ฮุนเซนเปิดทางส.ส.เพื่อไทยไปพบแม้ว
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในปอยเปต ระบุได้รับการสั่งการจากรัฐบาลกัมพูชา ให้อำนวยความสะดวกกับส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่จะเดินทางข้ามแดนไปพบกับ "ทักษิณ" ในวันรับตัววิศวกรไทยที่ได้รับการปล่อยตัว
(12ธ.ค.) รายงานข่าวจากฝั่งปอยเปต ตรงกันข้ามกับ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว แจ้งว่า วันนี้ได้มีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปอยเปต และเจ้าหน้าที่ของ อ.โอวโจโรว จ.บันเตียเมียนเจย ของประเทศกัมพูชา ได้มีการประชุมร่วมกัน โดยในที่ประชุมได้อ้างว่าสมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำชายแดน ด้านกรุงปอยเปต ประเทศกัมพูชา ร่วมกันต้อนรับและอำนวยความสะดวกให้กับส.ส.พรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนไทยเสื้อแดง ที่จะเดินทางเข้ามาเพื่อไปต้อนรับและพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะเดินทางมาพนมเปญ ของกัมพูชา ในวันจันทร์ที่ 14 ธ.ค.52 นี้
ด้านหนังสือพิมพ์กัมพูชา ชื่อ น.ส.พ.เดิมอัมปึล (แปลว่าต้นมะขาม) ฉบับประจำวันที่ 11 ธ.ค.52 และมาวางจำหน่ายที่กรุงปอยเปต ในเช้าวันนี้ ( 12) ได้ลงภาพคู่กันระหว่างภาพนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ นักโทษชาวไทยคดีทำลายความมั่นคงของกัมพูชา และภาพนักโทษชาวกัมพูชาที่ถูกคุมขังอยู่ในประเทศไทย โดยบรรยายว่านายศิวรักษ์ ซึ่งเป็นนักโทษข้อหาร้ายแรงชาวไทยที่ถูกศาลกัมพูชาตัดสินจำคุก 7 ปี นั้นได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่กัมพูชาอย่างดี กระทั่งกุญแจมือที่ใส่ให้กับนายศิวรักษ์ ก็มีการปิดบังอย่างมิดชิด
ซึ่งผิดกับภาพนักโทษชาวกัมพูชาที่ถูกคุมขังในประเทศไทยที่ต้องสวมชุดนักโทษ และมีโซ่ตรวนล่ามไว้ โดยการเสนอภาพดังกล่าว ทำให้ประชาชนชาวกัมพูชา ต่างวิจารณ์กันมากว่านักโทษชาวไทยถูกทางการกัมพูชา ดูแลเกินไปผิดกับนักโทษชาวกัมพูชาที่ติดคุกในไทย รัฐบาลกัมพูชากลับไม่ไปดูแล
ส่วนที่บริเวณวงเวียนเอกราช กลางกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา บริเวณด้านหลังบ้านรับรองที่สมเด็จฮุน เซนสร้างและปรับปรุงอย่างดีให้เป็นที่พักของ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะนี้ได้มีการก่อสร้างบ้านรับรองหลังใหม่ขึ้นมาอยู่ติดกับบ้านรับรอง พ.ต.ท.ทักษิณ และด้านหลังติดกับกระทรวงกลาโหม ของกัมพูชา ทั้งนี้มีรายงานว่าบ้านหลังดังกล่าวสร่างขึ้นมา เพื่อไว้เป็นบ้านพักสำหรับรับรอง นายจักรภพ เพ็ญแข และนายยงยุทธ ติยะไพรัช
นายโจม เวอย อายุ 42 ปี พ่อค้าชาวกัมพูชา ที่มาขายเสื้อผ้ามือสองในตลาดโรงเกลือ กล่าวว่าเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางมากัมพูชาในวันจันทร์ที่ 14 ธ.ค.นี้ เพื่อมารับนายศิวรักษ์ หลังจากที่ได้มีการขออภัยโทษให้กับนายศิวรักษ์แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ชาวกัมพูชาทุกคนไม่ได้ตื่นเต้นอะไรเนื่องจากเชื่อว่าเหตุการณ์ต้องจบแบบนี้
"โฆษกปชป." ยินดี "ศิวรักษ์" ได้กลับบ้าน
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ยินดีที่เรื่องดังกล่าวจะจบลงด้วยดี โดยหวังว่านายศิวรักษ์จะเดินทางกลับไทยในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ จึงขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ร่วมกันให้ความช่วยเหลือแก่คนไทยที่ถูกจับกุม พรรคเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปและข้อเท็จจริงปรากฎขึ้นประชาชนจะได้ไตร่ตรองและสาเหตุเกิดขึ้นจากอะไร โดยเฉพาะการที่พ.ต.ท.ทักษิณ และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ และประธานพรรคเพื่อไทย ได้ใช้สถานการณ์นี้ในการแก้ไขปัญหาที่ทั้ง 2 คนเป็นต้นเหตุ ซึ่งพรรคกังวลว่าขณะนี้มีกระบวนการเบี่ยงเบนประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการสถานทูตไทยที่ทำหน้าที่ตามปกติว่าเป็นสาเหตุของปัญหา อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการจับกุมจะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านของอดีตนายกฯ ทั้ง 2 ท่าน
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทยควรต้องอธิบายต่อสังคมคือบทบาทและความเกี่ยวข้องในเหตุการณ์นี้ใน 2 ประเด็ฯคือ 1.การที่แกนนำของเพื่อไทยอ้างการครอบครองคลิปเสียงว่ามีการสั่งการและดักฟัง ซึ่งต่อมาแกนนำหลายคนออกมายืนยันว่ามีการจารกรรมข้อมูลเกิดขึ้น ข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกใช้เป็นเหตุผลหลักในการพิจารณาและลงโทษนายศิวรักษ์ ซึ่งเป็นสาเหตุในการถูกจับกุมตัวต่อมาหรือไม่ และ 2.การพยายามเคลื่อนไหวให้สอดรับกับแถลงการณ์ของกัมพูชาถึงผลการพระราชทานอภัยโทษอย่างผิดสังเกต ถึงขนาดไปยื่นหนังสือที่สถานทูตกัมพูชาภายหลังจากที่มีการพระราชทานอภัยโทษเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งพยายามอ้างว่าการดำเนินการดังกล่าวส่งผลย้อนหลังต่อการได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งทำให้เกิดความสงสัยเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ทางพรรคเพื่อไทยกล่าวอ้างว่าทางกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัยนายสิมารักษ์ ณ นครพนม มารดานายศิวรักษ์นั้น พรรคประชาธิปัตย์ขอยืนยันว่าไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแต่อย่างใด ทั้งหมดนี้เป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนเพื่อหวังผลทางการเมือง ซึ่งพรรคไม่อยากให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหาประโยชน์จากความรู้สึกยินดีของคนไทยที่นายศิวรักษ์จะได้อิสรภาพ ทั้งนี้ พรรคเห็นว่าการดำเนินการสถานการณ์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ หากการเคลื่อนไหวในประเทศเพื่อนบ้านยุติลง การแก้ไขปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชาก็จะสามารถเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังการพระราชทานอภัยโทษความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาจะเป็นอย่างไร นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า หลังจากปัญหานี้คลี่คลายคาดว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศจะดีขึ้น และคิดว่าความพยายามของคนไทยบางคนในการใช้ประเทศกัมพูชาเป็นฐานในการเคลื่อนไหวทางการเมืองจะยุติลง ส่วนกรณีที่ท่าทีของรัฐบาลกัมพูชายังแข็งกร้าวนั้น เราก็ต้องพัฒนาไปทีละขั้นตอน เรื่องนี้จะใจร้อนไม่ได้
เมื่อถามว่า ภาพลักษณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่เสียหายไปจากเหตุการณ์นี้จะฟื้นฟูอย่างไร นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ช่วยเหลือนายศิวรักษ์อยู่ตลอด ทั้งการประสานงาน การหาทนายความให้ และการดูแลความเป็นอยู่ของนายศิวรักษ์ แต่สาเหตุที่ฝ่ายอื่นสามารถช่วยเหลือนายศิวรักษ์ได้ ก็เป็นเพราะห่วงใยคนไทยด้วยกัน ยืนยันว่าภาพลักษณ์กระทรวงการต่างประเทศไม่เสียหายแต่อย่างใด เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยใช้ครอบครัวนายศิวรักษ์มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า ตนไม่มองในแง่นั้น ส่วนที่มารดานายศิวรักษ์ไม่พอใจรัฐบาล ก็เข้าใจได้ว่าหัวอกคนเป็นแม่ เมื่อเห็นทางใดที่สามารถช่วยเหลือบุตรชายตนเองได้ ก็จะต้องคว้าไว้
เมื่อถามว่าเหตุใดนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ จึงไม่แสดงบทบาทการช่วยเหลือนายศิวรักษ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศก็พยายามช่วยเหลือ และให้ข้อมูลกับประชาชนทุกวิถีทาง เห็นได้จากการทำหน้าที่ของเลขานุการรมว.ต่างประเทศ และอธิบดีกรมสารนิเทศของกระทรวงการต่างประเทศ สาเหตุที่นายกษิตไม่ได้ลงมาเกี่ยวข้องมากนัก เนื่องจากใน 2 เดือนที่ผ่านมามีการประชุมระดับนานาชาติหลายครั้ง จึงต้องไปเตรียมการเพื่อให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยดูดีในระดับนานาชาติ ซึ่งเท่าที่ทราบทุกฝ่ายก็ยอมรับในตัวนายกษิต
เมื่อถามว่าเหตุที่นายกษิตไม่จริงจังในการช่วยเหลือมาจากการที่เจ้าตัวให้สัมภาษณ์ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องป่าหี่ใช่หรือไม่ นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า ไม่ใช่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะต้องมองว่ารัฐบาลไม่ใช่ผู้สร้างปัญหา เมื่อถามย้ำว่าพรรคประชาธิปัตย์ให้คะแนนการทำหน้าที่นายกษิตในเหตุการณ์นี้เท่าใด นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า ต้องให้สังคมและประชาชนเป็นผู้ประเมิน เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์จะยังสนับสนุนให้นายกษิตทำหน้าที่ต่อหากมีการปรับครม.หรือไม่ นพ.บุรณัชย์ กล่าวว่า การปรับครม.ขึ้นอยู่กับตัวนายกฯ ซึ่งจะต้องดูภาพรวมการทำงานตลอดเวลาที่ผ่านมาด้วยว่าเป็นอย่างไร แต่เท่าที่พรรคประชาธิปัตย์ประเมินเห็นว่าทีมงานทำงานในการแก้ไขปัญหาประเทศได้อย่างสัมฤทธิ์ผล และถือว่าสอบผ่าน