หมอนิติเวชฯ คนแรกที่ชันสูตรร่าง ”แตงโม” ยืนยันมีแผลขนาดใหญ่ขาขวา-ข้อพับ

หมอนิติเวชฯ คนแรกที่ชันสูตรร่าง ”แตงโม” ยืนยันมีแผลขนาดใหญ่ขาขวา-ข้อพับ

หมอนิติเวชฯ คนแรกที่ชันสูตรร่าง ”แตงโม” ยืนยันมีแผลขนาดใหญ่ขาขวา-ข้อพับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แพทย์ชันสูตรร่าง "แตงโม" วันแรก พบบาดแผลขนาดใหญ่ขาขวาและข้อพับ ต้องให้แพทย์นิติเวช รพ.ตร.ชี้ชัดว่าเกิดจากวัตถุชนิดใด

นพ.ศราวุฒิ สุจริตธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนิติเวช สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยว่า หลังได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนพบศพ น.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม ที่ตกเรือจมเจ้าพระยาเสียชีวิต จึงได้เดินทางไปตรวจชันสูตรสาเหตุเบื้องต้นที่ท่าเรือพิบูลสงคราม 1

เบื้องต้น พบว่า สภาพศพมีสภาพเริ่มเน่า ดูเพียงใบหน้าไม่สามารถจำได้ แต่มีเสื้อผ้าที่เป็นชุดบอดี้สูทและเครื่องประดับซึ่งญาติยืนยันว่าเป็นของแตงโมก่อนเสียชีวิตจริง โดยสภาพศพคาดว่าเสียชีวิตมาแล้วเกือบ 2 วัน สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ได้รับแจ้งว่าแตงโมตกน้ำ

ส่วนตามร่างกายพบบาดแผลขนาดใหญ่ บริเวณขาขวาและข้อพับขาขวาเป็นแผลเล็กน้อย ส่วนบริเวณอื่นๆ ไม่พบ

ซึ่งจากบาดแผลขนาดใหญ่ที่ขาขวาสิ่งที่คิดถึงอย่างแรกคือถูกใบพัดเรือ เพราะพบได้บ่อยในศพที่ตกน้ำ แต่จะเกิดจากบาดแผลอะไรและเป็นอย่างอื่นได้ไหม ต้องให้แพทย์นิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ ผ่าชันสูตรเพื่อดูว่ามีวัตถุอื่นอีกไหมที่จะเข้ากันได้ และต้องนำวัตถุต้องสงสัยนั้นมาเทียบว่าสามารถทำให้เกิดบาดแผลได้ไหม

รวมถึงตรวจดูคราบเลือดและรอยแผลอื่นๆ ว่าเชื่อมโยงกันได้หรือไม่ แต่ความเห็นเบื้องต้นระบุสาเหตุการตาย "สันนิษฐานเกิดจากการจมน้ำ" แต่ผลการผ่าชันสูตรจะเป็นสาเหตุการตายที่แท้จริง

นพ.ศราวุฒิ กล่าวยอมรับว่า ทราบแต่ต้นว่าศพที่ต้องไปตรวจชันสูตรเป็นศพของแตงโม แต่ไม่ได้เตรียมการอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากการตรวจชันสูตรศพแต่ละเคสมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าหากเป็นศพที่เสียชีวิตจากอาวุธปืน ก็จะมุ่งไปที่การหาหัวกระสุนหรือการเก็บเขม่าดินปืน หากเป็นศพที่ถูกแทงก็จะถ่ายภาพบาดแผลไว้จำนวนมาก เพื่อใช้เทียบเคียงกับอาวุธที่มากระทำ

ส่วนกรณีของ แตงโม เป็นศพที่มีประวัติจมน้ำมา แพทย์ที่ทำการผ่าชันสูตรก็จะเริ่มตรวจตามร่างกาย เปิดดูช่องปาก จมูก ช่องหลอดลม ปอด แขนงปอด เพื่อดูว่ามีเศษดินโคลน พืช และน้ำอยู่หรือไม่

ซึ่งเท่าที่ติดตามข่าวพบว่ามีเศษดินโคลนอยู่ ซึ่งรายละเอียดแต่ละเคสจะขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แวดล้อมกับประวัติว่าได้อะไรมาบ้างก็จะมุ่งตรวจชันสูตรไปทางนั้น ขณะเดียวกันก็ดูสาเหตุการเสียชีวิตอื่นๆ ที่เป็นไปได้ โดยไม่ได้ดูว่าเป็นคนมีชื่อเสียงหรือคนดัง

แต่ทุกกรณีจะดูพฤติการณ์แวดล้อมมากกว่า และหากเป็นคดีที่ได้รับความสนใจมากก็ต้องดูว่าสนใจอะไร สงสัยเป็นการฆาตกรรมหรือไม่ ก็จะมุ่งไปเก็บพยานที่สอดคล้องกับเหตุที่สงสัย

ส่วนกรณีเคสที่สงสัยว่าเกิดจากการฆาตกรรม การตรวจชันสูตรจะมีชุดการตรวจพื้นฐานอยู่แล้ว เช่น ถูกทำร้ายร่างกายหรือไม่ กระโหลกศีรษะมีรอยแตก ซี่โครงหัก กระดูกแขนขายังอยู่ดีหรือกระดูกคอหักหรือไหม ถ้ามีก็จะมุ่งไปประเด็นเก็บพยานหลักฐานไปทางนั้นๆ แต่การตรวจชันสูตรเบื้องต้นในจุดที่พบศพไม่สามารถดูได้ ต้องรอผลการผ่าชันสูตร

ส่วนกรณีศพเน่าเปื่อย การตรวจพิสูจน์มีข้อจำกัดอยู่แล้ว เพราะบาดแผลต่างๆ จะดูไม่ได้บอกไม่ได้, การเก็บเลือดในศพที่เน่ามากๆ ก็จะเก็บไม่ได้ การพิสูจน์ว่าเมาไม่เมาก็อาจจะพิสูจน์ไม่ได้ เพราะความเน่ากลบหมดข้อจำกัดจึงมีมากกว่าศพปกติ

นพ.ศราวุฒิ กล่าวว่า สำหรับแพทย์ที่จะทำการชันสูตรเบื้องต้นในที่เกิดเหตุนั้น จะเป็นดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนท้องที่ว่าจะแจ้ง รพ.หรือสถาบันไหน โดยปกติจะแจ้งจุดที่ใกล้ที่สุด ส่วนการส่งไปชันสูตรอย่างละเอียด ตามประมวลกฏหมาย ป.วิอาญา ระบุเพียงว่าให้ส่งตรวจที่ รพ.หรือหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นหน่วยงานใด

ส่วนการเปลี่ยนสถานที่ชันสูตร บางเคสก็เป็นไปตามความสมัครใจของญาติ ว่าสะดวกรับศพที่ไหน หรือหากเคสไหนที่ต้องการเร่งรัดคดี ก็จะส่งไปหน่วยงานที่ทำการชันสูตรได้เร็ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook