เจาะชีวิต "คุณหญิงสุดารัตน์" 30 ปีบนเส้นทางการเมือง กับฝันสุดท้ายที่อยากเห็น
เจาะชีวิต 30 ปีบนเส้นทางการเมืองของ "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" กับความฝันสุดท้ายที่อยากเห็น
22 มีนาคม 2565 ครบรอบ 30 ปีเส้นทางการของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย หญิงแกร่งผู้โลดแล่นในการเมืองไทยมาตั้งแต่ปี 2535 ในฐานะ ส.ส.กทม. เขต 12 (บางเขน, หลักสี่, ดอนเมือง, สายไหม, มีนบุรี, หนองจอก, และคลองสามวา) และสมัยที่สองในปีเดียวกัน เขต 7 (ลาดพร้าว, วังทองหลาง, บางกะปิ, บึงกุ่ม, คันนายาว, และสะพานสูง) พรรคพลังธรรม จนมาเป็นเลขาธิการพรรค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้ากลุ่มพลังไทย ส่งผู้สมัคร ส.ก. จนได้รับคะแนนเป็นอันดับหนึ่งของกรุงเทพมหานคร
ก่อนที่จะมาร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยร่วมกับทักษิณ ชินวัตร ในปี 2541 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามลำดับ ในการเลือกตั้งปี 2562 ถูกเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคเพื่อไทย และลาออกมาตั้งพรรคไทยสร้างไทยในเวลาต่อมา
คุณหญิงสุดารัตน์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว Sanook News ถึงประสบการณ์ทางการเมืองตลอด 3 ทศวรรษ โดยช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ ทีมข่าวถามว่า ถ้าตัวเองในปี 2535 มาเห็นคุณหญิงสุดารัตน์ในตอนนี้จะพูดว่าอะไร? คุณหญิงสุดารัตน์ ตอบด้วยอารมณ์ขันว่า “ทำไมอีนี่มันทนนักหนา?...บางทีก็คิดนะ ฉันจะทำไปทำไม ฉันเหนื่อยมากเลยนะ ฉันเหนื่อยมากเลยนะ นอนวันละ 3-4 ชั่วโมง พ่อพูดคำนึง ลูกเอ้ย อย่าเอาทุกข์มาแบกไว้มาก ประเทศไม่ใช่ของเราคนเดียว ทั้งที่พ่อเป็นคนรักประชาชนมาก แต่ก็เป็นห่วง”
ซึ่งจุดเริ่มต้นทางการเมืองก็ได้พ่อเป็นแรงบันดาลใจ "สมพล เกยุราพันธุ์" อดีต ส.ส.นครราชสีมา ตอนนั้นต้องช่วยพ่อทำงานการเมือง ลงพื้นที่ ติดป้ายหาเสียง และตามไปฟังปราศรัยตลอด หลายครั้งที่ไปลงพื้นที่ ชาวบ้านจะล้มวัวล้มควายมาเลี้ยงต้อนรับผู้แทนราษฎร จำได้ขึ้นใจเพราะวันนั้นชาวบ้านทำซกเล็ก ลาบเลือดแดงๆ มาเลี้ยง เป็นเด็กก็ไม่กล้ากิน แต่พ่อสั่งว่า ไม่ได้ ต้องกิน เพราะว่าเขาอุตส่าห์ล้มวัวล้มควายมาเลี้ยง ชาวบ้านกินอะไรก็ต้องกินอย่างนั้น โดนฝึกอย่างนี้มาตั้งแต่เด็ก ขณะเดียวกันก็ได้เห็นว่าวันที่พ่อไปหาเสียง ถนนหนทางไม่ดี ไม่มีน้ำหรือไฟฟ้า แต่หลังจากที่พ่อได้เป็น ส.ส. พอกลับไปอีกครั้ง หมู่บ้านนั้นก็มีไฟฟ้า มีบ่อน้ำบาดาล มีโรงเรียน สมกับที่พ่อตั้งใจทำงาน จึงเห็นพ่อเป็นฮีโร่มาตลอดตั้งแต่นั้น
เจ้าแม่ กทม. ถึง 30 บาทรักษาทุกโรค ผลงานที่ภาคภูมิใจ
คุณหญิงสุดารัตน์ เปิดเผยว่า ตอนนั้นรู้มาตลอดว่าพ่อต้องการให้เป็นนักการเมือง พอเรียนจบปริญญาโท และแต่งงานแล้ว ก็ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครวิศวกรการเมืองกับพรรคพลังธรรมตามคำชวนของพ่อ และลงสมัคร ส.ส. ครั้งแรกในปี 2535 ใน กทม. เขต 12 ที่มีขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของ กทม. ที่ทำงานการเมืองเพราะต้องการให้พ่อภูมิใจและยึดคำสอนพ่อเสมอว่า “เราเป็นนักการเมือง เราคือขี้ข้าประชาชน คือผู้รับใช้ประชาชน เราจะต้องทำงาน เอางานแลกคะแนนเสียง ต้องไม่ซื้อเสียง” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวถึงคำสอนของคุณพ่อสมพล
และด้วยคำสอนนี้และความตั้งใจในการทำงาน แม้จะถูกเปลี่ยนเขตบ่อย แต่ก็ได้รับคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งใน กทม. หลายครั้ง จนได้รับความไว้วางใจจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ให้รับผิดชอบพื้นที่ กทม. เริ่มตั้งแต่ดูการจราจรให้มีระบบ ทุกคนจะเห็นภาพสุดารัตน์นั่งรถมอเตอร์ไซค์ไปพร้อมตำรวจผู้ใหญ่มาแต่เช้ามืด ให้มีตำรวจจราจรออกมาทำงาน, ทำแผนแม่บทรถไฟฟ้า (Mass Transit) 10 สาย ทำให้เกิดรถไฟฟ้า BTS, และแผนแม่บทโครงข่ายทางด่วน เรียกว่าไม่เคยทำเรื่องง่าย แต่ผิดหวังตรงที่แบบ Park and Ride ยังทำไม่เสร็จโดนยุบสภาก่อน ซึ่งเป็นแบบที่ต้องการสร้างศูนย์พักผ่อนของครอบครัวตรงจุดที่คนจะเอารถส่วนตัวมาจอดเพื่อขึ้นรถไฟฟ้า หลังจากนั้นก็รับผิดชอบงานที่มีความท้าทายในกรุงเทพฯ มาโดยตลอด เช่น น้ำท่วมกรุงเทพฯ, โครงการสะพานวงแหวนอุตสาหกรรม ฯลฯ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "เจ้าแม่ กทม." และ "สวยแต่เจ็บ" และสร้างกลุ่มพลังไทยส่งผู้สมัคร ส.ก. และ ส.ข. ชนะได้สองร้อยกว่าที่นั่ง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับคลอดลูกชายคนที่สอง ใช้โรงพยาบาลเป็นศูนย์บัญชาการเลือกตั้ง
ตอนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จากแนวคิดของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ คุณหญิงสุดารัตน์ก็เข้ามาทำจนนโยบายนี้เกิดขึ้นได้จริง ทำโครงการอาหารปลอดภัยไร้สารบอแรกซ์ และสร้างค่านิยมการออกกำลังกายของคนไทย เช่น แอโรบิกลงกินเนสส์บุ๊ค และปรับการกินอาหารผักครึ่งนึง อย่างอื่นครึ่งนึง เป็นต้น แถมยังต้องเจอกับการระบาดของโรคซาร์ส, ไข้หวัดนก 2 รอบ ซึ่งตอนนั้นก็สามารถควบคุมได้อยู่ภายใน 2 เดือน, และภัยพิบัติสึนามิ ซึ่งถือว่ามีแต่งานยากและท้าทาย แต่ก็ทำให้สำเร็จมาโดยตลอด และในรัฐบาลไทยรักไทยสมัยต่อมา ได้รับหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่วางแผนทำนโยบายแก้จนให้เกษตรกร ปรับโครงสร้างการเกษตร ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพ แปรรูป หาตลาด ทำเกษตรมีเงินทุน ปลูกเองขายเอง ไม่ต้องพึ่งทุนนอกระบบ เป็นเกษตรกรที่ร่ำรวย แต่ถูกรัฐประหารก่อน จึงทำยังไม่สำเร็จ และตั้งใจจะเอาแนวความคิดนี้มาทำนโยบายพรรคไทยสร้างไทยเพื่อสานต่อให้สำเร็จ
กุศโลบายที่ใช้ในทางการเมืองหลายอย่างกลายเป็นไวรัล เช่น ภาพที่ไปกินไก่ที่สนามหลวงกับนายกฯ ทักษิณ เพื่อสร้างความมั่นใจให้คนไทยบริโภคไก่สุกในช่วงไข้หวัดนก คุณหญิงสุดารัตน์เล่าว่ายังจำความรู้สึกตอนกินได้ดี เพราะตอนนั้นงานยุ่งทั้งเช้า ไม่ได้กินข้าว ถึงเวลาแถลงข่าวก็เลยกินจริงจังด้วยความหิว เป็นไก่เคเอฟซี รสออริจินัล ภาพที่ออกมาจึงกลายมาเป็นมีมที่ถูกใช้ในโลกออนไลน์ถึงปัจจุบัน หรืออย่างเช่นการเต้นแอโรบิกที่เยอะที่สุดในโลกที่สนามหลวง ลงในกินเนสส์บุ๊ก เวิลด์ เรคคอร์ด เพราะต้องการกระตุ้นให้คนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพ เพราะตอนนั้นคนยังไม่ตื่นตัว สนใจแต่ทำมาหากิน สุดท้ายไวรัลนี้ก็ประสบความสำเร็จ สร้างกระแสรักสุขภาพทั่วประเทศ ทั้งเต้นแอโรบิกและรำกระบี่กระบอง เป็นต้น
ประสบการณ์ที่เจ็บปวดในชีวิตการเมืองของหญิงหน่อย
คุณหญิงสุดารัตน์เข้ามาทำงานในช่วงพฤษภาทมิฬ ต่อต้านคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) แม้จะไม่เคยบอกว่านักการเมืองดี และเข้าไปร่วมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง มีการจัดตั้ง ป.ป.ช. กกต. และองค์กรอิสระ จนได้รัฐธรรมนูญของประชาชนในปี 2540 ที่ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น แต่อย่างน้อยระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยก็ตรวจสอบได้ ไม่เหมือนกับเผด็จการตอนนี้ที่พรรคการเมืองอ่อนแอ มีการซื้อตัวนักการเมือง มีงูเห่า ใช้อำนาจองค์กรอิสระมาเป็นเครื่องมือทำลายคู่แข่งทางการเมือง และต้องยุบสภา ยิ่งกว่าสมัยที่เข้ามาทำงานครั้งแรกปี 2535 ไล่ รสช. เพราะมี ส.ว. 250 คนมาเลือกนายกฯ แทนประชาชน และมียุทธศาสตร์ชาติมาครอบประเทศไว้อีก ทั้งที่โลกผันผวน เราต้องปรับตัวให้ทัน แต่กลับออกแบบประเทศตามยุทธศาสตร์ที่ตายตัว คงไม่มีใครคิดและทำแบบนี้ได้นอกจากลุงตู่คนเดียว
ดังนั้นสิ่งที่คุณหญิงสุดารัตน์มองว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตการเมือง คือ การสร้างให้ประชาชนกลับมาศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย เพราะการรัฐประหารเข้ามาขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นระยะๆ เหมือนงูตกบันได โดยเฉพาะการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ที่เป็นตัวขัดขวางความเจริญของประเทศมาจนถึงทุกวันนี้
“ชีวิตแม่ 30 ปีทางการเมือง แม่ไม่เคยเห็นยามไหนที่ประชาชนยากลำบาก ทุกข์ยากเท่ากับในครั้งนี้เลย” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวย้ำ
คุณหญิงสุดารัตน์ เปิดใจต่อว่า ที่เดินออกจากบ้านเดิมก็มาด้วยความชอกช้ำใจ แต่จะไม่พูดหรอกว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะยังรักองค์กร แม้ไม่ได้อยู่องค์กรนี้แต่ก็ยังปรารถนาดีอยู่ และตอนนั้นก็ตัดสินใจว่าหยุดงานทางการเมืองแล้ว แต่มีอยู่วันหนึ่งไปพักผ่อนที่ภูเก็ตกับครอบครัว และได้นั่งคุยกับลูกๆ ทั้งสามคน ซึ่งปกติพวกเขาจะยุให้เราหยุดทำงานการเมืองอยู่ตลอด โดยเฉพาะช่วงหลังจากเลือกตั้งปี 2562 เขารับรู้ปัญหาของเราบ้าง ก็เหมือนสงสารว่าแม่โดนอะไรมาเลยอยากให้ออกจากวงการ
แต่พอถึงวันนั้นเขากลับบอกว่า “ตอนนี้ถ้าแม่จะทำพรรคเอง ให้มันเป็นพรรคของประชาชนจริงๆ ลูกจะช่วยกันเต็มที่ไม่ต้องห่วง แต่ถ้าแม่ไม่ทำ แม่เหนื่อยแล้ว แม่ไม่อยากทำแล้ว เราไปอยู่เมืองนอกกัน” เพราะพวกเขาก็เหมือนกันเด็กทั่วไป เหมือนกับคนรุ่นใหม่ทั่วไปที่มองไม่เห็นอนาคตของประเทศ แต่ลูกฝากความหวังกับแม่ คุณหญิงสุดารัตน์จึงตัดสินใจทำภารกิจการเมืองสุดท้ายในชีวิตคือการสร้างพรรคไทยสร้างไทยให้สำเร็จ เพื่อเป็นทางออกตรงกลางของประเทศ ยอมรับว่าไม่ได้คิดถึงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว แต่ขอเป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมคนรุ่นใหม่ คนรุ่นกลาง และคนรุ่นใหญ่ ที่มีความสามารถเข้ามาสร้างประเทศไทยร่วมกัน เพื่อสร้างโอกาสให้คนชั้นกลางจนถึงคนตัวเล็กฐานราก ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน มีอาชีพ สร้างรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีทัดเทียม หายจน หมดหนี้ ยืนได้บนขาตัวเอง ไม่ใช่รอการแจกเงินหรือความช่วยเหลือแบบประชานิยมหรือประชารัฐ
ที่ผ่านมาเป็นมาทุกอย่างแล้ว ฝันสุดท้าย คือ อยากสร้างพรรคการเมืองที่ดี เป็นเครื่องมือทางการเมืองทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี
อัลบั้มภาพ 16 ภาพ