สอบเพิ่มแก๊งเรือเพื่อนแตงโม-โบ TK ประเด็นใหม่พยานอ้าง โรเบิร์ต โยนแก้วไวน์ทิ้ง
ตำรวจเรียก โบ TK และก๊วนเรือสปีดโบ๊ท "แตงโม" สอบเพิ่ม "แซน" เลื่อนนัด-อ้างติดธุระ เผยปมใหม่พยานอ้างเห็น "โรเบิร์ต" โยนแก้วไวน์ลงแม่น้ำเจ้าพระยา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 มี.ค.) เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวนภูธรภาค 1 ได้เรียก น.ส.อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ หรือ กระติก ผู้จัดการส่วนตัวของ น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม ดาราสาวชื่อดัง มาสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อประกอบคำสำนวนคดีเสียชีวิตของ แตงโม
โดย กระติก ได้เดินทางออกจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 1 (บก.สส.ภ.1) ในเวลา 20.50 น. หลังเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนชุดคลี่คลายคดีฯ นานกว่า 7 ชั่วโมง
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้นัดทุกคนที่ร่วมลงเรือในวันเกิดเหตุ รวมทั้ง น.ส.สุรัตนาวี ภัทรานุกุล หรือ โบ TK พยานในคดีอีกคน เข้าให้ปากคำเพิ่มเติมด้วย
โดย นายตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ หรือ ปอ นายไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์ หรือ โรเบิร์ต และ นายนิทัศน์ กีรติสุทธิสาธร หรือ จ๊อบ ได้เดินทางมาตามนัดหมาย มีเพียง นายวิศาพัช มโนมัยรัตน์ หรือ แซน ที่ไม่ได้เดินทางมาตามนัด โดยอ้างว่าติดธุระส่วนตัว ขอเลื่อนนัดออกไปก่อน
ด้าน พลตำรวจโท จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เปิดเผยว่า ขณะนี้คดีมีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยจะมีการกระชับวงการสืบสวนสอบสวนให้แคบลงในบางประเด็น เพื่อให้ได้คำตอบชัดเจน อธิบายข้อสงสัยได้ครบถ้วน โดยวันนี้ได้เรียกตัวผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีหลายคนมาสอบปากคำเพิ่มเติม
ส่วนประเด็นสอบสวนมีประเด็นใหม่กรณีที่มีพยานให้ปากคำอ้างว่า นายโรเบิร์ต โยนแก้วไวน์ หรือ แก้วแชมเปญลงแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ยังไม่ชัดเจนว่า โยนก่อนหรือหลังเวลาเกิดเหตุที่นางสาวนิดา หรือ แตงโม ตกเรือ และโยนลงไปด้วยสาเหตุใด
ซึ่งในประเด็นนี้ นอกจากการสอบปากคำ ตำรวจยังได้จัดส่งนักประดาน้ำ ดำน้ำค้นหาวัตถุพยานในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งพบแก้วต้องสงสัยในบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่พบร่างของ นางสาวนิดา หรือ แตงโม
นอกจากนี้ ยังพบถุงบรรจุวัตถุสิ่งของไม่ทราบชนิดอยู่ใกล้กับแก้วต้องสงสัย จึงเก็บไว้เป็นวัตถุพยานและจะส่งตรวจหาตัวอย่างดีเอ็นเอเพื่อเทียบเคียงกับดีเอ็นเอของนายโรเบิร์ตและผู้อื่นที่อยู่บนเรือก่อนจะพิจารณาว่า เกี่ยวข้องกับคดีการเสียชีวิตของนางสาวนิดา หรือ แตงโม หรือไม่
ส่วนงานสืบสวน ทราบว่า ชุดสืบสวนสอบสวนกำลังมุ่งเน้นไปที่ประเด็น ลำดับช่วงเวลาการเกิดเหตุภายในเรือ ตั้งแต่ช่วงที่เรือเริ่มแล่นเข้ามาใกล้กับจุดเกิดเหตุ การจับเรือครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
โดยมีการเปรียบเทียบกับพยานหลักฐานที่สามารถหาได้เพิ่มเติม เป็นภาพวงจรปิดจากสถานประกอบการแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสามารถระบุ ระยะห่างของการขับเรือแต่ละครั้งได้ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวจะมีผลต่อการคำสำนวนคดีของเจ้าหน้าที่ในคดีนี้ด้วย
อัลบั้มภาพ 23 ภาพ