"วัฒนา เมืองสุข" ไม่รอด! ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 50 ปี คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร

"วัฒนา เมืองสุข" ไม่รอด! ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 50 ปี คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร

"วัฒนา เมืองสุข" ไม่รอด! ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 50 ปี คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลฎีกาพิพากษายืนสั่งจำคุก “วัฒนา เมืองสุข” อดีต รมว.พม. 99 ปี แต่รับโทษจริง คงจำคุก 50 ปี ปิดฉากคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร

วันนี้ (4 มี.ค.) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ นัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ในชั้นอุทธรณ์ ในคดีทุจริตการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติ

คดีนี้ ศาลฎีกาฯ เคยอ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าวไปแล้วเมื่อ 24 กันยายน 2563 ที่ตัดสินจำคุกจำเลย อาทิ นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 รวมความผิด 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวมทั้งหมด 99 ปี แต่คงจำคุกจริง 50 ปี ในเวลาต่อมา ศาลฎีกาให้ประกันตัว นายวัฒนา โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10 ล้านบาท

ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 16.50 น. องค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษาแก้โทษริบทรัพย์ นายวัฒนา จำเลยที่ 1, 4, 5, 6, 7, 8 และ 10 ร่วมชดชดใช้เงิน 89 ล้าน ในส่วนอาญา อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืนจำคุก 99 ปี คงจำคุกจริง 50 ปี

ทั้งนี้ นายวัฒนา กล่าวก่อนเข้ารับฟังคำตัดสินว่า วันนี้ตนมายืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง และมาตามหาความเป็นธรรม ซึ่งตนได้สู้คดีมาอย่างเต็มที่ ขอขอบคุณทุกกัลยาณมิตรไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองเก่าหรือพรรคการเมืองใหม่ ที่ให้กำลังใจตนมาตลอด ซึ่งวันนี้ตนมาฟังคำพิพากษาที่เชื่อว่าจะออกมาตามครรลอง เพราะบ้านเมืองเราเสียความยุติธรรม เสียความน่าเชื่อถือไปมากแล้ว ตนเชื่อว่าทุกคนจะพยายามเอากลับมาให้อยู่ในที่ทางที่ถูกต้อง

เมื่อถามว่า หลักฐานที่นำมามอบให้กับทางศาลฯ ในวันสรุปปิดคดี มั่นใจแค่ไหนว่าศาลจะรับฟังนั้น ตนมองว่าในหลักการของการดำเนินคดีอาญาเป็นไปตามพื้นฐานเดียวกันทั้งโลก ซึ่งคดีนี้ไม่มีอะไรถูกต้องทั้งหมด อย่างแรกที่ตนยืนยันตลอด ไม่ได้พูดแบบศรีธนญชัย ก็คือ มีการกล่าวหาเกินไป ที่เชื่อหรือว่ามีการเรียกประชุมผู้ประกอบการหลาย 10 คน แล้วไปเรียกรับเงินเขา ซึ่งมีผู้กล่าวหาคนเดียว

เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ การจะเอาพยานหลักฐานมาพิสูจน์สิ่งที่เป็นเท็จก็จะต้องไปปั้นและจูงใจกันมา ซึ่งหลักฐานการจูงใจและการต่อรองพยานมีเป็นหนังสืออยู่ในสำนวนอยู่แล้ว ซึ่งตนได้ชี้ให้ศาลได้เห็นแล้ว หากศาลยังรับฟังพยานหลักฐานแบบนี้ ต่อไปตำรวจจับผู้ต้องหาไม่ต้องสอบสวนเอาไฟช๊อตหรือทุบเลย และการกล่าวหาว่าตนไปเรียกเงินเพื่อการอนุมัติหน่วยก่อสร้างหรืออนุมัติให้เป็นคู่สัญญานั้น ตนไม่ได้มีอำนาจ เพราะการเคหะแห่งชาติเป็นรัฐวิสาหกิจมีคณะกรรมการในการพิจารณา ซึ่งยืนยันว่ารัฐมนตรีไม่มีอำนาจนี้

โดยคดีนี้ ป.ป.ช. บอกว่า คณะกรรมการไม่มีใครทำผิด แล้วตัวรัฐมนตรีจะลอยมาดื้อๆ ได้อย่างไร ตนจึงยืนยันว่าคดีนี้ไม่มีความถูกต้องแต่แรกจนถึงสุดท้าย ซึ่งไม่แปลกใจที่ตนยังยืนสู้อยู่ตรงนี้ เพราะยืนยันว่าสิ่งที่กล่าวหาตนไม่เป็นความจริง

นอกจากนี้ นายวัฒนา ยอมรับว่า ตนได้เตรียมใจ และพร้อมสู้ต่อในฐานะตนเป็นพสกนิกร ยังมีที่พึ่งและไม่ได้แปลว่าตนถูกจำคุกแล้วจะฟ้องกลับใครไม่ได้ เพราะกฎหมายให้อำนาจและทุกคนต้องทำตามครรลอง หากในทางระบบปกติไม่ได้ ตนก็ต้องฟ้องด้วยการถวายฎีกา ยืนยันว่านักการเมืองไม่ได้โกงทุกคน และพร้อมจะยืนยันพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมว่าพึ่งพาได้หรือไม่ พรอมกับย้ำว่าในคดีอาญานั้นหากทำผิดจริงไม่จำเป็นจะต้องปั้นพยาน พูดอะไรเมื่อไหร่ก็จะไปลงที่เดียวกัน และที่ตนนำหลักฐานมาให้ศาลเพราะมีอะไรที่ตอบคำถามไม่ได้ และมีความผิดปกติหลายเรื่องในคดีตน และเชื่อว่าคำพิพากษาจะถูกวิจารณ์อีกมากหากมีการเผยแพร่ออกมา

"วันนี้ผมมั่นใจ เพราะสู้มาเพื่อความถูกต้อง สู้เพื่อความยุติธรรม ซึ่งผมได้สู้มา 15 ปีแล้ว และเมื่อคืนนอนหลับดีปกติ โดยผมเตรียมใจไว้ 2 ด้าน ถ้าคำพิพากษาออกมาตามครรลองก็ยอมรับ แต่หากไม่ออกมาตามครรลองก็จะสู้ต่อ และยืนยันว่าจะสู้ทุกช่องทางและสู้จนหมดช่องทางสู้ แต่หากเป็นโควิด-19 ตายก็ช่วยไม่ได้ ต้องยอมรับว่าคดีของผมเป็นการเมือง 1 ล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" นายวัฒนา ระบุ

ย้อนมหากาพย์คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร

สำหรับคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นคดีหมายเลขดำ อม.อธ. 1/2565 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และพวก รวม 14 ราย เป็นจำเลยในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 และ 11

คดีนี้เกิดขึ้นในยุคอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และเริ่มตรวจสอบการกระทำความผิดในช่วงที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ก่อนเปลี่ยนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวนต่อ จนกระทั่งปี 2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายวัฒนา พร้อมจำเลยคนอื่นๆ รวม 14 คน กรณีทุจริตเรียกรับสินบนจาก บริษัท พาสทิญ่า จำกัด ผู้รับเหมาโครงการบ้านเอื้ออาทร ผ่านบริษัทและลูกจ้างบริษัท เพรซิเด้นท์ เทรดดิ้ง จำกัด จำนวน 82.6 ล้านบาท

เนื่องจากบริษัทดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติในการเข้าเป็นคู่สัญญากับการเคหะแห่งชาติ แต่มีการจ่ายสินบนเพื่อให้สามารถเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐได้ โดยหลังจาก ป.ป.ช. ส่งสำนวนให้อัยการ ปรากฏว่าอัยการพบความไม่สมบูรณ์ในสำนวน จึงต้องตั้งคณะกรรมการร่วมทั้ง 2 ฝ่ายขึ้นมาพิจารณา สุดท้ายอัยการสูงสุดตัดสินใจฟ้อง นายวัฒนา เมืองสุข กับพวก เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ปัจจุบัน นายวัฒนา ร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคไทยสร้างไทย ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานพรรค ขณะที่ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หนึ่งในจำเลยคดีนี้ หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา และศาลได้ออกหมายจับไว้แล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook