สาวไทยในปอยเปต อ้างคนร้ายบังคับถ่ายเลือด 8 ถุง ที่แท้กุเรื่องเพราะอยากกลับไทย

สาวไทยในปอยเปต อ้างคนร้ายบังคับถ่ายเลือด 8 ถุง ที่แท้กุเรื่องเพราะอยากกลับไทย

สาวไทยในปอยเปต อ้างคนร้ายบังคับถ่ายเลือด 8 ถุง ที่แท้กุเรื่องเพราะอยากกลับไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลอกลวงจนเคยตัว! สาวไทยในปอยเปต อ้างคนร้ายบังคับถ่ายเลือด 8 ถุง สร้างตัวละครใหม่แต่งเรื่องเป็นฉากๆ ที่แท้อยากให้คนมาช่วยพากลับไทย 

จากกรณีปรากฏข่าวทางสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อโทรทัศน์ต่างๆ เมื่อวันที่ 9 มี.ค.65 เวลาประมาณ 17.00 น. หลังจากที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้ประสานงานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศกัมพูชา เข้าช่วยเหลือคนไทยที่ถูกบังคับใช้แรงงาน และสามารถพากลับมาประเทศไทยได้สำเร็จจำนวน 8 ราย หนึ่งในนั้นเป็นหญิงสาวที่อ้างว่า ตนได้ถูกกลุ่มคนร้ายชาวจีนในเมืองพระสีหนุ ประเทศกัมพูชา นำตัวไปบังคับถ่ายเลือดจำนวน 8 ถุง ทั้งยังถูกทำร้ายร่างกาย และถูกฉีดยาทำให้สลบ ก่อนได้รับการช่วยเหลือจนกลับสู่ประเทศไทยได้นั้น

กรณีดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชนและสื่อมวลชนเป็นอันมาก เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความทารุณโหดร้ายและสะเทือนขวัญ ในการนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศพดส.ตร. ให้ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว โดยประสานงานกับ พล.ต.อ.วรรณวีระ สม ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ประเทศกัมพูชา เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงตามกรณีดังกล่าวปรากฏ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ฯ จึงได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.เขมรินทร์ พิศมัย ผกก.ตม.จว.ตราด/หัวหน้าชุดเคลื่อนที่เร็ว ศพดส.ตร. สืบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวให้ปรากฏโดยเร็ว

หลังจากที่ได้ดำเนินการซักถามและรวบรวมพยานหลักฐานประกอบคำให้การแล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้เสียหายในกรณีนี้ คือ น.ส.อารียา อายุ 25 ปี รับสารภาพว่า ตนกับแฟนได้เดินทางไปทำงานที่เมือง ปอยเปต ประเทศกัมพูชาตั้งแต่ประมาณต้นปี 2564 โดยทำงานหลอกคนไทยให้ลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง ก่อนที่ตนจะแยกกับแฟน ย้ายไปทำงานอีกจุดหนึ่งในเมืองปอยเปต ด้วยความเป็นห่วงแฟน ช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตนจึงได้แจ้งขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้าไปช่วยแฟนของตนจากที่ทำงานจุดเดิม เพื่อกลับประเทศไทย หลังจากทราบว่าแฟนของตนได้รับความช่วยเหลือแล้ว ตนจึงตั้งใจที่จะกลับประเทศไทย โดยตนกลัวว่าจะไม่ได้รับการช่วยเหลือในทันที ตนจึงได้สร้างเรื่องดังกล่าวขึ้น โดยการสร้างตัวละครหญิงไทยชื่อ เนม ขึ้นพร้อมกับสร้างบัญชีเฟซบุ๊กให้ตัวละครดังกล่าว แล้วทำการแชทไปคุยกับแฟนตนเองโดยใช้บัญชีดังกล่าว หญิงไทยที่ชื่อเนมนี้เป็นคนไทยที่ทำงานที่ร้านอาหารไทยในเมืองพระสีหนุ และได้รับการขอความช่วยเหลือจาก น.ส.อารียา อยากให้แฟนของตนช่วยประสานตำรวจให้เข้าช่วยเหลือตน

ต่อมา น.ส.อารียา ก็ได้สร้างเรื่องต่อว่า ตนถูกย้ายไปหลายๆ ที่ และถูกกลุ่มคนร้ายชาวจีนถ่ายเลือด ทำร้ายร่างกาย ก่อนที่จะได้หญิงไทยที่ชื่อเนมจะเข้าช่วยเหลือ และนำตัวมาส่งที่ชายแดนปอยเปตแล้ว อยากให้ตำรวจมารับตน ซึ่งแท้จริงแล้ว ระหว่างที่สร้างเรื่องนั้น น.ส.อารียา ยังคงทำงานหลอกลวงคนไทยอยู่ที่เมืองปอยเปต ก่อนจะเดินทางมาที่ด่านอรัญประเทศเพื่อขอความช่วยเหลือเพื่อกลับประเทศไทย

โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดฐาน รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท โดยจะนำตัวไปดำเนินคดียัง สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ต่อไป

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า ในการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกบังคับใช้แรงงานในประเทศกัมพูชานั้น ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของกัมพูชาจนสามารถช่วยเหลือคนไทยได้กว่า 700 คน ในครั้งนี้กลับมีคนไทยสร้างเรื่องราวที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ แต่ด้วยการประสานความร่วมมืออันดีระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติไทยกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของกัมพูชา ทำให้การตรวจสอบข้อมูลและพยานหลักฐานต่างๆ เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ต่อไปจะกำชับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการการตรวจสอบข้อมูลและการคัดแยกเหยื่อให้มีมาตรฐานและประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น

ในการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือพี่น้องสื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ได้ทราบถึงการดำเนินการและการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการหลอกไปบังคับใช้แรงงานดังกล่าว หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลมายัง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยตรง ช่องทางสายด่วน 1599 หรือ www.humantrafficking.police.go.th หรือ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/TICAC2016 หรือ LineOA: @HUMANTRAFFICKTH หรือ TWITTER: @safe_dek หรือช่องทางใหม่ล่าสุดคือ การสแกน QRCODE เพื่อกรอกแบบฟอร์มในการแจ้งเหตุและเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวเพื่อแจ้งเบาะแสในการปราบปรามการกระทำผิดต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook