่อนนาฬิกาเป็นสิ่งที่ต้องดูแลทะนุถนอมอย่างดี" อิเบะบอกถึงแรงบันดาลใจในครั้งแรกที่พัฒนาจนกระทั่งออกมาเป็นจี-ช็อคอย่าง ที่เห็นๆ กันอยู่

นอกเหนือไปจากประโยชน์ใช้สอยที่นำหน้านาฬิกายี่ห้ออื่นในสมัยนั้นแล้ว เขายังให้ความสำคัญกับการออกแบบจี-ช็อคให้มีหน้าตาแตกต่างไปจากนาฬิกาทั่วไป ในขณะนั้น

"เวลาออกแบบเราก็ให้ความสำคัญกับดีไซน์และการใช้สอยเท่าๆ กัน เพราะถ้าการใช้สอยมากไปคนก็จะมองว่ามันเวอร์ไป ไม่ได้ใช้ประโยชน์จริงๆ แต่ถ้าดีไซน์เยอะไป ก็จะมีแต่ดีไซน์ ไม่มีประโยชน์ใช้สอยที่ควรจะมี"

ทั้งหมดนี้นำมาสู่นาฬิกาหน้าตาทะมัดทะแมงที่รุ่นแรกออกมาแต่สีดำเท่านั้น เรื่องยอดขายไม่ต้องพูดถึง เพราะขายแทบไม่ออก เนื่องจากผู้ผลิตนาฬิกาสมัยนั้นแข่งกันทำนาฬิกาให้บางที่สุดออกมา นาฬิกาทั้งแบบดิจิตัล และแบบเข็มต่างก็มีหน้าตาสี่เหลี่ยมธรรมดา ไม่ได้หวือหวา ไม่ได้มีฟังก์ชั่นพิเศษอย่างบอกเวลาโลก และจับเวลาได้

"ตั้งแต่ปี 1983 ที่ผลิตมาจี-ช็อคแทบขายไม่ได้เลย เพราะสมัยนั้น ทุกคนยังคิดว่านาฬิกาต้องบางอยู่ มีแต่ที่สหรัฐที่ขายได้ เฉพาะพวกตำรวจหรือคนที่ทำงานลุยๆ แบบเข้าป่า

"หลังจากปี 1990 แฟชั่นญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนไป วัยรุ่นหันมาใส่เสื้อผ้าตัวใหญ่ๆ สบายๆ คนที่ใส่ก็คิดว่านาฬิกาใหญ่ด้วยก็ไม่เป็นไร พวกคนเล่นสเก็ตบอร์ดก็ชอบ เพราะมันเป็นแฟชั่นด้วย ใช้งานจริงได้ด้วย หลังจากนั้นจี-ช็อคก็ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา"

นาฬิการจี-ช็อคที่เคยนอนเงียบอยู่หลังร้าน จึงเริ่มขยับมาวางอยู่กลางร้านและเขยิบมาอยู่หน้าร้านในที่สุด

"ช่วง 10 ปีนั้น ไม่เคยยอมแพ้ เพราะการทำนาฬิกาจี-ช็อคทำให้ได้เรียนรู้ถึงการไม่ยอมแพ้ สักวันหนึ่ง ยังไงๆ ก็ต้องมีคนยอมรับนาฬิกาของเรา ช่วงเวลานั้น เราก็ไม่ได้หยุดพัฒนาเลย ก็ยังคงพัมนาจี-ช็อคควบคู่ไปกับนาฬิการุ่นอื่นๆ ของคาสิโอไปด้วย"

"นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่จี-ช็อคอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะถ้ายอมแพ้ไปตั้งแต่วันนั้น คงไม่มีนาฬิกาจี-ช็อคในวันนี้"


สมัยเด็กๆ เด็กชายอิเบะไม่เคยสนใจนาฬิกาเลย เขาเริ่มให้ความสนใจนาฬิกาตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ในสมัยที่คาสิโอได้ออกนาฬิกาดิจิตัลรุ่นแรก ชายหนุ่มในวันนั้นก็เลยคิดเล่นๆ ว่า "ถ้าได้ออกแบบนาฬิกาบ้างก็คงดีนะ"

นับแต่นั้น หลังจากเรียนจบด้านวิศวกรรมจักรกล เขาก็ไม่เคยทำงานอย่างอื่นเลย นอกจากออกแบบและดูแลกลไกทุกรุ่นของนาฬิกาคาสิโอมาจนถึงปัจจุบันนี้

"ที่มาของชื่อจี-ช็อคนั้น มาจากเพื่อนของผมที่ร่วมงานออกแบบจี-ช็อคยุคแรกด้วยกันเป็นคนตั้งชื่อนี้ ด้วยเหตุผลแรกคือ G มาจาก Gravity หมายถึงแรงโน้มถ่วง และอีกเหตุผลคือ ตอนออกแบบเพื่อนคนนี้ทำงานหนักมาก จนมีคนมาเห็นว่าหลังของเขาค้อมลงเป็นรูปตัว G เลยนำชื่อนี้มาใช้แล้วเติม Shock เข้าไป กลายมาเป็น G-SHOCK ในที่สุด" เขาเล่าด้วยแววตาอมยิ้ม เมื่อนึกย้อนไปถึงที่มา

ในฐานะที่เป็นคนดูแลกลไกการทำงานของนาฬิกาคาสิโอทุกรุ่น อิเบะบอกว่า ผ่านมา 25 ปีเต็ม เทคโนโลยีที่ใช้ในจี-ช็อคย่อมทันสมัยขึ้น และจะทันสมัยยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต... โปรดจับตาดู

"สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ จากการใช้แบ็ตเตอรี่ เริ่มเปลี่ยนไปเป็นระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เปลี่ยนไปเป็นระบบเซ็นเซอร์ และจากนี้ก็จะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด อาทิเช่น การใช้เทคโนโลยีคล้ายกับคลื่นโทรศัพท์มือถือ นาฬิกาที่รับคลื่นนี้ได้ก็จะเดินตรงตลอดเวลาโดยไม่ต้องตั้งเวลา แต่เมืองไทยยังไม่มีการใช้ระบบนี้ เพรายังไม่มีการตั้งเสาส่งสัญญาณ แต่ในญี่ปุ่น จีนและประเทศแถบยุโรปมีการใช้เทคโนโลยีเช่นนี้แล้ว"

ในส่วนของการออกแบบก็จะมีการปรับปรุงรูปร่างหน้าตานาฬิกา ให้มีสีสัน หน้าตาน่ารักดึงดูดผู้ซื้อ แบบที่ชายวัยสุขุมมาดแมนคนหนึ่งทิ้งท้ายว่า

"อยากทำนาฬิกาแบบที่ผู้หญิงชื่นชอบ เห็นแล้วอยากซื้อทันที ใครมีคำแนะนำช่วยบอกผมด้วยนะครับ"

 

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ จี-ช็อค ร็อค เดอะ เวิลด์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook