สบท.สำรวจเน็ตไทยคุณภาพ 60-70 %
สบท. , สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เผยผลสำรวจบริการอินเทอร์เน็ต 3 เดือน พบบริการรวมอยู่ระดับ 60-70 % เตรียมเสนอกทช. ทำมาตรฐานกลางบริการอินเทอร์เน็ต
พ. ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เปิดเผยผลการสำรวจ โครงการสำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ต ปี 2552 โดยทำการศึกษาผ่านเว็บไซต์ www.speedtest.or.th และ เว็บไซต์พันธมิตรอื่นๆ เพื่อตรวจสอบคุณภาพการให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. - 30 พ.ย. 52 รวมระยะเวลา 99 วัน
จากการสำรวจมีผู้ใช้บริการเข้ามาทดสอบทั้งหมด 1,287,613 ครั้ง เฉลี่ยวันละ 13,006 ครั้ง แต่มีจำนวนมากที่ทำการทดสอบโดยไม่แจ้งความเร็วที่เปิดใช้บริการทำให้ไม่ สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ หรือข้อมูลที่ระบุกับความเร็วในการทดสอบแตกต่างกันเกินไปก็จะไม่นำมารวม เหลือข้อมูลที่ครบและนำมาวิเคราะห์ 618,049 ครั้ง และมีการแบ่งกลุ่มผู้ให้บริการเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1.ผู้ให้บริการรายใหญ่ 2. ผู้ให้บริการรายเล็ก (ไอเอสพี) และ 3. ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ
ผลสำรวจพบว่า คุณภาพการให้บริการอินเทอร์เน็ตโดย รวม อยู่ที่ระดับ 60-70 % แบ่งเป็น บมจ.ทีโอที 60 % บริษัท ทริปเปิ้ลที บรอดแบนด์ ให้บริการแม็กซ์เน็ต 70-80 % และบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ประมาณ 80 % แต่ยอมรับว่าการทดสอบอาจมีความคลาดเคลื่อนจากจำนวนผู้ใช้บริการ รวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น การไม่ทราบความเร็วการใช้บริการ, การวัดในเวลาที่อินเทอร์เน็ตช้า, การวัดขณะที่มีการดาวน์โหลดข้อมูลจำนวนมาก
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีการใช้บริการอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย อยู่ที่ 3-4 เมกะบิตต่อวินาที ผู้ให้บริการรายใหญ่ จะมีความเร็วในการดาวน์โหลดสูงและครอบคลุมพื้นที่กว้าง แต่ความเร็วในอัพโหลดถือว่าต่ำกว่าการดาวน์โหลดประมาณ 6-7 เท่า ขณะที่ผู้ให้บริการรายเล็ก จะมีความเร็วทั้ง 2 ที่ใกล้เคียงกัน ส่วนผู้ให้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือที่เข้าร่วมมีเพียง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น รายเดียว
นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สบท. กล่าวว่า สบท. จะนำข้อมูลทั้งหมดเข้าที่ประชุม และจะเสนอในการประชุมใหญ่ประจำปีของ สบท. ในวันที่ 22 ธ.ค. นี้ เพื่อกำหนดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เช่น ต้องการให้คุณภาพการดาวน์โหลดเพิ่มเป็น 80-90 % ของความเร็วที่ประกาศไว้ และต้องมีเสถียรภาพ หรือความเร็วในการอัพโหลด ควรเพิ่มเป็นอย่างน้อย 50 % ของการดาวน์โหลด เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันและการเรียนรู้มากขึ้น
อย่างไรก็ ตามต้องมีการหารือกันระหว่าง กทช. กับผู้ให้บริการและนักวิชาการ อีกครั้งว่า มาตรฐานกลางที่เป็นที่ยอมรับได้จากทุกฝ่ายควรจะอยู่ที่เท่าไร และ สบท. เองจะร่วมกับสมาคมฯ ทำการทดสอบความเร็วต่อไป เพื่อเป็นการเฝ้าระวังให้ผู้ให้บริการ เน้นพัฒนาคุณภาพของบริการมากขึ้น ไม่เพียงแต่เน้นด้านโปรโมชั่นทางการตลาดเพียงอย่างเดียว
ข้อเสนอ อีกประการที่จะพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นคือ การให้มีผู้ให้บริการรายเล็กเพิ่มมากขึ้น หรือส่งเสริมให้มีการติดตั้งชุมสายมากขึ้น เพราะในต่างประเทศกำหนดให้ชุมสายหนึ่งสามารถให้บริการได้ในรัศมี 4 กิโลเมตร แต่เมื่อประเทศไทยมีผู้ให้บริการน้อยราย มีชุมสายน้อย ก็มีทางเลือกน้อยตามไปด้วย
นอกจากนี้ จะมีการวางเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายที่ผู้ให้บริการรายอื่นๆ มากขึ้น จากปัจจุบันที่วางอยู่ประมาณ 10 เครื่องในการตรวจวัดความเร็ว และจะมีการรายงานผลทุกเดือน เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามการแข่งขันทางธุรกิจ รวมถึงจะทดสอบในระดับเชื่อมต่อไปต่างประเทศอีกด้วย เพราะปัจจุบันยังมีปัญหาคอขวดในการออกเว็บไซต์ต่างประเทศ
"ถ้ามี 3จี เมื่อไร จะรวบรวมผู้ให้บริการ 3จี มาวัดคุณภาพ ว่าใครให้บริการ 3จี ได้ดีที่สุด ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่กำลังดูอยู่" นายแพทย์ประวิทย์ กล่าว