ภาพสะท้อน “ดราม่าแตงโม” เมื่อทุกคนกลายเป็น “นักสืบโซเชียล”

ภาพสะท้อน “ดราม่าแตงโม” เมื่อทุกคนกลายเป็น “นักสืบโซเชียล”

ภาพสะท้อน “ดราม่าแตงโม” เมื่อทุกคนกลายเป็น “นักสืบโซเชียล”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • เมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น คนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงข่าวสารได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ รวมถึงการเป็น “นักสืบโซเชียล” ที่นำเอาข้อมูลมาปะติดปะต่อ และสรุปเหตุการณ์ต่าง ๆ จากความเห็นส่วนตัว 
  • เมื่อคนเสพสื่อไม่สามารถแยกข้อเท็จจริงออกจากข้อคิดเห็นและอารมณ์ได้ ก็ทำให้ง่ายที่จะเกิดดราม่า 
  • สื่อมวลชนก็มีบทบาทสำคัญในการหล่อเลี้ยงประเด็นดราม่า เพราะเมื่อเรื่องดราม่าขายได้ สื่อก็พร้อมที่จะนำเสนอ จนบางครั้งอาจหลงลืมการนำเสนอข่าวในแง่มุมที่เป็นประโยชน์กับสังคมจริง ๆ
  • ภาพสะท้อนหนึ่งที่ชัดเจนจากเหตุการณ์ของแตงโม นิดา คือ “การรู้เท่าทันสื่อ” ของไทยยังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ​ คนส่วนใหญ่เอนเอียงไปกับเรื่องดราม่า จนลืมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 
  • นี่จึงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ทั้งประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนต้องนำมาถอดบทเรียนและเรียนรู้ เพื่อทุกคนจะได้มีความเห็นอกเห็นใจ มีความเข้าอกเข้าใจทุกคน โดยเฉพาะคนที่สูญเสีย

การเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนากลางแม่น้ำเจ้าพระยาของ “แตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์” นักแสดงชื่อดัง สร้างความตกตะลึงและความสลดใจให้กับคนในสังคมเป็นอย่างมาก แต่ในความโศกเศร้าที่เกิดขึ้น ก็ยังมีความโกรธเกรี้ยวของกลุ่มคนที่ต้องการรู้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับแตงโมกันแน่ ซึ่งกลายเป็นขบวนการ “นักสืบโซเชียล” ที่ช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูลและคาดเดา “ความเป็นไปได้” ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นบทเรือที่เกิดเหตุ เช่นเดียวกับ “สื่อมวลชน” ที่กระโดดเข้าไปร่วมเป็นนักสืบ จนอาจหลงลืมหน้าที่ของตัวเองไป แล้วปรากฏการณ์เหล่านี้กำลังสะท้อนสังคมไทยของเราอย่างไร Sanook ร่วมมองพฤติกรรมการใช้สื่อของชาวเน็ต รวมไปถึงการทำงานของสื่อเมื่อเกิดเรื่อง “ดราม่า” ขึ้นมาในสังคม 

ใคร ๆ ก็เป็น “นักสืบโซเชียล” ได้ 

ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เริ่มต้นอธิบายว่า ในโลกยุคใหม่ที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ เพราะเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น ขณะที่ราคาก็ถูกลง จึงไม่แปลกที่ “ผู้รับสื่อ” จะเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็น “ผู้ส่งสาร” และทำหน้าที่กระจายข่าว หรือเป็น “ผู้ผลิตสื่อ” ทั้งการเอาคลิปมาตัดต่อ มาใส่คำพูด หรือการทำมีม เป็นต้น ทำให้ทุกวันนี้ เส้นแบ่งความเป็นสื่อเลือนรางลงไป 

และทันทีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ เช่นเหตุการณ์ที่นักแสดงสาวพลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ทเสียชีวิต การส่งต่อข่าวสารระดับประชาชนสู่ประชาชนก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกโซเชียลมีเดียแบบวินาทีต่อวินาที ชาวเน็ตแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว และเริ่มมีการ “คาดเดา” ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์น่าสลดใจนี้ จนกลายเป็น “การสืบหาความจริง” ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่บนเรือ  

จริง ๆ นักสืบโซเชียลมันไม่ใช่เรื่องใหม่ มันก็มีอยู่ตลอด แล้วการที่สังคมเปิดมากขึ้นในแง่ของข้อมูล ข่าวสารออนไลน์ มันทำให้คนสามารถที่จะเข้าถึงข่าวสารได้หลากหลาย แต่ที่สำคัญก็คือ การที่คนสามารถกลายมาเป็นผู้ผลิตข่าวสารได้ด้วยเอง ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนที่ไปสร้างข้อมูลหรอก แต่เขาเอาข้อมูลมา แล้วก็วิเคราะห์กันต่าง ๆ นานา เพราะฉะนั้น มันก็ทำให้หลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น คนเข้ามาแชร์ข้อมูล มันก็เลยเกิดความเห็นที่หลากหลายขึ้นมา” รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์โครงการบัณฑิตศึกษา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ 

ในขณะที่หลายคนแสดงความคิดเห็นว่า การสวมบทบาทนักสืบของชาวเน็ตอาจมีเหตุผลจาก “ความไม่ไว้ใจ” การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ศรันยา หวังสุขเจริญ​ หรือ “ทนายนิด้า” ก็ระบุว่าไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีหน้าที่แจงรายละเอียดของคดีให้คนทั่วไปฟัง ทว่าประชาชนก็สามารถตรวจสอบความถูกต้องและความโปร่งใสของการสืบคดีได้ เพราะมันก็มีช่องทางที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปทำได้ 

“เราอาจจะมองว่า แบบนี้อาจจะกระทบความยุติธรรม หรือไม่ได้กระทบแตงโมอย่างเดียว เพราะวันหนึ่งอาจจะเกิดเหตุกับเรา แล้ววิธีการทำงานของตำรวจแบบนี้ ประชาชนจะเชื่อมั่นเชื่อถือได้อย่างไร เราอาจจะเข้าไปในลักษณะนี้ได้ แต่การค้นหาความจริงของประชาชน ความกระตือรือร้นที่อยากเป็นนักสืบโซเชียล อยากวิพากษ์วิจารณ์ มันไม่ได้เกิดจากที่ตำรวจไม่ได้แจง เพราะไม่ใช่หน้าที่เขาต้องแจง เพราะมันคือความลับในสำนวนคดี แต่การที่ประชาชนออกมาเป็นนักสืบ มาวิพากษ์วิจารณ์อะไรต่าง ๆ มันสะท้อนอะไร มันก็สะท้อนความอยากรู้อยากเห็นของทุกคน” ทนายนิด้ากล่าว 

เมื่อสังคม “อุดมดราม่า” 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวของแตงโมก็กลายเป็น “ประเด็นดราม่า” อีกหนึ่งประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ซึ่ง พญ.ทรัพย์สิดี เกิดประกอบ จิตแพทย์ชำนาญการ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ได้อธิบายไว้ว่า เรื่องดราม่าหรือการกอสซิปเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารของมนุษย์ ดังนั้น การที่คนชอบแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ชอบเรื่องดราม่า จึงเป็นเรื่องธรรมชาติ โดยเฉพาะหากเรื่องนั้น ๆ เป็นเรื่องที่คนคิดว่าเข้าถึงได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และเมื่อโลกโซเชียลมีเดียขยายวงกว้างไปสู่ผู้ใช้งานมากขึ้น การแสดงความคิดเห็นก็ขยายวงกว้างตามไปด้วย ทำให้เกิดความหลากหลายทางความคิดเห็น เกิดความขัดแย้ง จนทำให้บางคน “หมกมุ่น” มากกว่าเดิม 

“อย่างคุณแตงโมเป็นคนสาธารณะ เป็นบุคคลสาธารณะ แล้วคดีนี้เป็นคดีที่การเสียชีวิตมีเงื่อนงำ มีเงื่อนงำอย่างไรก็ตรงที่หลาย ๆ คนที่อยู่บนเรือ บอกว่าการเสียชีวิตเกิดจากความประมาทของคุณแตงโมเอง แต่หลายสิ่งที่มันผุดมา คนโน้นเล่ามา คนนี้เล่ามา สัมภาษณ์มา มันดูย้อนแย้ง และเนื่องจากมันดูย้อนแย้ง เราก็เลยมองว่ามันมีพิรุธ ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบมาพากล ดังนั้น ทุกคนที่เฝ้าจับตาอยู่ ก็ต้องพูดว่า “แล้วความจริงมันคืออะไร” มันเลยทำให้ทุกคนอยากรู้ แล้วก็มาวิพากษ์วิจารณ์กัน เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองกัน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ปกติ ในสมัยก่อนก็คงมีการแลกเปลี่ยนกันแบบนี้ แต่ไม่มีโซเชียล เราเลยไม่ได้เห็นอะไรที่เยอะแยะแบบนี้” ทนายนิด้าแสดงความคิดเห็น 

แล้วทำไมคนจึงให้ความสนใจดราม่า ดร.เจษฎา ระบุว่า คนแยกไม่ออกระหว่างข้อเท็จจริง (Fact) กับข้อคิดเห็น (Opinion) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับข้อคิดเห็นและอารมณ์ (Emotion) จนหลายครั้งคนส่วนใหญ่ก็แทบจะลืมข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นั้น ๆ ไปเลย 

ด้าน รศ.ดร.ยุกติ ก็ชี้ว่า ความเพลิดเพลินของมนุษย์ไม่จำเป็นต้องดีงามหรือเป็นเรื่องสนุกเพียงอย่างเดียว ความตายหรือโศกนาฎกรรมก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้คนในสังคมสนใจ จึงไม่แปลกที่เมื่อเกิดเหตุการณ์น่าสลดใจใด ๆ ขึ้นมา ก็จะเกิดเป็น “โรงมหรสพขนาดใหญ่” ที่คนในสังคมเข้ามารับชม 

กรณีคุณแตงโม มันกลายเป็นมหรสพที่ทุกคนหรือคนจำนวนมาก มีส่วนในการเข้ามาช่วยแต่งเรื่องราว มันไม่มีใครวางพล็อต ไม่มีใครเป็นเจ้าของพล็อต มีเรื่องกว้าง ๆ ที่แต่ละคนเข้ามาเติม มาแต่งเรื่อย ๆ แล้ววัตถุดิบก็มาเรื่อย ๆ ยิ่งสัมภาษณ์คนนั้นคนนี้ คนก็ยิ่งปะติดปะต่อเรื่องราว ผมมองว่าสังคมไทยตอนนี้กลายเป็น Chat Room ที่คนมาร่วมกันแต่งนิยายออนไลน์กัน แล้วก็ไม่ใช่แค่แต่งออนไลน์แล้ว เพราะสื่อกระแสหลักก็ไปร่วมแต่งนิยายกับเขาด้วย หรือไปร่วมป้อนข้อมูล ป้อนวัตถุดิบให้นักแต่งนิยายแต่ละคน คือคนมีวัตถุดิบมากขึ้น คนก็ยิ่งร่วมการแต่งนิยายออนไลน์ขนาดใหญ่แบบนี้” รศ.ดร.ยุกติ อธิบาย 

“สื่อมวลชน” กระจกและตะเกียงของสังคม 

ในขณะที่คนในสังคมกำลังหมกมุ่นกับการคาดเดาและวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ของแตงโม สื่อมวลชนเองก็ร่วมทำหน้าที่ในการ “หล่อเลี้ยง” ดราม่าที่เกิดขึ้น ซึ่ง รศ.ดร.ยุกติ ใช้คำว่า “ป้อนกันและกัน” กล่าวคือ เมื่อกระแสสังคมกำลังพุ่งความสนใจไปที่เรื่องแตงโม ก็ไปป้อนให้สื่อต้องหยิบเรื่องนี้มาเล่น เพราะ “มันขายได้” พอสื่อเล่น มันก็ป้อนข้อมูลกลับมาให้สังคม และสังคมก็เอาข้อมูลไปขยายต่อ 

“สื่อเองก็รู้ว่า กระแสสังคมหรือคนในสังคม สนใจข้อคิดเห็นมากกว่า ซึ่งพอเป็นข้อคิดเห็นกับอารมณ์ มันไม่มีทางเป็นกลางอยู่แล้ว มันจะไหลไปตามกระแส สวิงไปมา โต้กันไปมา พอสื่อจับกระแสได้ว่ามันไปทางไหน คนอยากฟังอะไร อยากเห็นอะไร สื่อก็นำไปเลย แล้วคนก็พร้อมที่จะตามอยู่แล้ว ซึ่งมันก็ทำให้มวลของประชาชนไปทางนั้น โดยที่คนทิ้งข้อเท็จจริงไว้ข้างหลัง ไม่หันกลับมาดูด้วยว่าข้อเท็จจริงมันคืออะไร” ดร.เจษฎากล่าว 

แน่นอนว่าเรื่องดราม่าเป็นสิ่งที่ปุถุชนสนใจและคงไม่ใช่เรื่องผิดปกติหากประชาชนจะให้ความสนใจ แต่ในบทบาทของการเป็นสื่อมวลชนแล้ว ทั้ง รศ.ดร.ยุกติ และ ดร.เจษฎา ต่างก็ตั้งคำถามถึงหลักการทำงานของสื่อ ที่ควรยึดหลักไม่นำเสนอประเด็นที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ละเมิดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ไม่ตีตรา และไม่พิพากษา นอกจากนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ช็อกสังคม อย่างในกรณีแตงโม สื่อมวลชนก็ควรนำเสนอประเด็นที่ “เล่นแล้วเป็นประโยชน์กับสังคม” 

ความตายของบางคนมันสำคัญ ทำให้คนสนใจ แต่ความตายนั้น เราจะเข้าใจหรือเราคิดว่าปัญหามันคืออะไรกันแน่ หรือถ้าเราจะต้องแก้ปัญหา มันมีประเด็นไหนแวดล้อมที่เราจะต้องดูบ้างไหม นอกเหนือไปจากเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบุคลล ซึ่งกลายเป็นออกไปในทางลักษณะละครโทรทัศน์ เป็นความอิจฉาริษยา เรื่องการเอารัดเอาเปรียบระหว่างคน กลายเป็นเรื่องส่วนตัว ในขณะที่ประเด็นแวดล้อมที่สำคัญกว่านั้น ที่จะให้สังคมได้เรียนรู้ มันมีมากกว่านั้น เช่น เรื่องความปลอดภัย การดูแลสวัสดิภาพของประชาชน เป็นคำถามที่จะคิดไปได้ไกลกว่านี้ไหม” รศ.ดร.ยุกติ ตั้งคำถาม 

อย่างไรก็ตาม สื่อสมัยใหม่ก็ตกอยู่ภายใต้การแข่งขัน ทุกสื่อมี “ยอดวิว เรตติ้ง และเคพีไอ” ที่คนทำงานต้องแบกรับ ดังนั้นจึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการนำเสนอเรื่องราวดราม่าก็ป็น “หนทางรอด” ทางหนึ่งของสื่อไทย ซึ่งจะมาพร้อมกับคำกล่าวอ้างที่ว่า ประชาชนคนเสพสื่อยังอยากดูความดราม่า สื่อก็เลยต้องจัดให้ 

“สื่อเป็นทั้งกระจกและตะเกียง คือเป็นทั้งคนที่สะท้อนและชี้นำ ดังนั้น คุณจะมาบอกว่าคนอยากดู ก็เลยทำแบบนี้ ไม่ได้ แต่คุณต้องชี้นำด้วย คุณต้องนำทางสังคมไปในทิศทางที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่มองแค่ว่าคนอยากดูแบบนี้ ก็เสิร์ฟไป มันดูไม่ค่อยรับผิดชอบต่อสังคมมากเท่าไร” 

“ผมยังเชื่อว่าสื่อที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม มันอยู่ได้นะ จะมาบอกว่ายอดวิวสู้ไม่ได้ ผมว่ามันเป็นการมองระยะสั้น แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าคุณมองในระยะยาว มันก็มีสื่อที่ทำแบบนี้ แล้วก็อยู่ได้ แล้วก็ได้รับการยอมรับที่ยั่งยืนมากกว่า ในทางกลับกัน สื่อที่มุ่งแต่ขายอะไรแบบนี้ สุดท้ายแล้วเมื่อสังคมก้าวไปข้างหน้ามากแล้ว แต่คุณยังเล่นอะไรแบบเดิม ๆ คุณนั่นแหละจะเป็นคนตกขบวนรถไฟ ไม่สามารถปรับตัวเองได้” ดร.เจษฎา ชี้ 

ภาพสะท้อนสังคมไทยจากคดีดัง

แม้เหตุการณ์เสียชีวิตของแตงโมจะสร้างความสลดใจให้กับสังคม แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ก็เป็นภาพสะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการรับสื่อของคนในสังคมออนไลน์ ที่ความรู้เท่าทันสื่อของประชาชนอาจจะยังไม่ถูกให้ความสำคัญเท่าไรนัก จนกลายเป็นการแสดงความคิดเห็นที่อาจจะเกินไปจากความจริง หรือเลยเถิดไปถึงการละเมิดหรือหมิ่นประมาทคนอื่น 

อย่างแรกคือต้องเอ๊ะก่อน เอ๊ะว่าอันนี้เป็นข้อเท็จจริงหรือข้อคิดเห็น เอาให้รู้เท่าทันเบื้องต้นอันนี้ก่อน แยกข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็นออกจากกันให้ได้ ซึ่งใช้ได้กับทุกข่าว โดยเฉพาะสำนักข่าวของประเทศไทย คือเขารู้ว่าคนไทยชอบแบบนี้ บางครั้งบางรายการเราก็จะเห็นว่าข้อเท็จจริงมีแค่ 10% แล้วก็เล่าไปอีก 80 - 90% เพราะคนไทยชอบ” ดร.เจษฎา แนะนำ 

เช่นเดียวกับ พญ.ทรัพย์สิดี ที่ชี้ว่า คนเสพข่าวต้องรู้จักสำรวจอารมณ์ของตัวเองในขณะที่ตามข่าว และต้องจำกัดเวลาในการรับสื่อให้กับตัวเอง รวมไปถึงการเลือกรับข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ และสิ่งสำคัญคือต้องหลีกเลี่ยงการด่วนสรุป ตัดสินจากข้อมูลที่จำกัดหรือที่มาเร็วมาก ยังไม่มีการกลั่นกรอง ไม่รู้แหล่งที่มา 

ทางด้านทนายนิด้าก็กล่าวถึงเรื่องข้อกฎหมายถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่น ๆ ที่อยู่ในข่าวบนโลกออนไลน์ พร้อมฝากคำเตือนให้ชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์ติชมด้วยความสุจริตและเป็นธรรม 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นว่าคุณแตงโมตกเรือ แต่ความปรากฏจากผู้ร่วมชะตากรรมกันเองแล้ว ว่าเขามีวิธีในการช่วยแบบนี้ หลาย ๆ คนก็มองว่าไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นเราจะทำแบบนี้ ถ้าเป็นเพื่อนจริงก็น่าจะทำแบบนี้ อันนี้ยังเข้าข่ายเป็นเรื่องการติชมด้วยความสุจริตอยู่ แต่ว่าไปด่าถึงดอกไม้ วัว ควาย สัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ อันนี้อาจจะมองว่าสุจริตยาก แล้วการไปใส่ความเขา คนนี้คือคนฆ่า คนนู้นคือคนฆ่า โดยที่กระบวนการยังอยู่ในขั้นตอนของการสืบสวนสอบสวนอยู่ อันนี้อาจจะต้องระวังนิดนึง” ทนายนิด้ากล่าว

ชาวเน็ตกับสื่อมวลชนต้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน 

แม้สังคมไทยจะผ่านเรื่องดราม่าเขย่าสังคมมาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีเหตุการณ์ครั้งไหนจะสามารถให้ “บทเรียน” กับสังคมได้ และแน่นอนว่าเหตุการณ์ของแตงโมในครั้งนี้ก็คงไม่ใช่ดราม่าครั้งสุดท้ายที่สังคมไทยจะให้ความสนใจ แต่คงจะดีกว่าหากทั้งสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปจะลองทบทวนและถอดบทเรียนปรากฏการณ์นี้อีกครั้ง และมีวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์สูญเสียเกิดขึ้นอีกครั้ง

“จริง ๆ สื่อก็ตั้งหลักมาหลายรอบแล้ว ตั้งแต่คุณปอ ทฤษฎี หรือกราดยิงโคราช แต่ทุกครั้งที่มีการเขย่าแบบนี้ เราตั้งหลักกัน มันก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ สื่อลองทบทวนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เราได้เรียนรู้อะไร อะไรที่ควรไม่ควร อะไรมากเกินไป ส่วนประชาชนเองก็ต้องตั้งหลักเหมือนกัน ตอนนี้เรากำลังเสพดราม่าหรือข้อเท็จจริงอยู่ ต้องแยกแยะว่าอันไหนคือข้อเท็จจริง อันไหนคือข้อคิดเห็น เรากำลังอินกับมันมากเกินไปหรือเปล่า เรากำลังด่วนตัดสินอะไรหรือเปล่า เรากำลังพิพากษาใครโดยที่เรามีข้อมูลเพียงพอแล้วหรือยัง” ดร.เจษฎากล่าว

ทั้งนี้ ตราบใดที่คนส่วนใหญ่ยังสนใจข่าวสารข้อมูล สิ่งสำคัญมากที่สุดคือการจัดการชุดข้อมูลที่ได้ตัวเองได้รับ ซึ่งแต่ละคนจำเป็นต้องหามุมมอง กรอบแนวคิด หรือแนวในทางการเข้าใจสถานการณ์นั้น ๆ ให้มากกว่าการถามหาข้อมูล เพราะเราอาจจะติดกับ “มุมมองเดิม” จนทำให้การติดตามข่าวสารไม่ได้นำไปสู่อะไร นอกจากการตอบโจทย์ทางอารมณ์ของเราเพียงเท่านั้น แต่ในที่สุดแล้ว เราทุกคนคือมนุษย์ในสังคม และการเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ก็เป็นสิ่งสำคัญในการทำให้สังคมสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เรื่องความมีมนุษยธรรมที่เราจะต้องมีก่อน ซึ่งตรงนี้เราอาจจะสอนกันน้อยในประเทศนี้ เราไปสอนศาสนา ซึ่งบางทีเราก็ไม่รู้ว่าศาสนาเหล่านั้นช่วยให้เรามีมนุษยธรรมขึ้นหรือเปล่า ความดีในลักษณะที่เราต้องเห็นใจเพื่อนมนุษย์ เราไม่ค่อยพูดถึงอย่างชัดเจน บางทีเราไปใช้เกณฑ์ทางศีลธรรม แล้วเราก็ไปตัดสินคนโน้นผิด คนโน้นถูกอยู่ตลอด ในขณะที่ความเป็นมนุษยธรรมมันห้ามตัดสิน มันต้องมีความเห็นอกเห็นใจ มีความเข้าอกเข้าใจทุกคน โดยเฉพาะคนที่เขาสูญเสีย” รศ.ดร.ยุกติกล่าวทิ้งท้าย

ภาพโดย: DITSAPONG K.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook