“วันสตรีสากล 2022” กับคอนเทนต์ทลายอคติทางเพศจาก Sanook.com
ความเหลื่อมล้ำทางเพศยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่มีประเทศไหนในโลกแก้ไขได้ ในรายงานปี 2020 ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ระบุว่า คนในสังคมมากกว่าร้อยละ 90 มีอคติต่อผู้หญิงอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ความรุนแรงในครอบครัว หรือแม้แต่เรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์
แม้จะมีความพยายามของหลายฝ่ายในการลดช่องว่างความเท่าเทียมระหว่างเพศ แต่ “อคติทางเพศ” ก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกคนในสังคมที่จะทลายมัน และในโอกาส “วันสตรีสากล 2022” นี้ Sanook ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม ด้วยเรื่องราวหลากรสของผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาทำลายอคติ การเหมารวม การเลือกปฏิบัติ และสร้างสังคมที่เคารพความแตกต่างหลากหลายให้กับทุกคน
ผู้หญิงที่ทลายอคติทางเพศด้วยความกล้าหาญ
“เกิดเป็นผู้หญิงแท้จริงนั้นแสนลำบาก” คือคำกล่าวที่เราทุกคนล้วนได้ยินกันจนเคยชิน แต่อะไรคือปัจจัยที่ทำให้การเป็นผู้หญิงช่างแสนลำบาก หากไม่ใช่ “อคติทางเพศ” ของสังคมที่กำหนดว่าผู้หญิงควรทำหรือไม่ควรทำอะไร ทว่าก็มีผู้หญิงไม่น้อยที่ลุกขึ้นต่อทลายอคติที่กีดกันความฝันและความเป็นไปได้ในชีวิตของพวกเธอ รวมทั้งเรียกร้อง “สิทธิ” ที่พวกเธอควรได้รับเฉกเช่นเดียวกับคนเพศอื่น ๆ ในสังคม
“นัน ชญาธิสา” ความฝันที่คว้าได้ของแอร์ข้ามเพศคนแรกของโลก
“แอร์โฮสเตส” อาชีพในฝันของสาว ๆ หลายคน เช่นเดียวกับคุณนัน - ชญานิสา ผู้หญิงข้ามเพศ ที่สามารถทำลายอคติมายาคติที่มีต่อผู้หญิงข้ามเพศและสามารถติดปีกได้เป็นนางฟ้าบนเครื่องบินได้อย่างที่เธอต้องการ
“คอรีเยาะ มานุแช” ทนายหญิง กระโปรง และความสากลที่ถูกพันธนาการ
“กระโปรง” ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเพศหญิง โดยเฉพาะในพื้นที่ของทนายความไทย ทว่าคุณคอรีเยาะ มานุแช ทนายความหญิง ก็ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับข้อบังคับที่กดทับทนายความหญิงมานานกว่า 32 ปี และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับดังกล่าว เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้กับบุคลากรในวงการยุติธรรมอย่างแท้จริง
5 คีย์เวิร์ดความสุขของ “โสภิตชิทแชท” เน็ตไอดอลวัย 60 ที่อายุก็หยุดความแซ่บไม่ได้
“ผู้สูงอายุ” ช่วงวัยที่ใครๆ ต่างก็รู้สึกหดหู่เมื่อนึกถึง แต่สำหรับ “โสภิต สุนทรธนสถิตย์” เน็ตไอดอลวัย 60 ปี เจ้าของเพจ “SopitChitchat โสภิตชิทแชท” ความชราดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลเท่าไรนัก เพราะในวัยที่เรียกว่าบั้นปลายของชีวิต เธอยังคงสนุกกับการแต่งกายในสไตล์ต่างๆ ตั้งแต่ผ้าไทยสวยอลังการ ไปจนถึงบิกินีสุดแซ่บอวดรูปร่างและผิวพรรณสวยงาม และยังสร้างสีสันในโลกออนไลน์แบบไม่เกี่ยงแพลตฟอร์ม ราวกับว่าความสุขของเธอนั้นล้นปรี่และกระจายไปถึงคนรอบข้างและผู้ติดตามในโลกออนไลน์เลยทีเดียว
แม้ประเทศไทยจะมีร่างพระราชบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของการมี “ประจำเดือน” ซึ่งเป็นภาวะปกติของร่างกายผู้หญิง แต่ “ผ้าอนามัย” ซึ่งเป็นของจำเป็นกลับไม่ถูกจัดเป็นบริการสุขภาพ ซึ่งอาจกำลังสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมผ่านสุขภาวะทางเพศที่ถูกให้เชื่อว่าเป็นเรื่องส่วนตัว
ผู้หญิงต้องเป็นแม่ที่ดีเท่านั้นหรือ?
“ความเป็นแม่” ถูกเชิดชูให้เป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของผู้หญิง แต่ที่จริงแล้ว ความเป็นแม่ก็ไม่ได้มีแต่ด้านที่สวยงามเพียงเท่านั้น แต่ยังซุกซ่อนความเจ็บปวด ความทุกข์ใจ และความไม่พร้อมของผู้หญิงที่ถูกยัดเยียดความเป็นแม่ให้ เมื่อสังคม “คาดหวัง” ว่าผู้หญิงต้องเป็นแม่ ก็ไม่ต่างจากการ “ตีกรอบ” ให้ผู้หญิงต้องทำตามอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะฉะนั้น คงจะดีกว่าหากสังคมมีพื้นที่ให้กับความเป็นแม่ ที่ไม่ได้มีแต่ “ความเสียสละ” แต่เป็นแม่ที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่เจ็บได้ ร้องไห้เป็น หรือแม้แต่แม่ที่ไม่พร้อมจะเป็นแม่ก็ตาม
“ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” อาการขมๆ จากสังคมที่เข้าใจผิด
“ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” ภาวะที่คุณแม่หลังคลอดหลายคนต้องประสบกันมาไม่มากก็น้อย และกลายเป็นประเด็นที่คนในสังคมปัจจุบันตระหนักกันมากขึ้น อย่างที่รู้กันว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนี้มีสาเหตุหลักจากฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่รู้หรือไม่ว่า ความคาดหวังและมายาคติในสังคมก็มีส่วนสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคุณแม่หลังคลอดด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ “แม่ที่ดี” ที่ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต้องอุทิศตนเพื่อลูก 24 ชม. หรือแม้กระทั่งการคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ ก็เป็น “มาตรวัดความเป็นแม่ที่ดี” ที่กดทับผู้หญิงที่เป็นแม่เช่นกัน
“แม่ใจยักษ์” แค่หญิงชั่วคนหนึ่งหรือเหยื่อของสังคม
“แม่ใจยักษ์” คีย์เวิร์ดที่มักปรากฏขึ้นในพาดหัวข่าว ทุกครั้งที่มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งมีผู้กระทำผิดเป็นแม่ของเด็กเอง และไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย การทอดทิ้งเด็ก หรือการฆาตกรรม สิ่งที่ตามมากับพาดหัวข่าวลักษณะนี้ก็คือ ความเห็นจากผู้เสพสื่อที่รุมประณามผู้ก่อเหตุ รวมทั้งเรียกร้องโทษรุนแรงให้สาสมกับการกระทำของคนเป็นแม่ อย่างไรก็ตาม ในกระแสความโกรธแค้นที่หนักหน่วง กลับไม่มีใครสนใจที่จะตั้งคำถามย้อนกลับไปถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งตัดสินใจทำร้ายลูก และถูกตราหน้าว่าเป็นคนชั่วในที่สุด ดังนั้น sanook.com จึงลองหาคำตอบว่า เหตุใดผู้หญิงคนหนึ่งจึงลงมือทำร้ายหรือทอดทิ้งลูกของตัวเอง สังคมและสื่อมีบทบาทอย่างไรกับกรณีเหล่านี้ และทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาแม่ที่กระทำความรุนแรงต่อลูกได้
เมื่อดารากลายเป็นแม่และเรื่องที่มากกว่าความแซ่บของคุณแม่ดารา
ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินระยะเวลายาวนาน ส่งผลกระทบต่อการทำงานของคนบันเทิงจำนวนมาก ทำให้เหล่าดารานักแสดงและศิลปินต้องว่างเว้นจากการทำงาน ข่าวคราวอัปเดตเกี่ยวกับผลงานในวงการบันเทิงจึงหายไปจากหน้าสื่อ ทำให้สื่อต้องหันมาทำข่าวไลฟ์สไตล์ของคนดังจากโซเชียลมีเดียมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวที่น่ายินดีอย่างการตั้งครรภ์ของดาราหญิง แม้แต่หลังคลอด สื่อก็ยังคงติดตามชื่นชมรูปร่างที่กลับมาผอมสวยราวกลับไม่เคยผ่านการตั้งครรภ์ของดาราหญิงหลายคน อย่างไรก็ตาม การที่สื่อพยายามนำเสนอภาพรูปร่างที่ “แซ่บเว่อร์” ของเหล่าคุณแม่ดาราทั้งก่อนและหลังคลอดซ้ำๆ กลับสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยที่ยังไม่เคยข้ามพ้นระบบชายเป็นใหญ่ อีกทั้งยังเผยให้เห็นการทำงานของสื่อที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างอีกด้วย
“วีรพร นิติประภา” กับรักของแม่บน "ความเป็นมนุษย์"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ ขณะนี้ยุคของคนรุ่นใหม่ได้เริ่มขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามต่อระบบและอำนาจต่างๆ บนโลกออนไลน์ ลุกลามสู่การแสดงจุดยืนทางการเมืองในพื้นที่โลกจริง ทั้งยังสร้างแรงสั่นสะเทือนต่ออำนาจของ “ผู้ใหญ่” ในหลายภาคส่วน ไม่เว้นแม้กระทั่งพื้นที่เล็กๆ อย่างครอบครัว ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นสมรภูมิขนาดย่อมระหว่าง “แม่” ผู้กุมอำนาจในบ้านกับ “ลูก” วัยรุ่นไฟแรง การกระทบกระทั่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างคนสองคนที่น่าจะรักกันมาก และมีทางไหนที่จะประคับประคองความสัมพันธ์ของแม่ลูกให้ตลอดรอดฝั่ง Sanook คุยกับ “วีรพร นิติประภา” หรือ “พี่แหม่ม” นักเขียนดับเบิลซีไรต์และคุณแม่สุดเท่ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นกูรูด้านความสัมพันธ์แม่ลูกแห่ง พ.ศ.นี้ เพื่อพูดคุยถึงปัญหาโลกแตกระหว่างแม่ลูก ที่ไม่ใช่แค่เรื่องในบ้าน แต่เป็นเรื่องสำคัญระดับสังคมเลยทีเดียว
“ทำแท้งปลอดภัย” แอกใหญ่ของผู้หญิงที่ยังไม่ถูกปลด
ประเด็นทำแท้งจุดกระแสการถกเถียงในสังคมได้เสมอ ขณะที่ฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการแก้ไขกฎหมายทำแท้ง พร้อมยกเรื่องศีลธรรมขึ้นมาอ้าง อีกฝ่ายก็มองเรื่องความจำเป็นในชีวิตและสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง อย่างเช่น “กลุ่มทำทาง” ซึ่งทำงานขับเคลื่อนเรื่องการทำแท้งปลอดภัยมานานกว่า 10 ปี
ผู้หญิงต้องไม่ยุ่งเรื่องการเมือง
พื้นที่การเมืองถูกมองว่าเป็น “พื้นที่ความเป็นชาย” ที่เมื่อใดผู้หญิงก้าวเข้าไป พวกเธอจะต้องเผชิญหน้ากับการโจมตีด้วยอคติทางเพศเสมอ แต่สถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้ผู้หญิงหลายคนกล้าที่จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น เช่นเดียวกับความพยายามจะสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ของผู้ชายเท่านั้น
“มายด์ ภัสราวลี” คนธรรมดาผู้ใฝ่ฝันถึงการเมืองที่มั่นคง
การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 ไม่เพียงแต่จุดประกายให้ผู้คนหันมาตั้งคำถามกับความเป็นไปในแวดวงการเมืองและสังคมเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงพลังของประชาชนคนธรรมดา ที่หลอมรวมกันกลายเป็นขุมพลังอันยิ่งใหญ่ที่สามารถขับเคลื่อนสังคมไปได้ในระยะเวลาเพียงไม่นาน และ “คนธรรมดา” ที่มีบทบาทไม่น้อยในการขับเคลื่อนสังคมนี้ ได้แก่ “มายด์ - ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล”
ไอซ์ รักชนก: ประชาชนผู้ตาสว่าง บนเส้นทางต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
สถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุด้วยการเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ทำให้ชื่อของ “ไอซ์ - รักชนก ศรีนอก” ตัวจี๊ดแห่งคลับเฮ้าส์ ด้วยลีลาการพูดจาและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างออกรส แต่ก็ไม่วายถูกขุดว่าเธอเคยเป็น “สลิ่ม” แม้จะถูกปิดป้ายว่าเป็นคนเคยเชียร์รัฐบาล แต่เธอก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคนเราเปลี่ยนแปลงความคิดได้ และเธอก็มุ่งจะสร้างสังคมที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกัน
“นักรบผ้าถุง” เมื่อเหล่า “มะ” ลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องท้องทะเล “จะนะ”
การเมืองกับ “มะ” ผู้หญิงรุ่นแม่ที่ทำหน้าที่ดูแลบ้านและสมาชิกครอบครัวดูเป็นเรื่องที่ห่างกันมาก แต่มะจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเธอไม่ได้มีหน้าที่แค่ทำอาหาร เก็บกวาดบ้าน และดูแลลูกหลานเท่านั้น แต่พวกเธอยังทำหน้าที่สำคัญในการ “ปกป้อง” ผืนดินบ้านเกิดของตัวเอง จนได้รับการขนามนามว่า “นักรบผ้าถุง”
“ไครียะห์ ระหมันยะ” ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ กับเรื่องราวในหนังสือที่ผู้ใหญ่ไม่อยากให้เด็กอ่าน
ไครียะห์ ระหมันยะ หรือสมญานามว่า “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” เป็นเยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ในการต่อต้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา เนื่องจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อาจก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น ไครียะห์และชาวบ้านในชุมชนจึงพร้อมใจกันออกมาต่อสู้ เพื่อสื่อสารให้รัฐและสังคมเข้าใจว่า ชุมชนควรมีสิทธิออกแบบการพัฒนาด้วยตัวเอง นั่นคือการเป็นแหล่งอาหาร ไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรม
“บิว ณัฏฐา” นางงามสิทธิมนุษยชนกับแคมเปญเพื่อสิทธิพื้นฐานของทุกคน
บิว ณัฏฐา ทองแก้ว อดีตผู้เข้าประกวด Miss Universe Thailand 2020 ได้นำเสนอโครงการพูดคุยกับนักโทษในเรือนจำ และได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวด Miss Face Of Humanity 2021 ที่แคนาดา เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว บิวได้ริเริ่มแคมเปญ “ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย” ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แบ่งปันอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ทางภาคใต้ และเรือนจำ 7 แห่ง พร้อมจัดตั้งแคมเปญระดมรายชื่อ เรียกร้องให้รัฐบาลดูและกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ทาง Change.org/SaveManiPeople
“เอิน นลินรัตน์” เมื่อเด็กเปิดไมค์พูดว่า “การคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องปกติ”
เอิน นลินรัตน์ เยาวชนที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยครูในโรงเรียน และเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการมีมาตรการป้องกันปัญหานี้อย่างจริงจัง สิ่งที่เธอพยายามสื่อสารต่อสังคม คือแนวคิดที่ว่า การล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องปกติ และไม่ใช่เรื่องของความโชคร้าย แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากทัศนคติชายเป็นใหญ่และอำนาจนิยม และหากกระบวนการยุติธรรมไม่อาจช่วยเหลือผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ สิ่งที่จะช่วยเยียวยาจิตใจของผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ คือการรับฟังเสียงของคนเหล่านี้อย่างไม่ตัดสิน