สธ.อัปเดตสถานการณ์โควิดในไทย “โอมิครอน BA.2” เกินครึ่ง แพร่เร็วแต่ไม่รุนแรง

สธ.อัปเดตสถานการณ์โควิดในไทย “โอมิครอน BA.2” เกินครึ่ง แพร่เร็วแต่ไม่รุนแรง

สธ.อัปเดตสถานการณ์โควิดในไทย “โอมิครอน BA.2” เกินครึ่ง แพร่เร็วแต่ไม่รุนแรง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงสาธารณสุข เผย การเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์โควิด 19 ในไทย ขณะนี้เป็นสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 มากกว่า 50% เหตุแพร่เร็วกว่า BA.1 ประมาณ 1.4 เท่า การแพร่ในครัวเรือนเร็วขึ้น 10% แต่ความรุนแรงยังไม่แตกต่าง แนวทางการรักษายังเหมือนเดิม พร้อมออกคำแนะนำการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับโควิดฉบับใหม่ เตรียมเพิ่มการตรวจยืนยันด้วยวิธี LAMP และ CRISPR หากผ่านการอนุญาตจาก อย.

เมื่อวานนี้ (7 มีนาคม 2565) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย

โดย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากการสุ่มตรวจสายพันธุ์ตัวอย่างเชื้อโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2565 จำนวน 1,905 ราย พบสายพันธุ์เดลตาเพียง 7 ราย ที่เหลือเป็นสายพันธุ์โอมิครอน คิดเป็น 99.63% และจากการตรวจสายพันธุ์ย่อยรวม 1,802 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 ถึง 51.8% แสดงว่า BA.2 แพร่เร็วกว่า BA.1 ซึ่งมีข้อมูลว่าแพร่เร็วกว่า 1.4 เท่า

ขณะที่การแพร่ในครัวเรือน BA.2 อยู่ที่ 39% ส่วน BA.1 อยู่ที่ 29% หรือแพร่เร็วกว่า 10% ดังนั้น สัปดาห์ถัดไปอาจจะพบ BA.2 สูงขึ้นและอาจมาแทน BA.1 ได้

อย่างไรก็ตาม พบว่าความรุนแรงไม่แตกต่างกัน โดยพบว่า BA.2 ดื้อต่อวัคซีนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ยา “โมโนโคลนอลแอนติบอดี” หรือยาจากภูมิคุ้มกันที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาและ BA.1 ได้ จะไม่ค่อยได้ผลใน BA.2 แต่ยังไม่กระทบกับวิธีรักษา เนื่องจากโอมิครอนส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง การรักษาด้วยวิธีอื่นยังได้ผลเหมือนเดิม

นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ออกแนวทางคำแนะนำการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับไวรัสโควิดฉบับล่าสุด ซึ่งฉบับร่างได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว โดยมีสาระสำคัญ คือ

1. สิ่งส่งตรวจที่เหมาะสมกับการตรวจสารพันธุกรรม คือ การเก็บตัวอย่างจากหลังโพรงจมูกหรือน้ำลาย ส่วนสิ่งส่งตรวจที่เหมาะสมกับการตรวจหาแอนติเจน กรณีชุดตรวจแบบ Professional Use คือ ตัวอย่างหลังโพรงจมูก กรณี Home Use คือ เก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกด้านหน้าหรือน้ำลาย ซึ่งควรเก็บน้ำลายตอนเช้าหลังตื่นนอนโดยขากจากส่วนลึกของลำคอ งดแปรงฟันหรือใช้น้ำยาบ้วนปาก งดอาหาร ยาอม ของขบเคี้ยว อย่างน้อย 30-60 นาที ส่วนกรณีเด็ก ให้ใช้ไม้เก็บตัวอย่าง ที่ไม่แข็งมาก หรือเก็บจากน้ำลาย

2. การตรวจยืนยัน กำหนดให้ตรวจหาสารพันธุกรรมได้ขั้นต่ำไม่เกิน 1,000 copies/ml และต้องตรวจพบทั้ง 2 ตำแหน่ง ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงวิธี RT-PCR และได้กำหนดเป็นวิธีหลัก แต่ขณะนี้มีเทคโนโลยี LAMP และ CRISPR ที่ตรวจได้ไม่เกิน 4,000 copies/ml แต่เนื่องจากเป็นเครื่องมือแพทย์จึงต้องขออนุญาตจาก อย.ก่อน หากผ่านการอนุญาตแล้ว จะให้เป็นวิธีการตรวจยืนยันเพิ่มจาก RT-PCR

3. การตรวจ ATK ในผู้สัมผัสโรค หากผลเป็นบวก ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง ให้เข้าระบบ HI/CI หรือรักษาแบบผู้ป่วยนอก หากมีอาการหรือความเสี่ยงอาการรุนแรง จะตรวจสารพันธุกรรม เพื่อส่งรักษาต่อในโรงพยาบาล หากผลเป็นลบไม่มีอาการ สามารถแยกกักตัวเอง ตรวจ ATK ซ้ำทุก 3 วัน หรือเมื่อมีอาการ และ

4. การคัดกรองที่ด่านระหว่างประเทศ ยังใช้ RT-PCR เป็นหลัก แต่อาจพิจารณาใช้การตรวจหาแอนติเจนด้วยเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ (Machine Based Assay : MBA) หรือเครื่องตรวจสารพันธุกรรมที่ตรวจตัวอย่างได้ครั้งละมากๆ และใช้เวลาตรวจไม่นานได้ โดยให้เป็นไปตามการพิจารณาของฝ่ายนโยบาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook