ดวงจันทร์ได้แผลใหม่ หลังขยะอวกาศหนัก 3 ตัน พุ่งเข้าชน

ดวงจันทร์ได้แผลใหม่ หลังขยะอวกาศหนัก 3 ตัน พุ่งเข้าชน

ดวงจันทร์ได้แผลใหม่ หลังขยะอวกาศหนัก 3 ตัน พุ่งเข้าชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พื้นผิวของดวงจันทร์ที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ มีแอ่งเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแอ่ง ในเช้าวันศุกร์ตามเวลาในสหรัฐฯ จากการพุ่งเข้าชนของขยะอวกาศน้ำหนักกว่า 3 ตัน และเป็นครั้งแรกที่เกิดหลุมบนดวงจันทร์ด้วยความไม่ตั้งใจจากเศษขยะที่มนุษย์สร้างขึ้น ตามการรายงานของสำนักข่าว Associated Press และ The Wall Street Journal

เชื่อกันว่าขยะอวกาศดังกล่าว ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 9,300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นชิ้นส่วนที่เหลือจากจรวดอวกาศของประเทศจีน ที่ทะยานขึ้นสู่อวกาศเมื่อ 10 ปีก่อน ถึงแม้ว่าทางการจีนจะไม่เชื่อว่าจะเป็นของตนก็ตาม

แต่ไม่ว่าจะเป็นของประเทศใด นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าขยะอวกาศชิ้นนี้จะมีผลทำให้เกิดแอ่งความกว้างประมาณ 10-20 เมตร บนพื้นผิวดวงจันทร์ ใหญ่พอที่จะจุรถบรรทุกขนาดใหญ่ได้หลายคัน และจะทำให้ฝุ่นจากดวงจันทร์กระจายไปไกลหลายร้อยกิโลเมตร

องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) คาดว่าปัจจุบันมีขยะอวกาศ 36,500 ชิ้นในวงโคจรของโลก การติดตามขยะอวกาศที่มีวงโคจรต่ำ หรือสูงจากพื้นโลกไม่มากนัก มักจะทำได้โดยง่าย ส่วนวัตถุในอวกาศที่อยู่สูงขึ้นไปก็มักจะไม่ไปชนอะไร และถูกลืมไปในที่สุด แต่ก็มักจะไม่เล็ดลอดสายตาของ “นักสืบอวกาศ” ที่ชอบสังเกตและจับตาดูวัตถุในอวกาศเหล่านี้

หนึ่งในนักสืบอวกาศเหล่านั้นคือ บิล เกรย์ (Bill Gray) ที่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็นผู้ค้นพบว่าขยะอวกาศดังกล่าวอยู่ในวงโคจรที่จะพุ่งเข้าชนดวงจันทร์ ในตอนแรกเขาระบุว่าขยะชิ้นดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนของจรวดของ SpaceX บริษัทยานอวกาศของสหรัฐฯ แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ บิล เกรย์ ได้แก้ข้อมูลเสียใหม่ โดยบอกว่าวัตถุ​ “ปริศนา” นั้นไม่ใช่ส่วนหัวของจรวด SpaceX Falcon ที่ทะยานขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ.2015 แต่อย่างใด แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของจรวดสัญชาติจีน ที่นำเอาแคปซูลเก็บตัวอย่างจากโลกขึ้นไปบนดวงจันทร์ และกลับไปสู่โลกในปี ค.ศ.2014

ทางการจีนได้ออกมาโต้ว่าส่วนบนของจรวดของจีนนั้นได้ตกกลับเข้ามาสู่โลก และถูกเผาไหม้ระหว่างเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม สื่อ The Wall Street Journal รายงานว่า ชิ้นส่วนดังกล่าวน่าจะมาจากยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 ที1 (Chang’e-5 T1) ที่ขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ.2014 และเจ้าหน้าที่ทางการจีนที่ออกมาปฏิเสธ อาจจะสับสนยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 ที1 กับยานฉางเอ๋อ-5 (Chang’e-5) ที่มีภารกิจสำรวจดวงจันทร์เมื่อปี ค.ศ.2020

กองทัพอวกาศสหรัฐฯ​ หรือ U.S. Space Command ซึ่งมีหน้าที่ติดตามขยะอวกาศที่อยู่ไม่ไกลจากโลก ยืนยันในวันอังคารที่ผ่านมาว่า ส่วนบนของจรวดฉางเอ๋อ-5 ที1 ซึ่งเป็นจรวดที่บังคับด้วยจรวดเพื่อไปสำรวจดวงจันทร์นั้น ยังไม่เคยกลับเข้ามาในวงโคจรของโลก แต่กองทัพอวกาศสหรัฐฯ เองก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ชิ้นส่วนที่กำลังพุ่งชนดวงจันทร์นั้นมีต้นกำเนิดมาจากประเทศใด

ส่วน บิล เกรย์ ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ นั้น กล่าวกับสำนักข่าว AP ว่าเขามั่นใจว่าวัตถุชิ้นนั้นเป็นจรวดของประเทศจีน

ศูนย์​ Center for Near Earth Object Studies รับรองการประเมินของบิล เกรย์ ในขณะที่ล่าสุดนี้ ทีมจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ซึ่งใช้กล้องดูดาวส่องทางไกล ได้ระบุว่าขยะอวกาศดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของจรวดของจีน จากแสดงที่สะท้อนออกมาจากสีบนตัวจรวด ซึ่งวัตถุดังกล่าวมีความยาว 12 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร และหกคะเมนตีลังกาไปมาทุก ๆ 2-3 นาที

อย่างไรก็ตาม โจนาธาน แมคดาวเวลล์ แแห่งศูนย์แอสโตรฟิสิกส์ของฮาร์วาร์ดและสมิธโซเนียน ซึ่งรับรองการประเมินของบิล เกรย์เช่นกัน กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นขยะอวกาศของประเทศใด ผลที่เกิดขึ้นนั้นเหมือนกัน นั่นคือจะทำให้ดวงจันทร์มีอีกหนึ่งหลุมบ่อ จากที่คาดว่ามีอยู่แล้วมากกว่าหนึ่งแสนหลุม ซึ่งบางหลุมนั้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่มากถึง 2,500 กิโลเมตร

และเนื่องจากหลุมที่จะเกิดใหม่นี้จะเกิดขึ้นในด้านมืด หรือด้านไกลของดวงจันทร์ จึงยากที่จะสามารถตรวจสอบได้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และอาจจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนถึงจะได้คำตอบจากการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook