ส่องข้อมูลทั่วโลก ค่าแรง 1 ชั่วโมง ซื้อ “ผ้าอนามัย” ได้กี่ชิ้น

ส่องข้อมูลทั่วโลก ค่าแรง 1 ชั่วโมง ซื้อ “ผ้าอนามัย” ได้กี่ชิ้น

ส่องข้อมูลทั่วโลก ค่าแรง 1 ชั่วโมง ซื้อ “ผ้าอนามัย” ได้กี่ชิ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ฮังการีเป็นประเทศที่มีการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยสูงที่สุดในโลก โดยอยู่ที่ 27%
  • เอธิโอเปียลดอัตราการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยลงเหลือเพียง 10% จาก 15% แต่ผู้หญิงในเอธิโอเปียทำงาน 1 ชั่วโมงก็ยังไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้แม้แต่แผ่นเดียว
  • ฟินแลนด์เก็บภาษีจากผ้าอนามัยสูงถึง 24% แต่ฟินแลนด์มีค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ 517 บาท จึงสามารถซื้อผ้าอนามัยในราคาที่ถูกที่สุดในประเทศได้ถึง 500 ชิ้น
  • เคนยาเป็นประเทศแรกที่ยกเลิกการเก็บภาษีจากผ้าอนามัย ตั้งแต่ปี 2004
  • ประเทศที่ยกเลิกการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยล่าสุดในปี 2022 คือ นามิเบียและเม็กซิโก

Rocket Media Lab ซึ่งทำงานด้านข้อมูลเพื่อสื่อสารมวลชน ชวนมาดูข้อมูลว่าประเทศไหนเก็บภาษีจากผ้าอนามัยในอัตราเท่าไรบ้าง มีประเทศไหนที่ยกเลิกภาษีที่เก็บจากผ้าอนามัยไปแล้ว และผู้หญิงในแต่ละประเทศต้องทำงานเท่าไร ถึงจะซื้อผ้าอนามัยได้ 1 ชิ้น

ภาษีผ้าอนามัยคืออะไร เก็บเท่าไร ทำไมถึงไม่เท่ากัน

คำว่าภาษีผ้าอนามัย (Tampon Tax) หรือ “Pink Tax” ภาษีสีชมพู เป็นคําที่ใช้เรียกเชิงเสียดสีภาษีที่เก็บจากสินค้าที่ผลิตมาเพื่อผู้หญิง ซึ่งที่จริงแล้ว ผ้าอนามัยถือเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่ในแต่ละประเทศจะจัดอยู่ในหมวดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ซึ่งแต่ละหมวดหมู่ของประเภทสินค้าก็จะมีการจัดเก็บภาษีแตกต่างกันไป

ในบางประเทศ ผ้าอนามัยจัดเป็นสินค้าในหมวดหมู่สิ่งจําเป็นพื้นฐาน โดยจะได้รับการยกเว้นภาษี บางประเทศจัดให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าในหมวดหมู่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ซึ่งมีการคิดภาษีตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มมาตรฐานในประเทศนั้นๆ หรือถูกจัดให้เป็นสินค้าในหมวดหมู่อื่นๆ เช่น เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ สินค้าประเภทสุขอนามัย ไปจนถึงสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งในแต่ละหมวดหมู่ก็จะมีการกำหนดอัตราภาษีที่แตกต่างกันไป

AFP

Rocket Media Lab สำรวจภาษีที่เกี่ยวกับผ้าอนามัยใน 69 ประเทศ พบว่า มีหลายประเทศที่จัดให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าในหมวดหมู่สิ่งจําเป็นพื้นฐาน ที่ทำให้ได้รับการยกเว้นภาษี เช่น เคนยา ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ยกเลิกภาษีจากผ้าอนามัยในปี 2004 ก่อนหน้านั้นเคนยาเก็บภาษีจากผ้าอนามัยในอัตราเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่มทั่วไปที่ 16% เช่นเดียวกันกับอินเดียและรวันดา โดยอินเดียยกเลิกภาษีจากผ้าอนามัยในปี 2018 และรวันดายกเลิกภาษีจากผ้าอนามัยในปี 2019 รวมไปถึงแคนาดา โคลอมเบีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย ฯลฯ และประเทศที่ยกเลิกการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยล่าสุดในปี 2022 คือ นามิเบียและเม็กซิโก

สำหรับประเทศที่เก็บภาษีจากผ้าอนามัยในอัตราเท่ากับภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เช่น ฮังการี 27% ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยสูงที่สุดในโลก โครเอเชีย 25% ฟินแลนด์ 24% อาร์เจนตินา 21% อัลแบเนีย 20% บัลแกเรีย 20% ตุรกี 18% จีน 13% หรือประเทศไทยที่ 7%

สำหรับประเทศที่มีการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยในอัตราที่ต่ำกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ได้แก่

  • เบลเยียม ซึ่งเก็บภาษีจากผ้าอนามัยในอัตรา 6% ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปคือ 21%
  • เยอรมนี เก็บภาษีจากผ้าอนามัยในอัตรา 7% ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปคือ 19%
  • เวียดนาม เก็บภาษีจากผ้าอนามัยในอัตรา 5% ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปคือ 10%
  • ไซปรัส เก็บภาษีจากผ้าอนามัยในอัตรา 5% ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปคือ 19%
  • เอธิโอเปีย เก็บภาษีจากผ้าอนามัยในอัตรา 10% ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปคือ 15%

ทำไมต้องยกเลิกภาษีจากผ้าอนามัย ประเทศไหนประสบความสำเร็จบ้าง

Huffington Post รายงานว่าทั้งชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งมีรอบประจำเดือนประมาณ 358 รอบ ใช้ผ้าอนามัยทั้งหมด 9,120 ชิ้น คิดเป็นเงิน 1,173 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 58,271 บาท ด้วยเหตุนี้จึงมีการรณรงค์เรียกร้องให้รัฐยกเลิกหรือลดภาษีที่เก็บจากผ้าอนามัย เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้หญิง

ออสเตรเลียเคยเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์สุขอนามัยของผู้หญิงที่ 10% เท่ากับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้า และเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2019 ที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียประกาศยกเลิกการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยทั้งแบบสอดและแบบแผ่น อันเป็นผลจากการรณรงค์เพื่อให้ยกเลิกการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยในออสเตรเลียต่อเนื่องและยาวนานถึง 18 ปี ตลอดระยะเวลาที่เคลื่อนไหว ชาวออสเตรเลียมีแคมเปญออกมามากมาย เช่นในปี 2015 นักเคลื่อนไหวชาวออสเตรเลีย ได้สร้างคลิปวิดีโอขึ้นเพื่อรณรงค์ให้งดเว้นภาษีในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประจำเดือน วิดีโอขาวดำเป็นการล้อเลียนเพลงแร็ปสุดคลาสสิกของ Snoop Dogg เรื่อง "Drop it like it's hot" มียอดเข้าชมกว่า 90,000 วิว

อินเดียมีการยกเลิกการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยในปี 2018 ซึ่งเป็นผลมาจากภาพยนตร์เรื่อง Pad Man ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชายคนหนึ่งซึ่งได้รู้ว่าภรรยาตนเองต้องใช้ผ้าขี้ริ้วแทนผ้าอนามัย เนื่องด้วยผ้าอนามัยมีราคาแพง เขาจึงคิดค้นผ้าอนามัยราคาถูกขึ้นมาเพื่อช่วยให้ภรรยาตนเองและผู้หญิงคนอื่นๆ สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยราคาถูกได้ หลังจากภาพยนตร์ออกฉายก็เกิดเป็นกระแสและนักแสดงนำอย่าง อักษัย กุมาร ก็ได้รณรงค์ต่อจนเกิดการเปลี่ยนแปลงยกเลิกการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยในที่สุด

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Pad Manimdbโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Pad Man

จากการสํารวจ ปี 2015 - 2016 หน่วยงานสุขภาพครอบครัวแห่งชาติของอินเดียพบว่า มากกว่า 40% ของผู้หญิงอินเดียอายุ 15 ถึง 24 ปีไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยได้ นอกจากนี้สถิติของกระทรวงสาธารณสุขอินเดียยังชี้ว่า 70% ของผู้หญิงอินเดียติดเชื้อในระดับที่แตกต่างกัน เนื่องจากการขาดผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจําเดือนที่ดี

ที่โคลอมเบีย ในปี 2016 นักการเมืองชูประเด็นเรื่องให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในผ้าอนามัย แต่รัฐสภาปฏิเสธ โดยตกลงที่จะลดจาก 16% เป็น 5% จนกระทั่งวันที่ 14 พฤศจิกายน 2018 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับผ้าอนามัยแบบสอดและแบบแผ่น เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ โดยระบุในคำวินิจฉัยว่า การมีภาษีมูลค่าเพิ่มในผ้าอนามัย และผ้าอนามัยแบบสอดเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญของโคลอมเบียที่ระบุว่าเพศชายและหญิงเท่าเทียมกันทุกประการ การเรียกเก็บนั้นถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง

AFP

แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่มีการรณรงค์ให้ยกเลิกการเก็บภาษีจากผ้าอนามัย แม้จะไม่ประสบความสำเร็จขนาดถึงกับยกเลิกการเก็บภาษี แต่ก็ทำให้เกิดการลดอัตราภาษีที่เก็บจากผ้าอนามัย ทำให้ราคาของผ้าอนามัยนั้นถูกลง เช่น เยอรมนี ซึ่งเกิดจากการรณรงค์ของ Nanna-Josephine Roloff และ Yasemin Kotra ในปี 2018 โดยมีการลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลดภาษีที่เก็บจากผ้าอนามัย ซึ่งมีประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 180,000 รายชื่อ ต่อมาแคมเปญนี้ประสบความสำเร็จในปี 2020 ทำให้เยอรมนีลดการเก็บภาษีจากผ้าอนามัย จากเดิม 17% เหลือเพียง 9%

หรือในประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีการรณรงค์จากภาคประชาชน ด้วยแฮชแท็ก #laissermoisaigner จนทำให้เกิดการโหวตในรัฐสภาในปี 2015 ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะลดอัตราการเก็บภาษีจากผ้าอนามัย ทำให้ประเทศฝรั่งเศสประกาศลดการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยในปีเดียวกัน จากเดิม 20% เหลือเพียง 5.5%

นอกจากนี้ยังพบว่ายังมีประเทศอื่นๆ อีก ที่มีการปรับลดการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยซึ่งเกิดจากกระแสความเคลื่อนไหวทั่วโลกและในประเทศ เช่น เบลเยียม ที่เคยเก็บในอัตรา 21% แต่ปัจจุบันลดเหลือ 6% เท่ากับภาษีที่เรียกเก็บจากอาหารและหนังสือ หรือในเวียดนาม ที่ลดจาก 10% เหลือเพียง 5% ในปี 2018

การยกเลิกภาษีจากผ้าอนามัย อาจไม่ใช่หนทางเดียวที่ทำให้ผู้หญิงเข้าถึงผ้าอนามัยได้

แม้ทั่วโลกจะมีการรณรงค์ยกเลิกการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยเพื่อให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงผ้าอนามัยในราคาที่ถูกลง อันเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้หญิงต้องแบกรับ แต่ก็ใช่ว่าเมื่อมีการการยกเลิกหรือลดภาษีที่เก็บจากผ้าอนามัยแล้วผู้หญิงจะสามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้ดีขึ้น

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab จะพบว่า ในประเทศยากจนที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยมากเช่น รวันดา แม้จะมีการยกเลิกการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยแล้ว แต่เมื่อพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำและราคาผ้าอนามัยในแบบที่ถูกที่สุดในประเทศ ก็จะพบว่า รวันดามีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ชั่วโมงละ 2.01 บาท ในขณะที่ราคาผ้าอนามัยที่ถูกที่สุดในประเทศ 1 แผ่น อยู่ที่ 108.25 RWF หรือ 3.47 บาท เท่ากับว่าผู้หญิงในรวันดาทำงาน 1 ชั่วโมงยังไม่สามารถซื้อผ้าอนามัย 1 ชิ้นได้เลย

หรือในประเทศยากจนอื่นๆ ที่มีการยกเลิกหรือลดอัตราการเก็บภาษีจากผ้าอนามัย เช่น เอธิโอเปีย ที่ลดอัตราการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยลงเหลือเพียง 10% จาก 15% แต่ผู้หญิงในเอธิโอเปียทำงาน 1 ชั่วโมงก็ยังไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้แม้แต่แผ่นเดียว

กลับกัน ในประเทศที่แม้จะมีการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยในอัตราที่สูง (เท่ากับภาษีสินค้าทั่วไป) แต่ค่าแรงขั้นต่ำในประเทศนั้นสูงมาก ก็ทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้ง่ายกว่า เช่น ฟินแลนด์ ซึ่งมีการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยสูงถึง 24% แต่ฟินแลนด์มีค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ 517 บาท จึงสามารถซื้อผ้าอนามัยในราคาที่ถูกที่สุดในประเทศ (0.94 บาท) ได้ถึง 500 แผ่นจากการทำงานแค่ชั่วโมงเดียว

นอกจากนั้น ยังพบว่าแม้อัตราภาษีของผ้าอนามัยจะไม่สูงหรือค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ถึงกับน้อยมาก แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ ก็ทำให้ผู้หญิงเข้าถึงผ้าอนามัยได้ยากเช่นเดียวกัน เช่น ในตุรกีหรือเลบานอน ที่ภาวะเงินเฟ้อทำให้ราคาผ้าอนามัยสูงกว่าที่ควรจะเป็น เช่น ตุรกีราคาผ้าอนามัยเพิ่มขึ้น 50% จากราคาในปีที่แล้ว โดยเป็นผลมาจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 36%

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการยกเลิกการเก็บภาษีจากผ้าอนามัยอาจไม่ได้เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้มากขึ้น แต่อาจจะต้องมองไปยังบริบทต่างๆ ร่วมด้วย ทั้งเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือแม้แต่สวัสดิการผ้าอนามัยฟรี ดังเช่นที่มีการเรียกร้องเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ

ความเคลื่อนไหวเรื่อง “ภาษีผ้าอนามัย” รอบโลกและในประเทศไทย

นอกจากการรณรงค์ให้ลด หรือยกเลิกภาษีที่เรียกเก็บจากผ้าอนามัยแล้ว ยังมีบางประเทศที่ริเริ่มโครงการเพื่อสุขอนามัยแก่ผู้หญิง โดยชาติแรกที่เริ่มแจกจ่ายผ้าอนามัยฟรีให้ประชาชนคือสกอตแลนด์ ในปี 2020 หลังจากการรณรงค์ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 4 ปี ขณะที่สหราชอาณาจักร ในปี 2015 ก็มีการตั้งเป็นกองทุนผ้าอนามัย (Tampon Tax Fund) โดยเอาเงินที่ได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไปอุดหนุนโครงการนี้เพื่อแจกจ่าย ต่อมาก็มีนโยบายแจกผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจำเดือนแบบให้เปล่า (policy of free sanitary products) ในสถานศึกษาและสถานพยาบาลของรัฐด้วย

สำหรับประเทศไทยนั้น ปี 2021 มีประเด็นร้อนแรงจากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศให้ “ผ้าอนามัยแบบสอด” เป็นเครื่องสำอาง ซึ่งการระบุว่าเป็นเครื่องสำอางนั้น จะทำให้ผ้าอนามัยชนิดสอดกลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และถูกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 30% จึงทำให้คนกังวลว่าราคาผ้าอนามัยอาจสูงขึ้น จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในไทย พร้อมด้วยแฮชแท็ก #ภาษีผ้าอนามัย #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี #Saveผ้าอนามัย #แจกฟรีไม่ได้รึไง อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมสรรพสามิตยืนยืนว่าไม่เก็บภาษีผ้าอนามัยแบบสอดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เพราะเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งยังคงเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ (VAT) 7%

แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีการลดอัตราภาษีให้ต่ำลง หรืองดเว้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผ้าอนามัยจากหน่วยงานรัฐ แต่ก็มีบางมหาวิทยาลัยที่เริ่มมีโครงการนำร่อง ทำสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีให้สำหรับผู้หญิง เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งงานนโยบาย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับร้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำโครงการ ‘ผ้าอนามัยฟรี’ ตั้งจุดผ้าอนามัยฟรีไว้ในห้องน้ำหญิงและที่สาธารณะในมหาวิทยาลัย รวมถึงทำศูนย์แจกจ่ายผ้าอนามัยให้นักศึกษาที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ในปี 2021 หรือที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็เริ่มทำโครงการ “สวัสดิการผ้าอนามัยฉุกเฉิน” เพื่อความเท่าเทียมทางเพศใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งตั้งตู้แจกผ้าอนามัยในจุดต่างๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook