แม่กับมรดก: อธิบายง่ายๆ ด้วย “กฎหมายมรดก”

แม่กับมรดก: อธิบายง่ายๆ ด้วย “กฎหมายมรดก”

แม่กับมรดก: อธิบายง่ายๆ ด้วย “กฎหมายมรดก”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเด็น “ผู้จัดการมรดก” และ “ผู้รับมรดก” กลายเป็นประเด็นถกเถียงในโลกโซเชียลเป็นวงกว้าง หลังจากเหตุการณ์น่าสลดใจของ “แตงโม นิดา” นักแสดงชื่อดัง ตามมาด้วยความพยายามของคุณแม่นักแสดง ที่แสดงออกผ่านสื่อชัดเจนว่ากำลังดำเนินการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก และกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างดุเดือด 

แล้วก็ยังมีความสับสนตามมาด้วยว่า หาก “แม่” เป็นผู้จัดการมรดกแล้วจะต้องชำระหนี้ของผู้ตายด้วย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างการเป็น “ผู้จัดการมรดก” กับ “ผู้รับมรดก” Sanook เปิดกฎหมายว่าด้วย “มรดก” เพื่อดูว่ากฎหมายที่มีอยู่ ได้ระบุถึงผู้รับมรดกและผู้จัดการมรดกไว้อย่างไรบ้าง

เมื่อมีคนตาย มรดกจะตกเป็นของ “ทายาท” ทันที 

ตามกฎหมายไทยนั้น เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตาย ไม่ว่าจะตายโดยธรรมชาติหรือตายโดยผลของกฎหมาย (กรณีหายสาบสูญ) มรดกของบุคคลนั้นจะตกเป็นของทายาท ซึ่งมรดกที่หมายถึงทรัพย์สินของผู้ตาย (หรือเจ้ามรดก) จะต้องเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ “ก่อน” ถึงแก่ความตาย หากเป็นทรัพย์สินที่ได้มา “หลัง” เช่น เงินที่ได้จากการประกันชีวิต หรือเงินค่าทำศพจากองค์กรต่าง ๆ เป็นต้น ทรัพย์สินเหล่านี้ไม่ถือเป็นมรดก และไม่จำเป็นต้องแบ่งให้ทายาท 

ผู้รับมรดกเป็นใครได้บ้าง

บุคคลที่มีสิทธิเป็น “ผู้รับมรดก” ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คือ “ทายาท” ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “ผู้รับพินัยกรรม” และ “ทายาทโดยธรรม” 

ผู้รับพินัยกรรม คือ บุคคลที่ผู้ตายระบุไว้ในพินัยกรรมให้รับมรดก ในขณะที่ทายาทโดยธรรมจะต้องเป็นบุคคลธรรมดา แต่สำหรับผู้รับพินัยกรรมสามารถเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ 

ทายาทโดยธรรม คือ บุคคลที่กฎหมายกำหนดให้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ทั้งนี้ทายาทโดยธรรมนั้นจะมีได้ ก็ต่อเมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือพินัยกรรมที่ทำไว้เป็นโมฆะ โดยทายาทโดยธรรมจะมีทั้งหมด 6 ลำดับ ได้แก่ 

  • ผู้สืบสันดาน หรือบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย บุตรที่บิดารับรองแล้ว หรือบุตรบุญธรรม 
  • บิดามารดา 
  • พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 
  • พี่น้องต่างบิดาหรือต่างมารดา
  • ปู่ ย่า ตา ยาย 
  • ลุง ป้า น้า อา 

ยักย้ายทรัพย์โดนตัดสิทธิได้นะ

อย่างไรก็ตาม ทายาทโดยธรรมก็อาจถูกตัดสิทธิได้ โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชญ์ ได้กำหนดเงื่อนไขที่ทายาทอาจจะถูกตัดสิทธิได้ในหลายกรณี เช่น 

  • มาตรา 1605 ทายาทที่ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก หรือทำให้ทายาทคนอื่นเสียประโยชน์ จะถูกกำจัดไม่ให้ได้มรดก 
  • มาตรา 1606 กำหนดลักษณะของบุคคลที่ต้องถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก ฐานเป็นผู้ไม่สมควร ดังนี้ 
    • ผู้ที่ศาลพิจารณาว่าเจตนากระทำหรือพยายามให้เจ้ามรดก หรือผู้มีสิทธิได้มรดกก่อนตัวเอง ถึงแก่ความตาย 
    • ผู้ฟ้องเจ้ามรดกว่าทำผิดโทษประหารชีวิต แต่ตัวเองกลับต้องคำพิพากษาว่ามีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ 
    • ผู้ที่รู้แล้วว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่ไม่ได้นำข้อความนั้นร้องเรียนเพื่อจะเอาตัวคนทำผิดมาลงโทษ​
    • ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่เจ้ามรดก หรือเพิกถอน เปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด
    • ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด 

“ผู้จัดการมรดก” ก็สำคัญเหมือนกัน

ผู้จัดการมรดก คือผู้เข้ามาทำหน้าที่รวบรวม ทำบัญชี และแบ่งปันทรัพย์สินของผู้ตายให้กับทายาทที่มีสิทธิรับมรดก อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการมรดกต้องเป็นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้ง ซึ่งผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลให้แต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้ ก็คือ ทายาท (ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม), ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (เช่น เจ้าหนี้ ผู้แทนโดยชอบธรรมของทายาท หรือผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม เป็นต้น) และอัยการ 

สำหรับคุณสมบัติของผู้จัดการมรดกนั้น ต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุ 20 ปีบริบูรณ์) ไม่เป็นคนวิกลจริต คนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ และต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย 

ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการมรดก โดยรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ซึ่งต้องทำบัญชีให้เสร็จภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่ศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการมรดกต้องชำระหนี้ (ถ้ามี) ของผู้ตาย ก่อนจะมีการแบ่งมรดก และต้องสืบประวัติและแจ้งข้อกำหนดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้ ผู้จัดการมรดกต้องจัดการแบ่งมรดกให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี และทายาทต้องบอกทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายตามที่ตนรู้ให้แก่ผู้จัดการมรดกอีกด้วย 

หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดก หรือเอามรดกมาแบ่งให้ตัวเอง ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็สามารถร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ และอาจมีความผิดอาญาด้วย

เอกสารที่ต้องนำมายื่นขอเป็นผู้จัดการมรดก

  • สำเนาใบมรณบัตรหรือหนังสือรับรองการตายของผู้ตายและทายาททุกคนที่เสียชีวิตแล้ว
  • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ตายที่เจ้าหน้าที่ประทับว่าตายแล้ว
  • สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและทายาททุกคนที่มีชีวิตอยู่
  • ทะเบียนสมรส หรือทะเบียนหย่า ของสามีภรรยาของผู้ตาย
  • ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล กรณีเอกสารไม่ตรงกัน
  • สูติบัตรของบุตรกรณียังไม่บรรลุนิติภาวะ
  • พินัยกรรมของผู้ตาย (ถ้ามี)
  • หนังสือให้ความยินยอมของทายาทที่เซ็นยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่
  • บัญชีเครือญาติที่ถูกต้องตามความจริง
  • เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ต้องจัดการ เช่น โฉนดที่ดิน, น.ส. 3, สมุดเงินฝาก, ทะเบียนรถ ฯลฯ

ถ้าทิ้งหนี้เอาไว้ ใครต้องรับผิดชอบ 

ในกรณีที่ผู้ตายมีหนี้ก่อนตาย หนี้สินนั้นจะถูกรวมกับทรัพย์สินอื่น ๆ และกลายเป็นมรดกที่จะถูกจัดสรรให้กับผู้รับมรดกตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผู้รับมรดกจะสละสิทธิในมรดกนั้นก็ได้ แต่หากรับมรดกแล้ว ก็มีหน้าที่ผูกพันว่าต้องชำระหนี้ของผู้ตาย ในจำนวนที่ไม่เกินกว่ามรดกที่รับไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 ระบุว่า ผู้รับมรดกจะต้องชำระหนี้ไม่เกิดมรดกที่ตัวเองได้รับ 

เพราะฉะนั้น ผู้รับมรดกเท่านั้นจึงจะมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ ในเงื่อนไขว่าชำระไม่เกินกว่ามรดกที่ได้ แต่ไม่ได้มีข้อกฎหมายใดที่กำหนดให้ผู้จัดการมรดกต้องชำระหนี้แทนผู้ตาย  

อ่านเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook